รอง ผบ.ตร. กล่าว ตำรวจไม่รับฟ้องคดีถอนหมุดคณะราษฏร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.04.17
กรุงเทพฯ
TH-new-plaque-1000 นายคมเพชร ศรีมังคละ ประชาชนผู้สนใจติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง กำลังถ่ายรูปหมุดใหม่ที่นำมาแทนที่หมุดคณะราษฎรเดิม วันที่ 17 เมษายน 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (17 เมษายน 2560) นี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามหณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีทายาทคณะราษฎร แจ้งความกับเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต เรื่องการสูญหายหมุดคณะราษฎรว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการให้ได้ก็ต่อเมื่อผู้ร้องทุกข์เป็นเจ้าของทรัพย์ และยังเตือนว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐาน ไม่บังควรที่ใครจะเข้าไปอ้างสิทธิในทรัพย์สินใดๆ

“กฎหมายบอกว่า คุณจะมาร้องทุกข์ได้ คุณต้องเป็นผู้เสียหาย คือคุณต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ ถ้ายืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์มรดกคุณ ตำรวจจะดำเนินการให้ แต่ถ้าไม่ใช่ทรัพย์มรดกจะไปดำเนินการยังไงล่ะ” พล.ต.อ.ศรีวราห์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

“ต้องดูด้วยนะว่าคุณเป็นเจ้าทรัพย์ บริเวณนั้นเป็นบริเวณอะไร ต้องห้ามหรือเปล่า คุณไปวางไว้นั่น คุณเที่ยวเอาไปรุ่มร่ามแถวนั้น ไม่ทราบว่าจะมีความผิดด้วยหรือไม่” พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวเตือน

หมุดคณะราษฎรทำจากทองเหลืองถูกฝังบนลานพระราชวังดุสิต เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยหมุดได้ถูกปักลงในบริเวณดังกล่าว เมื่อปี 2479 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎรได้อ่านประกาศคณะฯ ฉบับที่ 1 ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ จุดนั้น โดยหมุดดังกล่าวระบุข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

มีผู้พบว่าหมุดคณะราษฏร ถูกถอนออกไปเมื่อวันที่ 14 เมษายนนี้ แต่เชื่อว่ามีการถอนหมุดออกไปในช่วงวันที่ 3-7 เมษายน นี้ จากนั้น มีการปักหมุด “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” แทนที่ ซึ่งหมุดใหม่ระบุข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” และ “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดแสดงตัวว่า เป็นผู้กระทำการรื้อถอนและปักหมุดใหม่

หมุดใหม่ที่นำมาแทนที่หมุดคณะราษฎรเดิม ภาพถ่ายวันที่ 17 เมษายน 2560 (เบนาร์นิวส์)

ในก่อนหน้านี้ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า กรมศิลปากรไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และหมุดไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมศิลปากร ด้าน นายบันลือ สุขใส ผู้อำนวยการเขตดุสิต ระบุเช่นกันว่าเขตดุสิตไม่ได้เป็นผู้กระทำการเปลี่ยนหมุด

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายพริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ อายุ 30 ปี หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในคณะราษฎร และคณะนิสิต-นักศึกษาจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ. มอ ระนา รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป

ต่อกรณีนี้ นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการรัฐศาสตร์ ผู้เริ่มแคมเปญ “เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร” ทาง change.orgเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า หมุดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องรับแจ้งความตามหาหมุด

“หมุดมันเป็นของสาธารณะ เป็นของแผ่นดิน เพราะว่าตามกฎหมายอาญามาตรา 335 และ 360 ถือว่าเป็นอาญาแผ่นดิน จะรู้ตัวคนทำความผิดหรือไม่ก็ตาม สามารถแจ้งความได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (8) และเจ้าหน้าที่ถ้าไม่รับแจ้งความจะมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157” นายชำนาญกล่าวแย้งเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่รับแจ้งความ แต่เพียงทำแค่ลงบันทึกประจำวัน

หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่า “หมุดคณะราษฎร” ถูกรื้อถอนออกไป ได้เกิดกระแสเรียกร้องในโลกออนไลน์ ทั้งกลุ่มที่ต้องการให้มีนำหมุดดังกล่าวมาติดตั้งในที่เดิม เพราะเชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมือง และมีกลุ่มที่ต้องการให้ทำลายหมุดทิ้ง เนื่องจากเชื่อว่าการกระทำของคณะราษฎร เป็นความอัปยศของประวัติศาสตร์การเมือง

“เหตุผลที่เริ่มการณรงค์ ทวงคืนหมุด เพราะเชื่อว่าหมุดคณะราษฎรถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ต่างประเทศเขาเห็นข่าว เขาคงตกใจว่าเราจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์กันดื้อๆ แบบนี้หรือ กรณีที่เกิดขึ้นมีทั้งบวกทั้งลบ ลบแสดงให้เห็นว่าฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยคงไม่ประณีประนอม มองไปในอนาคตค่อนข้างจะเห็นความรุนแรง แต่ว่าในแง่บวก ทำให้คนกลับมาสนใจเรื่องราวของ 2475 เรื่องการเปลี่ยนแปลง” นายชำนาญระบุ

นายชำนาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรณรงค์ “เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร” บนเว็บไซต์ change.org เพื่อรณรงค์ให้เกิดกระแสสังคม โดยหลังจากรวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อหมุดเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีความต้องการ ที่จะนำรายชื่อไปยื่นต่อองค์กรใด เพราะต้องการรวบรวมเพื่อแสดงให้เห็นว่า มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอนหมุดจำนวนมาก และเรียกร้องให้ผู้ที่นำหมุดดังกล่าวไป นำกลับมาคืนที่เดิมเท่านั้น  โดยปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อร่วมแคมเปญนี้แล้ว 2,500 รายชื่อ

ขณะเดียวกันเครือข่ายคนออนไลน์รับใช้แผ่นดิน (คคร.) ได้ตั้งแคมเปญ “ร่วมกันต่อต้าน หมุดกบฏทรราชย์” บนเว็บไซต์ change.org เช่นกัน เพื่อคัดค้านการนำหมุดคณะราษฎรกลับมา โดยระบุเหตุผลการรณรงค์ว่า “ร่วมกันเปลี่ยน หมุดทรราชย์ สัญลักษณ์อัปลักษณ์ จากกบฏที่ยึดอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ ด้วยการปกป้องหมุดอันใหม่” โดยปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้แล้วกว่า 600 รายชื่อ

นายสุทิน วรรณบวร นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการมีหมุดคณะราษฎร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เริ่มโดยคณะราษฎรทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจ ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะไม่ให้มีหมุดคณะราษฏร

“หมุดคณะราษฎรนี้ไม่ควรมีในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น เพราะว่ามันเป็นการเริ่มต้นของความผิดพลาด ไม่ได้เป็นการอภิวัฒน์ประเทศ แต่เป็นการปล้นพระราชอำนาจสู่ทรราชย์... หลังคณะราษฎรยึดอำนาจ มีการแก่งแย่งอำนาจกันเอง เกิดกบฏ 7 ครั้ง เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี 6 คน และ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ครองอำนาจ 14 ปี มีนักโทษการเมืองตายนับพันคนที่เกาะตะรุเตา มีคนที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างเมืองเพชรบูรณ์ ในสมัยนั้นตายอีกนับหมื่นคน” นายสุทินกล่าว

ทางด้าน นายคมเพชร ศรีมังคละ ประชาชนผู้สนใจติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองที่ได้ลงพื้นที่ ได้ให้ทัศนะต่อระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงว่า ควรมีความสมดุลในหลายๆ ด้าน

“ในความเห็นของผม ประชาธิปไตย ต้องมีความยุติธรรม ความสมดุล ให้แก่ทุกฝ่าย มีความถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ความขัดแย้งน้อยลง คล้ายแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงเข้าถึงจิตใจของคน” นายคมเพชร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง