ครบรอบปีวิกฤติโรฮิงญา: การให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อค้ามนุษย์ยังไม่ดีเพียงพอ
2016.06.09
กรุงเทพฯ

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานสัมมนาเมื่อวันพุธ (8 มิถุนายน 2559) นี้ ว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศให้ได้ดีเพียงพอ พร้อมทั้งได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทยยุติ “การกักตัวโดยพลการและอย่างไม่มีกำหนด” และยกเลิกนโยบาย “ผลักดันเรือออกจากชายฝั่ง”
“ในวันนี้ ประเทศไทยต้องยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและเหยื่อการค้ามนุษย์โดยพลการและไม่มีกำหนด และยกเลิกนโยบายผลักดันเรือออกนอกชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ลี้ภัยและเหยื่อการค้ามนุษย์เผชิญกับความเสี่ยงร้ายแรง” ข้อความท่อนหนึ่งของแถลงการณ์ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งได้ร่วมกันกล่าวไว้
เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของทางกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวในงานสัมมนา เมื่อเบนาร์นิวส์ติดต่อ เพื่อขอความเห็นทางโทรศัพท์
ต่อประเด็นนี้ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า รัฐบาลกำลังประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไข และทำความเข้าใจเรื่องนี้ในอนาคตอันใกล้
"รัฐบาลเข้าใจปัญหานี้ดี จะได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และออกเพรสรีลีส[แถลงข่าว]เรื่องนี้ แต่ขอเวลาประชุมก่อน" พลตรีวีรชนกล่าวทางโทรศัพท์
ในเดือนพฤษภาคม 2558 ได้มีการค้นพบศพกว่า 30 ศพ ที่บริเวณเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำพามา โดยมีจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย จนนำไปสู่การเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีทั้งนายหน้าต่างชาติ เช่น ชาวโรฮิงญา พม่า รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่นไทยร่วมด้วย
ในปัจจุบัน ในประเทศไทย ยังคงมีชาวโรฮิงญา ประมาณ 400 คนเศษ ยังคงถูกกักตัวอยู่ตามศูนย์กักกันคนต่างด้าวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตามศูนย์พักพิงของรัฐ ส่วนในมาเลเซีย มีประมาณสามพันคน และมีจำนวนอีกไม่มากนักในอินโดนีเซีย
นักสิทธิมนุษยชน แนะแนวทางแก้ไขปัญหา
เมื่อวันพุธนี้ ที่โรงแรมรอยัลเบญจา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่ายประชากรข้ามชาติ องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ และอื่นๆ ได้ร่วมจัดเสวนาในหัวข้อ “หนึ่งปีหลังวิกฤติผู้อพยพชาวโรฮิงญา การอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน” ซึ่งมีนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และทนายความเป็นผู้เสวนา โดยมี ชาวโรฮิงญาอพยพ ผู้สนใจ สื่อมวลชนเข้าร่วมฟังเสวนาครั้งนี้กว่า 100 คน
นายปภพ เสียมหาญ ทนายความจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและพัฒนา (คนที่สองจากซ้ายมือ) และนางสาวพุทธณี กางกั้น จากองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (คนที่สองจากขวามือ) ร่วมสัมมนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 (เบนาร์นิวส์)
นายศิววงศ์ สุขทวี เจ้าหน้าที่เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและจัดการปัญหา กลับเป็นผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์เอง
“ในแง่หนึ่ง เราก็รู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงถูกตั้งข้อหา แต่คำถามก็คือ มีการสอบสวนการดำเนินงานของหน่วยงานนี้แล้วหรือยัง ความบกพร่องที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตใช้อำนาจโดยมิชอบได้ ในแง่หนึ่ง เป็นความรับผิดชอบของตัวเจ้าหน้าที่เอง แต่อีกแง่หนึ่งที่เราควรตั้งคำถามว่า นโยบายแบบไหน การทำงานแบบไหน หน่วยงานแบบไหนที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจแบบนั้นได้” นายศิววงศ์กล่าวต่อผู้ร่วมสัมมนา
จำแนกคดี'เข้าเมือง'ผิดประเภท
ด้านนายปภพ เสียมหาญ ทนายความจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีกับนายหน้าค้ามนุษย์กลับไม่มีความจริงจัง โดยได้ยกตัวอย่าง 7 คดีค้ามนุษย์ ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ในจังหวัดระนอง ซึ่งศาลยกฟ้องนายหน้า แต่กลับดำเนินคดีเข้าเมืองผิดกฎหมายกับชาวโรฮิงญา
“ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขอเรียกว่าขบวนการนายหน้า ขบวนการนายหน้ามีการกระทำที่ว่าเป็นการค้ามนุษย์อย่างที่ได้กล่าวมา แต่จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการทำงานของพนักงานอัยการ ทำให้ศาลพิพากษาใน 7 คดี ยกฟ้องในข้อหาการค้ามนุษย์เกือบทั้งหมด แต่มีการดำเนินคดีข้อหาในการนำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นโทษสถานเบา” นายปภพกล่าว
สำหรับการช่วยเหลือแก่ผู้ย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ เพื่อให้มีโอกาสไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามนั้น นางสาวพุทธณี กางกั้น จากองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ได้เสนอให้รัฐบาลไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพิ่มทางเลือกให้กับผู้อพยพชาวโรฮิงญาบางราย ที่ไม่ต้องการถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม เนื่องจากเหตุผลทางครอบครัว
“จริงๆ แล้วโรฮิงญาหลายคนเขาไม่ได้อยากไป(ประเทศที่สาม) เพราะว่าหลายคนเขามีญาติอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย หลายคนเขาอาจรู้สึกว่าเขาอยากอยู่แถวนี้ได้รึเปล่า เพราะฉะนั้น ก็เป็นข้อเสนออีกอันที่ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ควรที่จะพิจารณาในเรื่อง จะมีมาตรการอย่างไรกับผู้อพยพที่เขาไม่ประสงค์ที่จะไป ซึ่ง UNHCR ก็ไม่สามารถส่งเขาไปได้” นางสาวพุทธณีกล่าว
ชาวโรฮิงญาอพยพที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ระบุชื่อตนเองว่าชื่ออาลี ซึ่งได้เข้าฟังการสัมมนา ได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ของพี่น้องชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุยชนของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อยู่ในสภาพย่ำแย่เป็นอย่างยิ่ง
“ต้องแก้ปัญหาที่พม่าก่อน เพราะว่าอองซานซูจีได้บริหารประเทศ [สถานการณ์]เลวร้ายสุดๆ” นายอาลีกล่าว
“พี่น้องยากจน ไปขายโรตีข้างนอก ตำรวจจับ ทั้งที่มีใบแรงงานแล้วยังโดนจับ” นายอาลี กล่าวเพิ่มเติมถึงสภาพการณ์ของชาวโรฮิงญาที่อยู่ในไทยต้องเผชิญ
นายปภพ เสียมหาญ ทนายความจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและพัฒนา ยังได้เสนอแนะในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในเวทีเสวนาครั้งนี้ ว่า 1. ในการขึ้นศาลของชาวโรฮิงญา รัฐบาลจำเป็นต้องจัดล่ามแปลภาษาที่เหมาะสมให้ เพื่อให้การพิจารณาเป็นธรรมกับชาวโรฮิงญามากที่สุด 2. รัฐบาลควรจัดการระบบคุ้มครองพยานให้ดีที่สุด ทั้งก่อนและหลังการพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่พยาน ในการให้ข้อมูลเพื่อดำเนินกระบวนยุติธรรม และ 3. รัฐบาลไทย ควรปฎิบัติต่อชาวโรฮิงญาในฐานะที่เขาเป็นผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ