เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มชาวโรฮิงญา 31 คน ที่สงขลา

มารียัม อัฮหมัด
2019.08.22
ปัตตานี
190822-TH-rohingya-songkhla-800.jpg เจ้าหน้าที่ปราบปรามการค้ามนุษย์ ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ที่ถูกนำมาพักไว้ในชายป่า ในพื้นที่หมู่ 7 ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา วันที่ 22 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่ปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาวโรฮิงญา 31 คน ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย 3 คน ซึ่งในเบื้องต้น คาดว่าถูกขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ นำมาพักไว้ในชายป่าบ่อลูกรังร้าง พื้นที่หมู่ 7 ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ก่อนส่งต่อมาเลเซีย โดยในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำทั้งหมดไปยังที่พักพิงชั่วคราว ในค่ายเสนาณรงค์ ในอำเภอหาดใหญ่

เมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ เจ้าหน้าที่ชุดศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมกับตำรวจตระเวนชายแดนกองร้อย ตชด.437 เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ได้เข้าช่วยเหลือกลุ่มชาวโรฮิงญา ทั้ง 31 คน แยกเป็นเพศชาย 23 คน และเพศหญิง 8 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3 คน ซึ่งจากการสอบสวนในเบื้องต้นทราบว่า ได้ถูกขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติชาวเมียนมาและคนไทย ลักลอบพาเข้ามาทำงานอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ได้ 2 เดือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ก่อนที่จะถูกนำมาพักไว้ในชายป่าบ่อลูกรังร้าง อยู่ลึกเข้าไปจากถนนสายรัตภูมิ-ควนเนียง ประมาณ 200 เมตร เพื่อรอส่งต่อไปยังมาเลเซีย

พ.ต.อ.ณัฎฐภาคิน ขวัญชัยพฤกษ์ รอง ผบก.ตม.6. กล่าวว่า ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวโรฮิงญาทั้งหมด ไปให้อาหาร และให้ทางแพทย์ตรวจร่างกายตามหลักสิทธิมนุษยชนก่อน จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงจะคัดแยกผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กว่ามีกี่คน จึงค่อยทำการซักถามต่อไปว่าเดินทางมากันอย่างไร ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวชาวโรฮิงญาทั้งหมด ไปดูแลยังศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว ภายในค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ เพื่อรอสอบสวนที่มาที่ไป และขยายผลต่อไป

“คงต้องดูเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนว่า เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร อดข้าวอดน้ำมากี่วัน ถูกทรมานมาหรือเปล่า คงจะต้องดูแลตามหลักมนุษยชนเบื้องต้นไปก่อน” พ.ต.อ.ณัฎฐภาคิน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดศูนย์พิทักษ์เด็กฯ กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาชุดนี้ ถูกขนมากับรถกระบะ 2 คัน เมื่อคืนวันพุธ ซึ่งผู้นำพาใช้รถปิดตู้ทึบเหมือนกับรถขนสินค้า นั่งยัดเยียดกันมาในรถ แล้วถูกนำมาพักรวมกันไว้บริเวณจุดเกิดเหตุดังกล่าว ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เพื่อรอให้นายหน้ามารับต่อเพื่อเดินทางข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย โดยในระหว่างการเดินทางทุกคนแทบไม่ได้กินอะไรมา 6 วันเต็ม

“หากจะซักอย่างเดียวคงไม่ดี ต้องดูแลสภาพร่างกายและจิตใจเขาเป็นลำดับแรกก่อนว่าเขาพร้อมที่จะตอบคำถามหรือยัง ตอนนี้ ยังตอบไม่ได้ชัดว่า เข้าข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติหรือเปล่า เจ้าหน้าที่กำลังหาข้อมูลอยู่” พ.ต.อ.ณัฎฐภาคิน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในเรื่องนี้ นางสาวพุทธณี กางกั้น เจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์การลักลอบพาคนเข้าเมือง หรือการค้ามนุษย์ ได้ปรากฏบ่อยครั้งขึ้นหลังจากที่มีกลุ่มชาวโรฮิงญามาเกยเกาะราวี เมื่อเดือนมิถุนายนนี้

“ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ในเมียนมา ไม่ได้ดีขึ้นในแง่การปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ การลักลอบนำพา หรือการค้ามนุษย์ยังมีอยู่ พวกเขามาเองไม่ได้” นางสาวพุทธณี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ นางสาวพุทธณี กล่าวว่า หลังจากที่มีกลุ่มชาวโรฮิงญามาเกยเกาะราวี เมื่อเดือนมิถุนายน แล้วนั้น มีชาวต่างชาติถูกลักลอบเข้าประเทศ หรือเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ผ่านมายังภาคใต้ ประมาณ 1,000 คน ในจำนวนนี้ เป็นชาวโรฮิงญาราว 300 คน

ตามตัวเลขขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ณ ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาตกค้างอยู่ในประเทศไทย ประมาณ 450 คน ได้รับความช่วยเหลือจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระจายอยู่สถานที่สงเคราะห์ต่างๆ ได้แก่ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านศรีสุราษฎร์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.สงขลา (บ้านพัก อ.รัตภูมิ) รวมทั้ง ที่ทำการ ตม. ในจังหวัดพังงา ระนอง และ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง