นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิประณามไทย ในการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน

รายงานพิเศษ ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.07.09
TH-uyghurs-forced-620 ชาวอุยกูร์บางส่วนถูกควบคุมไว้ ที่ศูนย์กักกัน ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อ 14 มีนาคม 2557
เบนาร์นิวส์

อัพเดทหัวข้อข่าว 10 สิงหาคม 2558

ในวันนี้ (9 ก.ค. 2558) สภาคองเกรสชาวอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ได้ออกแถลงการณ์ทางหน้าเวบไซต์ขององค์กร กล่าวประณามทางการไทยที่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปให้รัฐบาลจีนในวันพุธที่ผ่านมา และยังกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไทยทำให้ชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้ชายเสียชีวิตจำนวน 25 คน ที่ขัดขืนไม่ยินยอมขึ้นเครื่องบินของทางการจีนที่สนามบินดอนเมือง

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์มีใจความว่า “ทาง WUC ได้ข้อมูลจากการคุยกับแหล่งข่าวที่อยู่ในพื้นที่ในประเทศไทยว่า มีชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้ชาย 25 คน เสียชีวิตเนื่องจากการขัดขืนไม่ยอมขึ้นเครื่องบินที่จัดเตรียมไว้”

แถลงการณ์ดังกล่าว กล่าวอ้างว่า ทางการจีนได้เตรียมเครื่องบินไว้สองลำมาจอดรอที่สนามบินทหาร ที่ดอนเมือง เพื่อนำตัวชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก เดินทางไปยังประเทศจีน โดยไม่ทราบจุดหมายปลายทางที่แน่ชัด โดยทางเวบไซต์ของ WUC ซึ่งมีที่ตั้งในมิวนิค ประเทศเยอรมนี ได้อัพโหลดแถลงการณ์ไว้ตาม URL ข้างล่างนี้

http://www.uyghurcongress.org/en/?p=26509 The WUC Strongly Condemns Recent Return of Refugees to China & Killing of 25 Uyghur Men

ในเรื่องนี้ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาคได้ตอบปฏิเสธสั้นๆ ว่า “ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด”

รายงานข่าวการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน ทำให้เกิดความโกรธแค้นในกลุ่มชาวตุรกีเชื้อสายอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในนครอิสตันบูล โดยวันนี้ ได้มีการบุกรุกเข้าทำลายอาคาร และทรัพย์สินของสำนักงานกงศุลกิตติมศักดิ์ไทย

จนกระทั่งตอนค่ำของวันตามเวลาในประเทศไทย ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงแองการา เมืองหลวงของตุรกี ได้แจ้งเตือน ชาวไทยในตุรกีราว 1,300 คน ให้ระมัดระวังความปลอดภัย เพราะอาจจะมีการห้อมล้อมอาคารสถานทูตอีกด้วย

ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวยืนยันในถึงความถูกต้องในการตัดสินใจส่งตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวไว้มากว่าหนึ่งปี กลับไปให้ประเทศจีน เนื่องจากว่ามีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนสัญชาติจีน และอาจจะแจ้งให้สถานทูตไทยปิดสถานทูตชั่วคราว หากว่ามีชาวตุรกีเชื้อสายอุยกูร์บุกรุกเข้าไป

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่เป็นกลางในท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องสัญชาติของชาวอุยกูร์ ก็ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติ และตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านั้น มีความผิดตามที่ประเทศจีนอ้างหรือไม่

“วันนี้เราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งสิ้น มันมีกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์สัญชาติ มีความผิดอะไรหรือไม่ เราในฐานะประเทศคนกลางก็ต้องตรวจสอบ และแยกส่งให้เกิดความชัดเจน ถ้าเราไม่ทำแบบนี้มันก็มีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ส่งกลับไปยังประเทศต่างๆ ตามขั้นตอนและหลักฐาน ซึ่งบางประเทศมีปัญหามากกว่านี้เสียอีก” พลเอกประยุทธ์กล่าว

ชาวอุยกูร์เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีเชื้อชาติและภาษา (Turkic) ที่คล้ายคลึงกันมากกับชาวตุรกี ทั้งยังอาศัยอยู่ในตุรกีหรือได้รับสัญชาติตุรกีอีกจำนวนมาก

ในตอนต้นปี 2557 มีชาวอุยกูร์ที่หนีการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐบาลจีน ออกจากมณฑลซินเจียงจำนวนกว่าสี่ร้อยคน ได้เดินทางผ่านเวียดนาม กัมพูชา ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังมาเลเซีย ก่อนที่จะหาหนทางไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่ตุรกี

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวน 173 คน ไปยังประเทศตุรกี หลังจากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลสัญชาติตุรกี

พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวต่อไปว่า อย่าลืมว่าวันนี้เราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ขอร้องว่าอย่าเอาเราไปเป็นคู่ขัดแย้งทุกเรื่องเลย วันนี้เราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งสิ้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ข้อตกลงที่ไทยคุยไว้กับทางการจีนคือ เมื่อกลับไปแล้วกลุ่มอุยกูร์เหล่านี้ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใช่หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ตอบว่า “ก็ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม และจะดูแลความปลอดภัย โดยจีนยืนยันว่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็จะปล่อยตัว หาที่ทำกินให้ แต่ถ้ามีหลักฐานประจักษ์ชัดเจนก็ต้องดำเนินคดี”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง