นักวิเคราะห์ : นายกกัมพูชาควรพบผู้นำรัฐบาลพลเรือนด้วยในระหว่างเยือนเมียนมา
2022.01.05
จาการ์ตา, กัวลาลัมเปอร์ และวอชิงตัน

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ควรที่จะพบกับผู้นำรัฐบาลพลเรือนในระหว่างการเยือนเมียนมาในสัปดาห์นี้ มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการสุ่มเสี่ยงในการที่จะทำลายความพยายามของอาเซียนในการกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้นำประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย นักวิเคราะห์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ นายกฯ ฮุน เซน จะเดินทางไปเยือนเมียนมาเป็นเวลาสองวันในฐานะประธานคนใหม่ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านการเยือนครั้งนี้ของบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าและพลเรือนที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร การเดินทางครั้งนี้จะเป็นการเยือนเมียนมาครั้งแรกของผู้นำต่างประเทศ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เมื่อกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
การพูดคุยกับพม่าควร “มีการติดต่อกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” รวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนคู่ขนาน นายมูฮัมหมัด อารีฟ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าว
“เป้าหมายของอาเซียนจากการใช้นโยบายโดดเดี่ยวทางการทูตต่อรัฐบาลทหารก็เพื่อลงโทษทางการเมืองแก่รัฐบาลทหาร” มูฮัมหมัด อารีฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ถึงจุดยืนของอาเซียนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงจาการ์ตา
“ถ้าฮุน เซน เข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลทหารฝ่ายเดียว เท่ากับเป็นการลบล้างความพยายามนี้ของอาเซียน”
แต่เมื่อวันอังคารนี้ โฆษกรัฐบาลทหารระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่อนุญาตให้สมเด็จฮุน เซน พบปะกับผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกักขังไว้ ในระหว่างการเยือนพม่าของเขา
“เฉพาะกับผู้ที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้นที่จะพบปะและพูดคุยกันได้ แต่มีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่” ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร บอกเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์
ซอ มิน ตุน หมายถึงข้อกล่าวหาต่าง ๆ อาทิ การนำเข้าเครื่องวิทยุสื่อสาร การยุยงให้เกิดความขัดแย้ง และการฝ่าฝืนกฎเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีต่อนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ตลอดจนนายวิน มินต์ ประธานาธิบดีที่ถูกโค่นอำนาจ
โฆษกรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่าสมเด็จฮุน เซน ได้ขอพบผู้นำพรรค NLD รวมถึงนายวิน มินต์ และนางอองซาน ซูจี หรือไม่
เมื่อ RFA ถามนายกอย กุง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขากล่าวว่าไม่มีข้อมูลว่าสมเด็จฮุน เซน จะพบกับนางอองซาน ซูจี หรือไม่
‘อย่าสนับสนุนทุ่งสังหารในเมียนมา’
การเยือนเมียนมาครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เกิดขึ้นเพียงสองเดือนหลังจากที่อาเซียนไม่ให้รัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในปี 2564 เนื่องจากฝ่าฝืนคำสัญญาที่จะอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
ชาวพม่าจำนวนมากที่เรียกร้องประชาธิปไตยต่างไม่พอใจมากที่นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา จะไปเยือนรัฐบาลทหาร พวกเขาเหล่านี้คิดว่าการเยือนครั้งนี้เท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ผู้ซึ่งกองกำลังถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณต่อคนจำนวนมากนับแต่เกิดรัฐประหารขึ้นมา
กิจ ทิด มีเดีย สื่ออิสระรายใหญ่ 1 ใน 5 ที่ถูกสั่งแบนโดยรัฐบาลทหารพม่าเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ได้โพสต์ภาพถ่ายชาวพม่าเหยียบรูปภาพของนายกฯกัมพูชา
สื่อข่าวอื่น ๆ ได้โพสต์ภาพผู้ประท้วงถือป้ายแสดงข้อความประท้วงสมเด็จฮุน เซน ว่า “อย่าสนับสนุนทุ่งสังหารในเมียนมา”
พวกเขาหมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ซึ่งชาวกัมพูชาถึง 1.7 ล้านคนเสียชีวิตภายใต้การปกครองของระบอบเขมรแดงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ตามคำกล่าวของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยล
ในมาเลเซีย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน ต้องทำให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาไม่เป็นที่ยอมรับของอาเซียน เขาหมายถึงการกระทำรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และการที่คนจำนวนเกือบ 1,400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ได้ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่านับแต่ที่เกิดรัฐประหารเป็นต้นมา
“เขาต้องไม่เห็นด้วยว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาเป็นเรื่องภายในประเทศของเมียนมาเอง” ไซเอ็ด ฮามิด อัลบาร์ อดีตผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมาจากองค์กรความร่วมมืออิสลาม บอกเบนาร์นิวส์
“เป็นสิ่งสำคัญที่นายกฯ ฮุน เซน จะต้องแสดงให้เมียนมาเห็นถึงความรู้สึกของทั้งอาเซียนและนานาประเทศที่มีต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา… การเยือนครั้งนี้ของเขาจะต้องไม่ทำลายจุดยืนร่วมของอาเซียนที่มีต่อรัฐประหารในเมียนมา” เขากล่าว
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แสดงท่าทางขณะพูดในงานที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬาแห่งชาติโมโรดก เทคโฮ กรุงพนมเปญ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564 (รอยเตอร์)
จนถึงขณะนี้ นายกฯ กัมพูชา ยังไม่ได้เอ่ยปากเกี่ยวกับการสังหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ได้แจ้ง ดร.โนลีน เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษคนใหม่ของสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมาให้ทราบว่า กัมพูชามุ่งมั่นที่จะใช้ “วิธีที่เป็นขั้นเป็นตอนและปฏิบัติได้จริง เพื่อให้บรรลุความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน”
เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้บรรลุฉันทามติห้าข้อ ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้เมียนมากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย ฉันทามตินี้เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรง แต่งตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านกิจการพม่า และให้ผู้แทนพิเศษสามารถเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนั้นได้
แต่เมียนมาไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติใด ๆ เหล่านี้
ในช่วงปลายปี 2564 อาเซียนไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม เนื่องจากเขาผิดคำสัญญาที่ให้ไว้ ตั้งแต่นั้นมา เมียนมาก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำอีกสองครั้ง
ในตอนแรก สมเด็จฯ ฮุน เซน กล่าวว่าเมียนมาผิดเองที่ถูกกันไม่ให้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่ไม่นานหลังจากที่เขาได้รับมอบตำแหน่งประธานหมุนเวียนคนใหม่ของอาเซียน เขาก็เปลี่ยนท่าทีทันที
“อาเซียนไม่มีหน้าที่แก้ไขปัญหานี้ อาเซียนมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเท่านั้น แต่เมียนมาจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาของตัวเองตามลำพัง” นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม
“เป็นสิ่งสำคัญที่ผมควรพบกับผู้นำ[ทหาร] ของเมียนมา แต่การเจรจากันอย่างลับ ๆ ระหว่างเราเป็นวิธีที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์ที่สุด อย่ารบกวนผม ขอเพียงให้เวลาแก่ผมเท่านั้น” นายกฯ ฮุน เซน กล่าว
นักวิจารณ์บางคนไม่แปลกใจกับท่าทีดังกล่าวของนายกฯ เขมร ผู้ที่พวกเขากล่าวว่าได้ใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลเผด็จการของเขา นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในฐานะประธานอาเซียนปี 2555 สมเด็จฮุน เซน ผู้ฝักใฝ่จีน ได้ถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างจีน และขัดขวางอาเซียนจากการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้
กระนั้นก็ตาม ตามคำกล่าวของมูฮัมหมัด อารีฟ แห่งมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ในระหว่างการเยือนเมียนมาที่กำลังจะมีขึ้นนี้ ฮุน เซน อาจพยายามที่จะลบล้างความทรงจำที่เกิดขึ้นขณะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2555 ของกัมพูชา
“เห็นได้ชัดว่าฮุน เซน ไม่อยากผิดพลาดซ้ำสอง และต้องการสำเร็จในครั้งนี้ ความเกี่ยวข้องของกัมพูชากับเมียนมาอาจถูกมองในบริบทนี้ แต่เขาไม่ควรออกห่างจากจุดยืนร่วมของอาเซียนมากเกินควร” มูฮัมหมัด อารีฟ กล่าว
ตามคำกล่าวของสมาชิกรัฐสภาอาเซียนคนหนึ่งจากมาเลเซีย หลายประเทศสมาชิกอาเซียนจะไม่พอใจกับแผนการเดินทางเยือนเมียนมาของนายกฯกัมพูชา
“ถ้า [ฮุน เซน] ไปที่นั่นเพื่อเป็นตัวแทนอาเซียน เขาควรแจ้งให้สมาชิกอาเซียนทุกประเทศทราบ และขอการรับรอง[ของสมาชิก] แต่จนบัดนี้ ไม่มีประเทศใดได้รับการแจ้งให้ทราบ หรือแม้กระทั่งรับรองการเยือนของเขาในครั้งนี้เลย” ชาร์ล ซานติอาโก ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกเบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลของไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน ต่างก็ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นสำหรับรายงานชิ้นนี้