กระทรวงแรงงานเตรียมเปิดรับแรงงานข้ามชาติในอีกหนึ่งเดือน
2021.11.10
กรุงเทพฯ และปัตตานี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า ทางกระทรวง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน มีความเห็นสอดคล้องกันที่จะเปิดรับแรงงานจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา กว่า 400,000 คน เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในประเทศ โดยคาดว่าสามารถดำเนินการได้ภายในเวลาหนึ่งเดือนข้างหน้านี้
ในวันนี้ กระทรวงแรงงานได้ประชุมร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมควบคุมโรค และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่สืบเนื่องมาจากผลการสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่พบความต้องการถึง 4 แสนกว่าอัตรา
“ทุกหน่วยงานเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการฯ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และเตรียมเสนอต่อ ศบค. ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 คาดว่าจากนี้ 30 วันจะสามารถนำเข้าแรงงานตาม MoU ได้ทันที” นายสุชาติ กล่าว
ในการนี้ ทางรัฐบาลไทยได้เตรียมพร้อมในการควบคุมโควิด-19 โดยจะกักตัวแรงงานเป็นเวลา 7 วัน หากฉีดวัคซีนครบสองเข็ม หรือ 14 วัน หากได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วหนึ่งเข็ม หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และพร้อมทั้งยังได้เตรียมฉีดวัคซีนให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบโดสอีกด้วย
“สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีความพร้อมเรื่องวัคซีนแล้ว ในส่วนนี้ผมเตรียมไว้ 4-5 แสนโดส เพื่อฉีดให้แก่แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว... ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT–PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 โดยมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารวม 9,700–26,720 บาท” นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากพบว่า แรงงานคนใดติดโควิด-19 ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นายสุชาติ ระบุ
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการประชุมว่า มีประโยชน์มากเพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเร็ว ซึ่งตนเองคิดว่าสถานประกอบการเองก็ยินดีจะจ่ายค่าดำเนินการ ส่วนเรื่องวัคซีน รัฐบาลก็เป็นผู้รับผิดชอบ
ด้าน น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า การจ้างงานผ่าน MoU ไม่ได้หมายความว่าแรงงานข้ามชาติจะไม่พบกับปัญหา
“บริษัทจัดหางานบางบริษัทก็ซับคอนแทร็คท์ไปให้นายหน้า นายหน้าก็นำมาเกินโควต้า แล้วก็ไม่ได้ตีวีซ่าเข้ามา เลยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะไม่มีระบบการตรวจสอบของภาครัฐ อายุการทำงานกับนายจ้างต้องอยู่ครบ 2 ปี จึงจะสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ถ้าลาออกก็ต้องกลับประเทศ ถึงแม้จะมีปัญหาการทำงาน ต้องอดทนอยู่จนกว่าจะครบ 2 ปี จึงจะสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้” น.ส. สุธาสินี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ MoU ในการนำแรงงานข้ามชาติลาว เวียดนาม และกัมพูชา เข้ามาทำงานในประเทศไทย ผ่านความเห็นชอบหลักการ โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564
ขั้นตอนการนำเข้าแรงงาน
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ดังกล่าวนั้น ซึ่งรวมถึงขั้นตอนที่สำคัญ อาทิเช่น
นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ยื่นแบบคำร้อง ณ กรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคนต่างด้าว รวมทั้งจัดซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโควิด-19
ทั้งให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่ระบุในแบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมถึงแสดงเอกสารหรือหลักฐานการได้รับวัคซีนของคนต่างด้าวครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่รับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง
รวมทั้ง เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงเอกสาร หลักฐานที่ได้รับจากนายจ้าง และแสดงใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 ตรวจโดยวิธี RT-PCR มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา
โดยคนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักตัว และมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ดังนี้ กรณีคนต่างด้าวฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้ว กักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตรวจโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับการฉีดวัคซีนแต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตรวจโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว เป็นต้น
ศบค. ระบุว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศปิดชายแดน ทำให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายผ่านพรมแดนธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2563 ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 กว่า 5.5 หมื่นคน
กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยมีแรงงานข้ามชาติ 2.3 ล้านคน ขณะที่นักสิทธิแรงงานประเมินว่า ก่อนโควิด-19 ระบาดไทยมีแรงงานข้ามชาติทั้งแบบขึ้นทะเบียนถูกต้อง และไม่ได้ขึ้นทะเบียนกว่า 4 ล้านคน หลังการระบาด มีแรงงานที่เดินทางกลับประเทศประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบให้ แรงงานข้ามชาติ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ตรวจโรค ทำประกันสุขภาพ และเก็บอัตลักษณ์บุคคลภายในเดือนมีนาคม 2565 และจะทำให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงกุมภาพันธ์ 2566