ครม. อนุมัติขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาตินอกระบบ พร้อมตรวจโรค ม.ค. 64

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.12.29
กรุงเทพฯ
ครม. อนุมัติขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาตินอกระบบ พร้อมตรวจโรค ม.ค. 64 แรงงานข้ามชาติเข้าคิวรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 20 ธันวาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้แรงงานข้ามชาตินอกระบบสามารถขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งตรวจโรคเพื่อทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายเป็นกรณีพิเศษแล้ว โดยจะเริ่มให้ลงทะเบียนในวันที่ 15 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2564 ด้านนักสิทธิแรงงานห่วงระบบลงทะเบียนออนไลน์อาจล่ม และเวลาดำเนินการสั้นอาจเป็นภาระสถานพยาบาล ขณะที่ อธิบดีกรมการจัดหางานเชื่อมั่น ระบบลงทะเบียนจะรองรับความต้องการไหว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมาย นำหลักฐานมาดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยได้เป็นเวลา 2 ปี

“เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาระลอกใหม่นี้ เราพบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากแรงงานต่างด้าว จำนวนมาก รัฐบาลจึงได้มีการตรวจสอบคัดกรองคนต่างด้าวในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว ก็ทำให้นายจ้างและสถานที่ประกอบการบางส่วน ที่มีการจ้างงานคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเกิดการกลัว จึงได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปทอดทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยิ่งขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

“คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานออกร่างกฎกระทรวงฯ ร่างประกาศกระทรวงฯ ที่จะเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ ก็คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาอยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกรณีพิเศษ” น.ส.ไตรศุลี ระบุ

น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยว่า วันนี้ ครม. ได้เห็นชอบมาตรการสำหรับแรงงานทั้งกรณีที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง โดยจะให้แรงงานข้ามชาติลงทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ 4 ภาษา ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และไทย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้น กรมการจัดหางานจะส่งต่อข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้แรงงานที่ลงทะเบียนไว้แล้วไปตรวจสุขภาพ เพื่อหาเชื้อโควิด-19 และหาโรคต้องห้ามของแรงงานข้ามชาติ 6 โรค ซึ่งประกอบด้วย 1. โรคเรื้อน 2. วัณโรคในระยะอันตราย 3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 4. โรคยาเสพติดให้โทษ 5. โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 6. โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3

โดยหลังผ่านการตรวจโรค แรงงานจะต้องทำประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 7,200 บาท โดยนายจ้างหรือแรงงานจำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หลังจากนั้นให้แรงงานข้ามชาติยื่นขออนุญาตทำงาน ตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนด (ยังไม่เปิดเผยข้อกำหนด) ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และให้ไปจดทำทะเบียนประวัติ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกับกรมการปกครองภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

ขณะเดียวกัน ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้ทำงาน รวมถึงบุตรของแรงงานข้ามชาติซึ่งอายุไม่เกิน 18 ปี ให้แจ้งแบบข้อมูลบุคคลตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนด ระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้าม ทำประกันสุขภาพระยะ 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 พร้อมทั้งจัดทำประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยหากดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมด แรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตาม จะสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

นักสิทธิแรงงานเตือนให้เวลาลงทะเบียนสั้นอาจมีปัญหา

นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า มติ ครม. ที่ให้แรงงานข้ามชาตินอกระบบขึ้นทะเบียนออนไลน์เพื่ออยู่ และทำงานในประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ระยะเวลาที่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสั้นอาจทำให้เกิดปัญหา

“ผมประเมินว่าจะมีแรงงานประมาณ 8 แสนคนที่มาขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ ดังนั้น ระยะเวลาเพียงประมาณ 1 เดือนที่รัฐเปิดให้ลงทะเบียนอาจสั้นไป ระบบอาจจะรับไม่ไหว และมีปัญหา อีกประเด็นคือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคค่อนข้างมาก ถ้าแรงงานต้องจ่ายเองอาจจะเป็นภาระ หรือจ่ายไม่ไหว ขณะที่การตรวจโรคด้วยระยะเวลาสั้นอาจทำให้แรงงานจำนวนมาเดินทางไปตรวจพร้อมกันเป็นภาระของโรงพยาบาลในการรับมือกับแรงงานเกือบล้านคนที่จะต้องตรวจคัดกรอง” นายอดิศร กล่าว

“อีกประเด็นที่กังวลคือ ระยะเวลาระหว่างนี้ที่รอการขึ้นทะเบียน รัฐจำเป็นต้องมีการประกาศแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่า จะไม่มีการจับกุม หรือดำเนินคดีกับแรงงานข้ามชาติ ควรประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่า รัฐจะเว้นโทษให้กับแรงงานที่ยังไม่มีทะเบียนเพื่อคลายความกังวลให้กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตอนนี้” นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่า ระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในครั้งนี้จะสามารถรองรับแรงงานข้ามชาติได้แน่นอน เพราะเป็นระบบที่เคยใช้งานมาแล้ว

“มีความมั่นใจว่า การลงทะเบียนจะสามารถทำได้ทันอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่า จะไม่มีปัญหาแน่นอน โดยจากฐานข้อมูล มีแรงงานที่ไม่ได้มาต่ออายุการอนุญาตทำงาน คือ เดิมเคยมีใบอนุญาต แล้วหลุดจากระบบประมาณ 4 แสนคน ขณะที่แรงงานอีกส่วนคือ ไม่เคยมีทะเบียน ส่วนนี้เรายังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่ชัดเจนได้ ส่วนเรื่องระบบสาธารณสุขเชื่อว่า จะรองรับการตรวจคัดกรองโรคของแรงงานไหว” นายสุชาติ กล่าว

หลังจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีนในเดือนมกราคม 2563 และพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนมีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) รวมถึงห้ามประชาชนทั้งไทยและต่างชาติ เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร ทำให้มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบทะเบียนแรงงานหลายแสนคน

โดยข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ในเดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติชาวลาว เมียนมา และกัมพูชา รวม 2,990,777 คน แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2563 พบว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเหลือเพียง 2,284,673 คน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ แรงงานข้ามชาติซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยตาม MOU ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2564 2021 ครม. มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป โดยจะได้รับการยกเว้นเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2563

ปัจจุบัน ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 6,440 ราย โดยเฉพาะวันอังคารนี้ พบเพิ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ 155 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 4,184 ราย มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,195 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 61 ราย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมีแรงงานข้ามชาติจากการตรวจเชิงรุก 1,381 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง