ญาติเรียกร้องให้ผ่านร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการบังคับให้สูญหาย
2021.08.30
กรุงเทพฯ

ในโอกาสวันผู้สูญหายสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี ญาติผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายได้เรียกร้องให้รัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อให้สามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดบังคับให้บุคคลอื่นหายสาบสูญได้ ซึ่งในอดีตยังไม่มีกฎหมายครอบคลุมทั่วถึง
ทั้งนี้ สหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน และหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 เป็นต้นมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองเนื่องจากถูกไล่ล่า
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 กันยายน 2564 นี้ สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดพิจารณาในวาระแรกในเรื่องร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งญาติระบุว่า เป็นความหวังให้กับตน เพราะที่ผ่านมาต่างรู้สึกว่ารัฐบาลเพิกเฉยต่อกรณีคนหาย
นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกนำตัวขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนรามคำแหง และไม่มีใครพบเห็นอีกตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 กล่าวว่า ตนหวังว่ารัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ และสามารถบังคับใช้ได้ในเร็ววัน
“พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ ต้องการความจริงใจจากรัฐในการร่างกฎหมาย ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกฎหมายออกมาจริงจะปิดช่องโหว่ที่กฎหมายไทยปัจจุบันไม่คุ้มครอง ที่สำคัญเปลี่ยนนิยามของเหยื่อที่ทำให้ครอบครัวเป็นผู้เสียหายในคดีได้ เพราะกรณีสมชาย ศาลมีคำพิพากษาว่าญาติไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ศาลจึงยกฟ้อง กฎหมายใหม่จะมาเติมเต็มส่วนตรงนี้” นางอังคณา กล่าว
“ญาติต้องการเพียงรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เขารัก เขายังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว ความจริงมันเยียวยาจิตใจ มันมีความหมายกับการเก็บรักษาความทรงจำ” นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาขึ้นรถตู้ และหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุยายน 2563 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ระบุได้รับการแจ้งข่าวจากประธานรัฐสภา ว่า พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการบังคับให้หายฯ กำลังเข้าสู่การพิจารณา ในวันที่ 18 กันยายน นี้
“ท่านชวน หลีกภัย รับปากแล้วว่าจะพิจารณา แต่ไม่ได้รับปากว่าจะผ่าน เราก็หวังว่ากรณีของผู้กำกับโจ้ (พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล) จะทำให้สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา กรณีต้า-วันเฉลิม เราเห็นว่ารัฐไม่มีความพยายามติดต่อมาให้ความช่วยเหลือเลย เราสามารถพูดได้ว่าเขาเพิกเฉย” น.ส. สิตานัน กล่าว
สำหรับ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการบังคับให้หายฯ ถูกร่างโดยมีความมุ่งหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งในปี 2562 ได้มีการผลักดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่สำเร็จ
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฯ นี้ จะมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
กฎหมายฯ อยู่ในกระบวนการร่าง 5 ปีแล้ว
ด้าน ศ. ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีส่วนในการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการบังคับให้หายฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ อยู่ในกระบวนการร่างมาแล้ว 5 ปี แต่กำลังจะได้รับการพิจารณาโดยรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ หลังจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว
“ถ้ากฎหมายผ่าน การดำเนินการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ต้องมีบันทึกชื่อ ที่อยู่ สถานที่ ซึ่งหากญาติต้องการรู้รายละเอียดจะสามารถตรวจสอบได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ญาติก็สามารถไปร้องให้ศาลตรวจสอบเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนั้น ยังทำให้สามารถเอาผิดผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นการกระทำผิด แต่ไม่มีคำสั่งยับยั้งได้” ศ. ณรงค์ กล่าว
ศ. ณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กฎหมายนี้จะมีการเยียวยาญาติอย่างเหมาะสม และให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบ มีการเพิ่มโทษจากกฎหมายอาญาธรรมดา ที่หากพบว่ามีการบังคับหน่วงเหนี่ยวจะมีโทษหนัก จำคุกสูงระดับ 10 ปี หรือถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐ บังคับหน่วงเหนี่ยวและเกี่ยวข้องกับการทุจริตก็จะมีการเพิ่มโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต และถ้ามีการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ก็จะมีการเพิ่มโทษถึงประหารชีวิต ตามกฎหมายอาญา
นอกจากการหายสาบสูญในประเทศแล้ว นับตั้งแต่ปี 2557 มีผู้ลี้ภัยสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน หายตัวไปแล้ว 9 คน คือ 1. อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. วุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. สยาม ธีรวุฒิ 6. กฤษณะ ทัพไทย 7. ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) 8. ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน และล่าสุดคือ 9. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์