ทางการไทยเตรียมปล่อยตัวอดีตพระนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาศุกร์นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.12.02
กรุงเทพฯ
ทางการไทยเตรียมปล่อยตัวอดีตพระนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาศุกร์นี้ อดีตพระบรเบต (ชุดขาว) เดินลงจากรถตำรวจ หลังถูกนำตัวมายัง สน.สมุทรปราการ ในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย วันที่ 2 ธันวาคม 2564
ภาพโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

อดีตพระนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสมุทรปราการจับสึกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และถูกกักตัวไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู ในกรุงเทพ จะได้รับการปล่อยตัวในวันศุกร์นี้ ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลืออดีตพระนักเคลื่อนไหวคนดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีนี้ น.ส. ศิริภา อินทรวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิอดีตพระนักเคลื่อนไหวการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย พร้อมด้วยทนายความของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เดินทางไปประสานงานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อขอให้เลื่อนการส่งตัว นายบรเบต (Bor Bet) กลับประเทศ และขอประกันตัวเพื่อให้ได้เดินทางไปยังประเทศที่สาม   

“วันนี้ ไปที่สวนพลูมาในช่วงเช้าร่วมกับทนายความผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้ยื่นหนังสือขอชะลอการส่งตัวกลับกับ ตม. แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ รอยูเอ็นเอชซีอาร์ออกหนังสือขอประกันตัว และทางการไทยพิจารณา ถ้าเรียบร้อยก็รอดำเนินการส่งตัวไปยังสวิตเซอร์แลนด์” น.ส. ศิริภา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ในตอนค่ำของวัน เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติคนดังกล่าว ได้กล่าวว่า "เขาจะถูกปล่อยตัวในวันศุกร์นี้"

นอกจากนั้น น.ส. ศิริภา กล่าวว่า องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้พูดคุยกับสถานทูตประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ที่พักพิงแก่นายบรเบต

“โดยล่าสุด สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ได้รับปากว่าจะออกหนังสือเดินทางพิเศษให้ท่านแล้ว ถ้าหากประสงค์ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่สาม และไม่ต้องการที่จะอยู่ไทย” น.ส. ศิริภา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ก่อนถูกจับกุมตัว อดีตพระบรเบต เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจอย่างเผด็จการของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่กัมพูชาจับกุมตัว เพราะตนเองได้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปล่อยตัวแกนนำแรงงานคนสำคัญรายหนึ่ง

เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้จับกุมตัวอดีตพระบรเบตที่วัดแพรกษา ในจังหวัดสมุทรปราการ และจับสึก แม้ว่า นายบรเบตได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์ในประเทศไทยแล้วก็ตาม ตามคำกล่าวของผู้ติดตามเหตุการณ์

ในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม เพราะไม่ได้รับมอบหมายในการให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว กล่าวว่า นายบรเบต ถูกจับในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากตามพาสปอร์ตไม่ปรากฏว่าได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยถูกต้อง จากนั้น ตม. สมุทรปราการ ได้นำตัวไปยังศูนย์กักกันผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่สวนพลู ซึ่งอาจจะถูกส่งตัวกลับประเทศ

นายบรเบต นับเป็นนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชารายล่าสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตัวหลังจากหลบหนีมาจากประเทศบ้านเกิด

ในก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้จับกุมตัว นายเวือน วาสนา และนายเวือง ซอมนัง จากอพาร์ตเมนต์ที่พักในกรุงเทพ และถูกส่งตัวให้ทางการกัมพูชาในวันถัดมา จากนั้นในวันที่ 19 พ.ย. นางสาวเทวี ลัน เป็นอดีตผู้นำชุมชน Rusey Krok ในจังหวัดบันเตยเมียนเจย ถูกจับกุมที่อรัญประเทศ และถูกส่งกลับไปยังประเทศกัมพูชาในวันถัดมา ทำให้ทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็นเอชซีอาร์ในประเทศไทย ถูกทางการกัมพูชาควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างดำเนินคดีสมคบคิดและปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย

จากนั้น ในวันที่ 21 พฤศจิกายน นายเม็ก เฮียง สมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ปิดไปแล้ว พร้อมด้วยชาวกัมพูชาซึ่งทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ในจังหวัดระยอง อีกสองคน ถูกจับกุมตัวและถูกส่งตัวกลับกัมพูชา

กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา ได้ใช้โซเชียลมีเดียในการวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ฮุน เซน ซึ่งได้ถูกประกาศตามจับตัว

ในปี 2560 นายเขม โสกา ประธานพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party – CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ถูกรัฐบาลกัมพูชาควบคุมตัวในข้อหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาลนายกฯ ฮุน เซน ต่อมาศาลฎีกาได้สั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคจำนวนมากถูกดำเนินคดี และคุมขัง

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนายกฯ ฮุน เซน ได้สั่งการให้ปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาสังคมอีกมากมาย การปราบปรามดังกล่าวนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคประชาชนกัมพูชา ในเดือนกรกฎาคม 2561 อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลกัมพูชามีต่อผู้เห็นต่าง ทำให้ประเทศถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

หลังมาตรการปราบปรามผู้เห็นต่างดังกล่าว มีชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งลี้ภัยมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ก็มีผู้ลี้ภัยบางส่วนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยดำเนินการควบคุมตัว และจบลงด้วยการผลักดันกลับประเทศ ทำให้พวกเขาต้องถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา

น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย ได้กล่าวตำหนิรัฐบาลไทยที่ส่งตัวชาวกัมพูชากลับไปแล้วหลายราย

“การเป็นพลเมืองที่ดีของโลก ที่จะต้องคุ้มครองคนไม่ให้ถูกส่งกลับไปเจอความอันตราย ซึ่งไม่คุ้มต่อการทำลายภาพของไทยในสายตาชาวโลก” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ส่วนนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ไทยและกัมพูชามีข้อตกลงที่สมประโยชน์ทั้งฝ่ายนายกฯ ฮุน เซน กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ในขณะที่นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามหลักการและพันธกรณีระหว่างประเทศในเรื่องนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง