กัมพูชาเลื่อนประชุมอาเซียนครั้งแรก ท่ามกลางความเห็นต่างของประเทศสมาชิก
2022.01.12
วอชิงตัน

เมื่อวันพุธ กัมพูชาได้เลื่อนการประชุมอาเซียนครั้งแรกที่จะจัดขึ้นในฐานะประธานหมุนเวียนของปีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งกล่าว ท่ามกลางรายงานความเห็นต่างของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขาไม่ได้พบกับผู้นำฝ่ายพลเรือนของเมียนมา
นายเขียว กันหะริด รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศของกัมพูชา กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแบบพบหน้ากัน ในจังหวัดเสียมราฐ ตามกำหนดการวันที่ 18-19 มกราคม ได้ถูกเลื่อนออกไป เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนบางประเทศกล่าวว่า ลำบากที่จะเดินทางไปร่วมการประชุม
“การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งแต่เดิมกำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มกราคม พ.ศ. 2565 ในจังหวัดเสียมราฐ ได้ถูกเลื่อนออกไป” เขากล่าวในแถลงการณ์ในเฟซบุ๊ก โดยไม่ประกาศวันที่รอบใหม่ ที่จะจัดการประชุม
เหตุผลของการเลื่อนดังกล่าวคือ “รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหลายท่านมีความยากลำบากในการเดินทางเข้าร่วม” กล่าวเพิ่มเติมตามแถลงการณ์
การเลื่อนดังกล่าวส่งผลให้การรับรองนายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมา ต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย
เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ พยายามติดต่อ นายเฟย์ สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา และนายกอย กุง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับในทันที
ความแตกแยกภายในอาเซียนเกี่ยวกับการเดินทางเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และความเป็นไปได้ที่จะเชิญรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมาให้เข้าร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อาจเป็นเหตุผลที่รัฐมนตรีบางคนตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม บรรดานักวิเคราะห์กล่าว
โซฟัล เอีย ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชา บอกเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อ้างว่าลำบากที่จะเดินทาง คงจะทำเช่นนั้นเพราะมารยาท แทนที่จะบอกตรง ๆ ว่าไม่อยากเข้าร่วม
“นี่ไม่ใช่การคว่ำบาตรอย่างเป็นทางการ แต่ [รัฐมนตรีต่างประเทศของบางประเทศ] หาข้ออ้างมาแสดงเหตุผลของการไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมนั้น… กรรมตามสนอง นี่เป็นผลของ ‘การทูตคาวบอย’ ของกัมพูชา” โซฟัล เอีย รองคณบดีและอาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการธันเดอร์เบิร์ด แห่งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา ในเมืองฟีนิกซ์ บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“เมื่อคุณทำสิ่งที่คนอื่นไม่อยากให้คุณทำ คนเหล่านั้นก็ไม่มาร่วมงานของคุณ และจะหาข้ออ้างต่าง ๆ นานา… จงเตรียมตัวรับสารพัดเหตุผลว่า ทำไมบางคนถึงไม่มา” เขากล่าวเสริม
ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า การเป็นประธานหมุนเวียนของกัมพูชาได้เริ่มต้นขึ้นอย่าง “กระง่อนกระแง่น”
“ดูเหมือนว่าความแตกแยกภายในอาเซียนเกี่ยวกับการที่กัมพูชาเชิญนายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่า ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น” ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักศึกษาปริญญาเอกที่วิทยาลัยเอเชียและเดอะแปซิฟิกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวในทวิตเตอร์
‘ผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง’
ก่อนหน้าการเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อวันที่ 7-8 มกราคม สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประเทศที่ปีนี้รับหน้าที่เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน ได้กล่าวว่า เขาต้องการให้มีผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมในการประชุมอาเซียน
แต่ประธาธิบดี โจโก “โจโกวี” ของอินโดนีเซีย ได้กล่าวอย่างชัดเจนและเด็ดขาดว่า หากพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ไม่ดำเนินการตามแผนดำเนินการห้าข้อที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อนำเมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย ผู้แทนของเมียนมาที่จะเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของอาเซียนควรเป็นผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น
ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย บอกเบนาร์นิวส์เมื่อวันจันทร์ว่า นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ จะเข้าร่วมการประชุมที่จะจัดขึ้นในจังหวัดเสียมราฐ ผ่านระบบการประชุมทางไกลเท่านั้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า กัมพูชาทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน โดยการพบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารพม่า หลังจากที่อาเซียนไม่เชิญเขาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน ในตอนนั้น บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ได้สนับสนุนให้ห้ามพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอาเซียน
การที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ไปเยือนเมียนมาและพบปะกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เท่ากับเป็นการมอบความชอบธรรมแก่ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมากล่าว
ผู้นำรัฐบาลทหาร ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ให้สัญญาต่าง ๆ นานา อาทิ จะยุติความรุนแรงและอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการเมือง เขาไม่ได้ทำตามคำสัญญาเลย
แต่เขากลับปฏิเสธที่จะยอมให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนพบกับผู้นำฝ่ายพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา มีผู้ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงแล้วจำนวนกว่า 1,400 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และหนึ่งวันหลังจากที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ออกจากเมียนมา นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีกสี่ปี ในข้อหาที่หลายคนบอกว่าไร้สาระ
ฮุน เซน สร้างความแตกแยกในอาเซียน เนื่องจากสิ่งที่บางคนกล่าวว่าเป็นการทูตคาวบอยของเขาที่ทำกับเมียนมา เป็นเหตุให้สมาชิกประเทศที่เป็นเผด็จการเห็นขัดกับสมาชิกประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย นักวิเคราะห์ได้กล่าวไว้
‘จีนชื่นชมความพร้อมของเมียนมา’
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคาร ญี่ปุ่น “ยินดีที่กัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน เกี่ยวข้องอย่างแข็งขันกับสถานการณ์ในเมียนมา และรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด” แถลงการณ์จากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าว
นอกจากนี้ นายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ยังกล่าวว่า รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ส่ง “ข้อความแสดงความยินดี” ว่า “เขาสนับสนุนผลของข่าวสารนิเทศร่วมของกัมพูชา-เมียนมาอย่างยิ่ง” สื่อท้องถิ่นรายงาน
เมื่อวันจันทร์ จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของเมียนมา ได้กล่าวแสดงการสนับสนุนสมเด็จฯ ฮุน เซน และกัมพูชา ตลอดจนเมียนมา
“จีนชื่นชมความพร้อมของเมียนมาในการสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนได้กระทำหน้าที่ของเขา และทำงานให้แผนขั้นตอนการดำเนินการห้าข้อของเมียนมาสอดคล้องอย่างได้ผลดีกับฉันทามติห้าข้อของอาเซียน” นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกผู้สื่อข่าว
แต่แผนของเมียนมาและของอาเซียนไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
“จีนจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่กัมพูชา ประธานหมุนเวียนของอาเซียน ในการทำหน้าที่อย่างแข็งขันและการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการจัดการความแตกต่างระหว่างฝ่ายต่าง ๆ อย่างเหมาะสมในเมียนมา”
เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ภาคภาษากัมพูชา หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ ร่วมรายงาน