สภาเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ วาระแรก
2021.09.16
กรุงเทพ

สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเอกฉันท์รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย วาระแรก ในวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากที่ครอบครัวของผู้ถูกทรมาน และบังคับให้สูญหาย ต้องคอยการออกกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเวลาหลายปี
นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ประกาศผลลงมติว่าจะรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งถูกเสนอทั้งหมด 4 ฉบับ โดย ส.ส. ได้ลงคะแนนเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ 368 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
ที่ประชุมกำหนดให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ จำนวน 25 คน โดยจะใช้ร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระสอง และกำหนดเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน
ในการอภิปรายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นหลานสาวของนายฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา อดีตเจ้าของโรงเรียนปอเนาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และหายตัวไปในเดือนสิงหาคม 2497 กล่าวว่า ตนและครอบครัวรอวันที่จะได้รับความยุติธรรมมานาน และได้ร่วมต่อสู้เพื่อผู้สูญหายรายอื่น ๆ เช่น ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายไปในปี 2547และนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายไปเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นต้น
“ดิฉันอภิปรายเรื่องนี้ด้วยสายเลือดของชีวิตดิฉัน เพราะความยุติธรรมที่ดิฉันรอคอยนานถึงสามชั่วอายุคน เพื่อรอวันนี้ ในการพิจารณารับหลักการรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้” พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวต่อสภา
ด้าน น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่ถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2563 กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกดีใจที่กฎหมายที่รอคอยผ่านความเห็นชอบ
"ฉันรู้สึกดีใจที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส. โดยเอกฉันท์ และคิดว่าเป็นความหวังให้กับครอบครัวของเหยื่อการซ้อมทรมาน และบังคับสูญหาย แต่ยังไม่รู้ว่าในชั้น ส.ว. จะเห็นด้วยกับกฎหมายนี้หรือไม่ ข้อกังวลคือตัวแทนกรรมาธิการจากฝ่ายรัฐอาจมีการดึงบางส่วนของกฎหมายออก" น.ส. สิตานัน กล่าวผ่านโทรศัพท์
นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย ทนายความที่ว่าความให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกลักพาตัวไปจากย่านรามคำแหง เมื่อปี 2547 ระบุว่า ตนมีความกังวลว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่อาจไม่สมบูรณ์ตามหลักสากล
“ร่างที่เสนอโดยรัฐบาล น่ากังวลคือ ขาดประเด็นที่ครอบคลุมการปฏิบัติที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งกินความกว้างกว่าการทำร้ายร่างกาย เช่น การใช้ถุงดำคลุมหัวอาจไม่เกิดบาดแผล แต่สร้างความหวาดกลัว การนิยามเหยื่อก็ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ โครงสร้างกรรมการสอบสวนเหตุทรมานฯ ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เยอะ ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่เป็นอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางอังคณากล่าวกับเบนาร์นิวส์
จากข้อมูลของสหประชาชาติ (UN) นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ขณะที่ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า มีความสำคัญต่อการคุ้มครองปกป้องประชาชน เนื่องจากเงื่อนไขกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
“การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ที่กระทำและผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็น หรือละเลยต้องถูกลงโทษ ให้มีกลไกป้องกัน ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นญาติ ทนายความ หรือผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิที่จะร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้” นายอาดิลัน กล่าว
“เราเห็นสภาพปัญหา คดีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งไปให้หน่วยงาน ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. พิจารณาแล้วจะเกิดความล่าช้า และขาดความไว้วางใจในการทำหน้าที่” นายอาดิลันกล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งรับผิดชอบการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ ยืนยันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธว่า กระทรวงฯ จะเร่งผลักดันการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ และจะไม่ให้มีความล่าช้าแน่นอน
ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาในครั้งนี้นั้น ประกอบด้วย 1. ร่างที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 2. ร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน และพัฒนาโดยพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับก้าวไกล 3. ร่างที่เสนอโดยพรรคประชาชาติ และ 4. ร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทุกร่างมีหลักการใกล้เคียงกัน โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายฯ นี้อย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
ในปี 2562 ได้มีการผลักดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ มาแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา และผ่านความเห็นชอบในวันพฤหัสบดีนี้