นายกฯ ระบุจะดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน แก่ชาวกะเหรี่ยงที่หนีการสู้รบมา
2021.03.29
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะพิจารณาดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชน แก่ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากภัยสู้รบในประเทศเมียนมา และหนีมายังประเทศไทย หลังจากทหารเมียนมาโจมตีทางอากาศต่อชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่จังหวัดมื่อตรอ (ผาปูน) ในรัฐกะเหรี่ยง จนต้องหนีออกจากหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัย และส่วนหนึ่งได้ข้ามมายังฝั่งไทย
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามถึงการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประท้วงกับรัฐบาลทหารว่า ไทยพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ที่อพยพมายังประเทศไทย
“เราก็ทราบถึงปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เราก็มีการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ก็ขอให้เป็นเรื่องภายในของเราไปก่อน เพราะว่าเราก็ไม่อยากให้มีการอพยพเข้ามาในพื้นที่ของเรา แต่เราก็ดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว “เมื่อมีการสู้รบมันก็มีการอพยพ เราก็ต้องเตรียมแก้ปัญหาตรงนี้อยู่แล้ว แต่ตรงไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาในชั้นต้นของเราไปก่อน เมื่อมันเกิดเหตุการเกิดขึ้น ค่อยมาว่ากันอีกครั้งนึงนะ”
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การที่ไทยส่งตัวแทนไปร่วมวันกองทัพเมียนมา 27 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางทหาร
“ในส่วนของการส่งตัวแทน มันเป็นช่องทางที่เราเรียกว่าทางทหารที่จำเป็น เราพยายามจะติดตาม วันนี้เราต้องหาว่ากลไกอะไรต่าง ๆ ที่เราสามารถจะติดตามได้ในเรื่องของการพัฒนาทางการเมืองในพม่า หรือแม้กระทั่งความรุนแรงอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนะครับ และเราเองก็เป็นประเทศที่มีดินแดนติดกัน ก็เห็นว่ามันมีผลกระทบด้วยกันทั้งหมดนั่นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าประเทศไทยสนับสนุนทหารเมียนมาหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ตอบว่า “ผมไม่เข้าใจ ผมไม่เข้าใจ คงไม่มีใครสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนละมั้ง”
ด้านนายธานี แสงรัตน์ ได้เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
“ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่หนีภัยการสู้รบหรือภัยสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ตามหลักสากลด้านมนุษยธรรม ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ผู้หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านมายาวนาน… ไทยเคยรับผู้หนีภัยจากเมียนมากว่าแสนคน ในช่วงปี 2527 มีการตั้ง พื้นที่พักพิงชั่วคราวใน 4 จังหวัด และจนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้หนีภัยอยู่ในความดูแลกว่า 8 หมื่นคน ดังนั้น หน่วยงานไทยในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา มีประสบการณ์ และแนวปฏิบัติ รองรับสถานการณ์ที่มีลักษณะนี้อยู่แล้ว” นายธานี ระบุ
กองทัพอากาศเมียนมาถล่มผาปัน มาตั้งแต่วันเสาร์
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา และได้มีการจัดงานฉลองในกรุงเนปิดอว์ โดยประเทศรัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทย ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานด้วย ขณะที่หลายประเทศได้ปฏิเสธการเข้าร่วม และในตอนค่ำวันเดียวกัน กองทัพเมียนมาอากาศได้ใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศต่อเป้าเหมายในบ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ (ผาปัน) รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตกองพลที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) อย่างน้อย 3 รอบ
เดวิด ยูแบงค์ อดีตทหารรบพิเศษสหรัฐ และผู้ดำเนินองค์กรเอ็นจีโอ Free Burma Ranger ซึ่งให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงมาหลายทศวรรษกล่าวว่า ในการโจมตีในหุบเขาเดปู่โน่ เมื่อคืนวันเสาร์และเช้าวันอาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย
นอกจากนี้ กองกำลังทหารเมียนมา ยังได้โจมตี ดูเสอะทู่ เคล่อลุยทู่ และดูปลาย รวมถึงในเมืองย่างกุุ้ง ทำให้สื่อท้องถิ่นเมียนมา ระบุว่า เฉพาะวันเสาร์วันเดียว มีผู้เสียชีวิตถึง 114 ราย ทำให้จนถึงปัจจุบัน มีฝ่ายผู้ประท้วงการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเสียชีวิตแล้วกว่า 400 ราย
ในวันนี้ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends Without Borders Foundation) ได้กล่าวว่า ยังมีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงราวกว่า 3,000 คน หลบภัยอยู่ใกล้ริมน้ำสาละวิน โดยมีส่วนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ไทยผลักดันกลับจากประเทศไทย ในตอนเย็นวันนี้ 29 มีนาคม 2564 โดยคนเหล่านี้ไม่สามารถกลับคืนชุมชน เนื่องจากความหวาดกลัว
ในวันเดียวกันนี้ นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเลขผู้หนีภัยสู้รบที่แน่ชัด
“ทหารเขาไม่ให้หน่วยงานอื่นเข้าไป หรือให้ข้อมูล เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ก็มีมาจริงนั่นแหละ แต่อยู่ในการควบคุมของทหาร พื้นที่ตรงนั้นเขาไม่ได้ส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย ความชัดเจนน่าจะมีพรุ่งนี้ (วันอังคาร) กระทรวงมหาดไทยจะประชุมรับมอบนโยบาย ผู้ว่าฯ อาจจะแถลงการณ์ อยู่ตรงไหน น่าจะมีความชัดเจนระดับนึง ตอนนี้ ก็อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่แรกรับ ทหารเขาวางแผนไว้สัก 5 จุด” นายสังคมกล่าว
ขณะเดียวกัน สถานีวิทยุสามหมอกเรดิโอ เอฟเอ็ม 100 เมกะเฮิรตซ์ ของกรมทหารพรานที่ 36 จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวอ้างถึงการเปิดเผยของ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผจว. แม่ฮ่องสอน ว่ามีคนจากประเทศเมียนมาอพยพมายังอำเภอแม่สะเรียง และสบเมย หลายร้อยคน
“นายสิธิชัย จินดาหลวง เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เตรียมพร้อมในทุกด้าน มีชาวเมียนมาบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในประเทศ จำนวนหลายร้อยคนได้ข้ามฝั่งมายังแนวตะเข็บชายแดนไทยจริง แล้วก็ได้พำนักอยู่ในจุดแรกรับ คือ ที่ตะเข็บชายแดนเท่านั้น… ฝั่งบริเวณตะเข็บชายแดนอำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมยเป็นเรื่องจริง ซึ่งทางจังหวัดเองก็ได้เตรียมหารือกับกระทรวงมหาดไทย กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (วันอังคาร)... ย้ำว่า ชาวเมียนมาที่ข้ามฝั่งมา ยังคงอยู่บริเวณตะเข็บชายแดน ยังไม่มีเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน” ตอนหนึ่งของรายงาน ระบุ
ด้าน น.ส.แอ (สงวนนามสกุล) ชาวกะเหรี่ยง สัญชาติเมียนมาอายุ 24 ปี ซึ่งปัจจุบัน อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองไม่สามารถติดต่อญาติในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงได้
“ญาติที่อยู่ที่นั่นติดต่อมาบอกว่า ตอนนี้ทหารพม่าไปยิงกะเหรี่ยง ได้ยินว่ากะเหรี่ยงจะอพยพมาไทย แต่ก็ยังไม่เห็นข้ามมา เชื่อว่าตอนนี้น่าจะหลบซ่อนอยู่ แต่วันนี้ทั้งวัน ก็ไม่สามารถติดต่อลูกพี่ลูกน้องที่เป็นกะเหรี่ยงในฝั่งโน้นได้ ก่อนหน้านี้เขาบอกว่า เขาขาดแคลนเรื่องอาหาร เขาอยู่ตรงข้ามกับสบเมย เขาต้องการช่วยเหลือคน บอกว่าทางบ้านถูกพม่าไปยิงเสียหาย คนบาดเจ็บเยอะ เขาก็ต้องการความช่วยเหลือ อยากได้อาหารแห้งจากฝั่งไทย” น.ส.แอ กล่าวผ่านโทรศัพท์
เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปยัง นายอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถึงสถานการณ์ผู้อพยพชาวเมียนมา ได้รับคำตอบว่า ทั้งสองอำเภอยังไม่มีการรับผู้อพยพจากประเทศเมียนมา
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอีกหลายคน โดยแต่งตั้งนายมิน ส่วย รองประธานาธิบดีให้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว ทั้งได้ตัดระบบสื่อสาร ยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์บางช่อง โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้เพื่อตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยนางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ โดยรัฐบาลยืนยันว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ และจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี
หลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมียนมาได้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศเมียนมาก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของรัฐบาลทหาร ทำให้กองทัพเริ่มใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม จนเริ่มมีประชาชนบางส่วนอพยพออกนอกประเทศไปยังประเทศอินเดีย บังกลาเทศ รวมถึงไทย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน