ว่าที่ทูตสหรัฐฯ ประจำไทยสัญญาช่วยไทยกดดันรัฐบาลทหารพม่า
2022.07.13
วอชิงตัน
โรเบิร์ต โกเด็ก ผู้ที่ประธานาธิบดีไบเดนเสนอชื่อให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย บอกแก่คณะกรรมาธิการวุฒิสภาเมื่อวันพุธว่า เขาจะกดดันประเทศไทยให้ลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากเมียนมา เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารกระทำ “ความโหดร้ายทารุณที่น่าพรั่นพรึง”
โรเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก ให้คำมั่นนี้ขณะตอบคำถามของวุฒิสมาชิก เอ็ด มาร์กี ซึ่งยกรายงานจาก ฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่ว่า ไทยซื้อน้ำมันและก๊าซถึงร้อยละ 80 จากปริมาณทั้งหมดที่รัฐบาลเมียนมาส่งออก
“เรากำลังพยายามหาทางให้ไทยกดดันรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้น และกำลังหารือกันถึงทางเลือกทั้งหมด รวมถึงการดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของน้ำมันและก๊าซ” โกเด็ก บอกแก่คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา ซึ่งซักถามเขาและผู้ได้รับเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกสามคน รวมทั้งผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
เขาสัญญาต่อหน้าสมาชิกคณะกรรมาธิการฯ ว่า เขาจะมุ่งเน้นความพยายามร่วมมือกับไทยเพื่อกดดันเมียนมา
“รัฐบาลทหารพม่ายังคงกระทำการอันโหดร้ายและน่าพรั่นพรึงต่อไป เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดการกระทำเช่นนี้” เขากล่าวโดยเรียกชื่อเดิมของเมียนมา “พม่าและการกระทำอันโหดร้ายทารุณของรัฐบาลทหารพม่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการหารือกับไทย”
รายงานเมื่อเดือนมกราคมของ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch: HRW) ระบุว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งดำเนินงานโดยรัฐบาลไทย มีส่วนในการสร้างรายได้ส่วนใหญ่ให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา โดยไทยซื้อก๊าซธรรมชาติที่เมียนมาผลิตจากแหล่งผลิตก๊าซยาดานา (Yadana) และซอติกา (Zawtika) ถึงร้อยละ 80 ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่รัฐบาลพม่าส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.62 หมื่นล้านบาท)
“ผมได้พยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทำอย่างอียู และคว่ำบาตรกิจการน้ำมันและก๊าซของเมียนมา” เอ็ด มาร์กี วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์ พรรคเดโมแครต บอกโกเด็ก โดยเขาหมายถึงสหภาพยุโรป
นับตั้งแต่มีการรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารพม่าได้จำคุกผู้นำฝ่ายค้านและกระทำการรุนแรงที่คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 2,000 คน ตามรายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) องค์กรนอกภาครัฐ ที่มีสำนักงานในประเทศไทย
โรเบิร์ต โกเด็ก (ซ้าย) ขณะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเคนยา ช่วยนางลอร์รี โกเด็ก แมกนัสสัน ภรรยา ถือเทียนในงานครบรอบ 20 ปี รำลึกเหตุการณ์ระเบิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไนโรบี เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 หลังเหตุระเบิด ภรรยาของเขาได้รับบาดเจ็บจนเป็นอัมพาตและต้องนั่งรถเข็น (แอนดรู คาสุกุ/เอพี)
การมาเยือนไทยของ นายบลิงเคน
การพิจารณาและซักถามของวุฒิสภามีขึ้นหลังการเยือนไทยของ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ผู้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลเมียนมา หลังการพบปะกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตผู้นำการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557
บลิงเคนกล่าวว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ยุติความรุนแรงที่โหดร้าย และนำประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย พร้อมขอให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564
ฉันทามติดังกล่าว ซึ่งทำขึ้นในการประชุมสุดยอดวาระฉุกเฉินระหว่างผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกรุงจาการ์ตาในเดือนนั้น เรียกร้องให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงในประเทศทันที การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนกรณีเมียนมา ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้พบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“แต่เราไม่เห็นความเคลื่อนไหวในทางที่ดีเลย ตรงกันข้าม เรากลับเห็นการกดขี่ประชาชนพม่าต่อไป” บลิงเคนกล่าว และบอกว่าสมาชิกฝ่ายค้านได้ถูกจำคุกหรือถูกเนรเทศ “รัฐบาลทหารไม่ได้กำลังทำสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับประชาชน”
ในรายงานเมื่อเดือนมกราคมที่ระบุว่า ปตท. ซื้อน้ำมันจากเมียนมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) บอกว่า หลายวันก่อนหน้านี้ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่คือ เชฟรอน (Chevron) และ โททัลเอเนอร์จีส์ (TotalEnergies) ได้ประกาศแผนที่จะถอนตัวออกจากเมียนมา
หลายเดือนก่อนหน้านี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานในนิวยอร์ก และองค์กรนอกภาครัฐอีก 76 องค์กร ได้เรียกร้องให้ ปตท. งดการขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจน้ำมันกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยบอกว่า ปตท. ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสำรวจน้ำมันในเมียนมาเป็นเวลาสามทศวรรษแล้ว และได้จ่ายเงินหลายหมื่นล้านบาทให้แก่รัฐบาลเมียนมา
“แต่ปริมาณการผลิตที่ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ ปตท. เพิ่มการลงทุนในโครงการขั้นกลางน้ำ (midstream) และปลายน้ำ (downstream) ในเมียนมา โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น ‘ผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรายใหญ่สุดของเมียนมา’ HRW กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564
รัฐบาลทหารของไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกองทัพพม่า และสงวนท่าทีมาโดยตลอดไม่วิพากษ์วิจารณ์พม่า นับตั้งแต่ที่กองทัพพม่าก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อปีที่แล้ว
เมื่อต้นเดือนนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่กับข่าว เครื่องบินรบของพม่าบินล้ำน่านฟ้าไทย ระหว่างการต่อสู้อย่างดุเดือดในฝั่งพม่า แม้ว่า กองทัพอากาศไทยยังได้รีบส่งเครื่องบินขับไล่สองลำไปยังจุดเกิดเหตุก็ตาม
“นี่เป็นเรื่องที่มองดูอาจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำให้เรื่องใหญ่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกหรือไม่ ซึ่งวันนี้เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว” พลเอก ประยุทธ์ กล่าวในตอนนั้น
โรเบิร์ต โกเด็ก นักการทูตมากประสบการณ์ ล่าสุดดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักกิจการแอฟริกา โดยเข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 วันเดียวกับวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเคนยา
คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาและซักถามเมื่อวันพุธ