นักวิเคราะห์เผย ไทยอาจเปลี่ยนจุดยืนหลังงานประชุมกับรัฐบาลเงาเมียนมา
2024.03.07
กรุงเทพฯ

ตัวแทนรัฐบาลเงาของเมียนมาเข้าร่วมวงเสวนาโดยรัฐสภาไทย อาจส่งสัญญาณได้ว่า ประเทศไทยกำลังเลือกใช้วิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปในการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังประสบปัญหาสงคราม
ท่าทีของรัฐสภาไทยกำลังกลายเป็นประเด็นร้อน ภายหลังที่รัฐสภาไทยเชิญอดีตผู้นำเมียนมาที่ถูกขับออกนอกประเทศ ผู้เป็นสมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมาที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่กลับถูกรัฐประหารในปี 2564 และก่อตั้งรัฐบาลคู่ขนานนี้ขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2564 มาเพื่อหารือวิกฤตการณ์ทางการเมืองของเมียนมา
องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งไทย และต่างประเทศ ร่วมด้วยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จัดงานประชุมสัมมนาภายใต้หัวข้อ “3 ปีหลังรัฐประหาร สู่ประชาธิปไตยเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย” ที่รัฐสภาเป็นเวลา 2 วัน ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2-3 มีนาคม 2566 เพื่อหารือในหัวข้อประชาธิปไตยและความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ถกเถียงประเด็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเมียนมา ซึ่งตกอยู่ในความขัดแย้งจากการรัฐประหารมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
วิทยากรในงานประชุมครั้งนี้คือ ซิน มาร์ อ่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติประจำเมียนมา และ จอ โม ตุน ผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาชาติในนิวยอร์ก รวมถึงผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา องค์กรภาคประชาสังคม และผู้นำกลุ่มเยาวชนทั้งหลายเองก็เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ทว่าไร้วี่แววของผู้แทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาที่รักษาการในปัจจุบัน
“การประชุมแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ เพราะรัฐบาลกังวลว่าจะสูญเสียความสัมพันธ์พิเศษบางอย่างกับรัฐบาลทหารเมียนมา” ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
เธอชี้ว่า เหตุผลที่จัดงานนี้ขึ้น เพราะรัฐบาลไทยควรต้องวางแผนกันว่า กรณีเกี่ยวกับเมียนมา จะมีฉากทัศน์อะไรบ้างหลังจากนี้ เช่น หากประเทศพม่าต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ เราจำเป็นจะต้องประเมินทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับชนกลุ่มน้อยว่าจะไปทางใด
“กระทรวงการต่างประเทศจึงไม่ควรติดต่อกับแค่ สภาบริหารแห่งรัฐ หรือรัฐบาลทหาร ควรเปิดหน้าพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย โดยไม่ต้องเกรงใจที่จะสูญเสียความสัมพันธ์พิเศษกับรัฐบาลทหารเมียนมา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์” ลลิตา กล่าว
ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการตรวจสอบด่านศุลกากรที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 (เอพี)
ทว่าการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้กลับสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับรัฐบาลทหารเมียนมามากถึงขั้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้รับจดหมายเตือนว่า การจัดงานประชุมครั้งนี้จะทำลายสายสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเมียนมา
ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้กล่าวปาฐกถาพิเศษ แต่การกล่าวขึ้นพูดครั้งสำคัญกลับถูกยกเลิกไปอย่างกะทันหันโดยไม่ได้ให้เหตุผล
“เราไม่มีความเห็นใดๆ ในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศมิใช่ผู้จัดงานสัมมนาในครั้งนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดี
รัฐบาลไทยเริ่มออกแผนการที่ตื่นตัวและใกล้ชิดมากขึ้นกับประเทศเมียนมานับตั้งแต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินเข้ามาเถลิงอำนาจเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแผนการริเริ่มหลักคือการเปิดระเบียงมนุษยธรรมในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านอุปโภคและยารักษาโรคให้กับประชากรเมียนมาที่ไร้ที่อยู่
รัฐมนตรีต่างประเทศ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับรองแผนการสนับสนุนดังกล่าวอย่างไม่มีข้อโต้แย้งไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม และยังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อีกด้วย
ทว่าผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือหลายท่าน ยังคงตั้งข้อสงสัยกับการเปิดระเบียงมนุษยธรรม เนื่องจากกรอบที่จำกัดการทำงานจนเกินไปและการขาดการมีส่วนร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในเมียนมา อาจจะไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากนัก
แดเนียล คริเตนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับไทยเพื่อรักษาปัญหาความมั่นคงและความเจริญในภูมิภาค
“ผมชื่นชมความพยายามที่ต่อเนื่องและยืนหยัดของรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ลี้ภัยที่หลบหนีความรุนแรงในประเทศเมียนมาในรายละเอียดและหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินพยายามที่จะเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในบริเวณแนวชายแดนให้มากขึ้นในบริบทของอาเซียน” เขากล่าวในการประชุมทางไกล
ค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมา ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเมย ตรงข้ามพรมแดน อ.แม่สอด ทางตะวันตกของไทย (เอพี)
แม้ว่าจะมีการจัดสัมมนากับสมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่ารัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญกับสานสัมพันธ์อันดีงามกับรัฐบาลทหารของเมียนมา หรือที่รู้จักกันในนามสภาทหาร (Military Council) จากการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564
อดีตเจ้าหน้าที่ทหารชาวเมียนมา และนักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ผู้ขอสงวนนามเพื่อเหตุผลทางความปลอดภัยส่วนบุคคลกล่าวกับเรดิโอ ฟรีเอเชียว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้อาจจะชี้ให้เห็นถึงจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทย
“ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยของสภาทหารเมียนมาที่รักษาการในปัจจุบันกำลังจะเผชิญกับความพ่ายแพ้จากการต่อสู้ในสงคราม ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดน้อยลง และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายก็กำลังถูกเชิญไปเข้าร่วมเวทีถกเถียงต่างๆ” เขากล่าว
รังสิมันต์ โรม สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และหนึ่งในผู้จัดงานสัมมนากล่าวว่า เขาหวังว่างานประชุมในครั้งนี้จะปูทางให้เมียนมาได้มีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์รุนแรงในประเทศไปสู่แนวทางที่สันติและยั่งยืน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน
หลังจบการสัมมนา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เขียนในแพลตฟอร์ม X ของตนว่าพรรคฯ จับตาดูสถานการณ์การเมืองของเมียนมาอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
“การสนับสนุนให้ประเทศเมียนมาได้มาซึ่งสันติสุขและความเป็นประชาธิปไตยนั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติไทย ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะออกกฎหมายและสนับสนุนนโยบายทางการเมืองของไทยให้มีความสอดคล้องกับประเทศเมียนมาผ่านอำนาจนิติบัญญัติในมือเรา” เขาระบุ
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน