ศาลรับฟ้อง เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์ คดี ม.112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.09
กรุงเทพฯ
ศาลรับฟ้อง เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์ คดี ม.112 นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (ซ้าย) และนายอานนท์ นำภา ชูสามนิ้วทักทายผู้สนับสนุน เมื่อเดินทางมาถึงศาลอาญา หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันและคดีอื่น ๆ ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ ศาลอาญารับฟ้อง คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ ของนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ จากคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และจัดกิจกรรมม็อบเฟสท์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 โดยปฏิเสธการให้ประกันตัว เนื่องจากเห็นว่า คดีมีโทษสูง และอาจกระทำผิดซ้ำ ทำให้ทั้งหมดโดนส่งตัวไปฝากขังทันทีที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลคดีของ ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ผ่านทวิตเตอร์ว่า ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวบุคคลทั้ง 4 คน หลังจากที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง

“ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว "เพนกวิน" พริษฐ์ ที่ถูกสั่งฟ้อง 3 ข้อหา รวม #ม112 จากคดีชุมนุม Mobfest ​ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับมีคำสั่งไม่ให้ประกัน สมยศ-อานนท์-ปติวัฒน์-พริษฐ์ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วยเหตุผลเดียวกัน” ตอนหนึ่งของ ทวีตเปิดเผย

“ศาลอาญาระบุเหตุไม่ให้ประกันตัวในทั้งสองคดีแบบเดียวกันว่า คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้ง มีเหตุควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ

การฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 คน สืบเนื่องจากในช่วงเช้า คนทั้งหมดได้เดินทางไปฟังคำสั่งของพนักงานอัยการตามนัด ที่อาคารสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด ได้แถลงต่อสื่อมวลชนถึงรายละเอียดการสั่งฟ้องว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องใน 2 คดี และได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเห็น

“เรื่องแรกผู้ต้องหารายเดียว นายพริษฐ์ เพนกวิน ชิวารักษ์ ถูกแจ้งข้อหา 3 ข้อหา ข้อหาแรกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาที่สองกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่การกระทำภายใต้ของรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 116 ข้อหาที่สามคือ จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยฝ่าฝืนพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 พนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7 มีคำสั่งฟ้องนายพริษฐ์ ในสามข้อหา” นายประยุทธ กล่าว

“อีกสำนวนหนึ่งกล่าวหาผู้ต้องหาหลายคน คือ นายพริษฐ์, นายอานนท์ นำภา, นายปติวัฒน์ หรือหมอลำแบงค์ สาหร่ายแย้ม, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทั้งสี่ท่านถูกกล่าวหา 11 ข้อหา พนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ทุกข้อกล่าวหา และให้นับโทษต่อของพริษฐ์ จากสำนวนก่อน ผู้ต้องหามีการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ซึ่งคณะพนักงานอัยการเห็นว่า คำร้องไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง เนื่องจากในสำนวนมีหลักฐานพยานเพียงพออยู่แล้ว” นายประยุทธ กล่าวเพิ่มเติม

โดยทั้งสองคดีดำ อ.286/2564 และ อ.287/2564 ศาลนัดวันที่ 15 มีนาคม นี้

ทั้งนี้ คดีแรกเกี่ยวข้องกับการจัดงานม็อบเฟสท์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีนายพริษฐ์ เป็นผู้ต้องหาแค่รายเดียวใน 3 ข้อหา ขณะที่คดีที่สองเกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง โดยมี นายพริษฐ์, นายอานนท์, นายปติวัฒน์ และนายสมยศ ใน 11 ข้อหา ประกอบด้วย ม.112, ม.116, ม.215, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กระทำการกีดขวางทางสาธารณะ, วางตั้งสิ่งของยื่นกีดขวางทางสาธารณะ, ตั้งวางสิ่งของกีดขวางถนน, ทำลายโบราณสถาน, ทำให้เสียทรัพย์ และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต

“ทุกคนรู้ว่าเราเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ถ้าเกิดว่า คุณจับทุกทีที่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ จับแล้วก็รีบส่งฟ้อง เพื่อที่จะรีบเอาเข้าคุกเนี่ย ผมถามว่า นี่คือสัญญาณใช่หรือไม่ว่า ชนชั้นนำไทยจะไม่ยอมรับฟังเสียงของประชาชน เสียงของคนรุ่นใหม่ เลือกที่จะใช้กฎหมายปิดกั้นและทำร้ายประชาชน” นายพริษฐ์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชน ก่อนถูกพาตัวไปส่งฟ้องที่ศาลอาญา

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยเยาวชนและประชาชนที่ปัจจุบัน เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อเรียกร้องให้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การชุมนุมกระจายเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง รวมถึงมีการดำเนินคดีกับแกนนำ และผู้ชุมนุมหลายคน

หลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย เฟซบุ๊กแฟนเพจราษฎรได้ประกาศนัดชุมนุมทันที ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน

"ราษฎรทั้งหลาย จงออกมาร่วมแสดงพลังให้โลกรับรู้ว่า เราไม่ยินยอมให้กฎหมายที่ไม่ควรมีอยู่ในประเทศประชาธิปไตย อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากักขังความคิด ปิดกั้นเสรีภาพของเราอีกต่อไป" 

โดยมีคนร่วมชุมนุมกว่า 100 คน มีการปราศรัยโจมตีการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และโจมตีรัฐบาลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การชุมนุมเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 17.00 น. ก่อนจะเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 20.00 น. ด้วยความสงบ

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ระบุในแถลงการณ์ วันนี้หลังจากที่ศาลรับคำฟ้องและควบคุมตัวทั้งหมด ว่า “การควบคุมตัวประชาชนที่ออกมาแสดงออกอย่างสันติ ถือเป็นการย้อนกลับไปสู่วันในยุคมืด เมื่อประชาชนทถูกฟ้องด้วยข้อหาอาญานี้ ที่ต้องถูกกักตัวในเรือนจำเป็นเวลาหลายปี ในระหว่างรอการพิจารณาคดีที่ดูเหมือนจะถูกลากยาวออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ 

“รัฐบาลไทยควรตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง แทนที่จะจับกุมพวกเขาเข้าคุกเป็นเวลานาน ๆ ด้วยข้อหาที่ไร้เหตุผล” นายอดัมส์กล่าว “ทางการไทยควรยุติการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ โดยด่วน และควรร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติและอื่น ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการชุมนุมจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 291 คน ใน 183 คดี ในนั้นเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี อย่างน้อย 9 ราย โดยแบ่งเป็น 1. มาตรา 112 อย่างน้อย 55 ราย ใน 42 คดี 2. มาตรา 116 อย่างน้อย 64 ราย ใน 20 คดี 3. มาตรา 110 ผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย ใน 1 คดี 4. มาตรา 215 อย่างน้อย 99 ราย ใน 14 คดี 5. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 222 ราย ใน 86 คดี และ 6. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 84 ราย ใน 55 คดี

สภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติแก้รัฐธรรมนูญ

ในวันเดียวกัน ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 งดออกเสียง 15 จาก ผู้ร่วมประชุมทั้งสิ้น 696 คน เห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่ ส.ส. กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยญัตติยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้ ถูกเสนอโดยสมาชิกรัฐสภา 73 คนนำด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

นายไพบูลย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเพื่อให้แน่ใจว่า สมาชิกรัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้

“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว.สบายใจ และการลงมติวาระ 3 ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์ ระบุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนในนามราษฎร ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2563 ประชาชนโดยการนำของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เดินเท้าเข้ายื่นรายชื่อประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 100,732 รายชื่อที่อาคารรัฐสภา

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ ซึ่งเป็นของฝ่ายค้าน 1 ญัตติ ฝ่ายรัฐบาล 1 ญัตติ พรรคเพื่อไทย 4 ญัตติ และประชาชน 1 ญัตติ โดยลงมติรับญัตติของพรรคฝ่ายค้าน และพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างละ 1 ญัตติ นอกนั้นลงมติไม่รับ และ 19 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 445 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 49 คน ใช้เวลาหาทางชำเรา 120 วัน กระทั่งในวันอังคารนี้ มีที่ประชุมรัฐสภาได้เสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติแก้รัฐธรรมนูญ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง