รมว. กลาโหมสหรัฐเยือนไทยกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.06.13
กรุงเทพฯ
รมว. กลาโหมสหรัฐเยือนไทยกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร นายลอยด์ เจ. ออสติน ที่สาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (ซ้าย) และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนเคารพแถวกองเกียรติยศ ที่กระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ วันที่ 13 มิถุนายน 2565
เอเอฟพี

นายลอยด์ เจ. ออสติน ที่สาม (Lloyd J. Austin III) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันจันทร์นี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหารของทั้งสองประเทศ ขณะที่มีผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งแสดงความกังวลว่า สหรัฐอเมริกาจะดึงประเทศไทยเข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารกับจีน

นายลอยด์ และพล.อ. ประยุทธ์ ได้พบปะครั้งหนึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนไทย-สหรัฐ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ และฝ่ายไทยได้เชิญฝ่าย รมว.กลาโหมสหรัฐคนใหม่ มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยได้เดินทางมาถึงกรุงเทพเมื่อตอนบ่ายวันอาทิตย์ผ่านมา  

“เราจะสร้างความเข้ากันได้ในการปฏิบัติการด้วยการฝึกและซ้อมรบเพื่อเพิ่มความสามารถในทุกมิติ ตั้งแต่ความมั่นคงทางทะเล การทำลายภัยคุกคาม จนถึงการแพทย์ทหาร และเรายังเพิ่มความร่วมมือในโดเมนใหม่ ๆ เช่น ด้านอวกาศ และไซเบอร์สเปซ” นายลอยด์ กล่าวก่อนที่จะเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ และระบุว่าจะมีการแบ่งปันความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่มีความตึงเครียดมากขึ้น

หลังการพบปะของสองฝ่าย พลเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวผ่านเอกสารข่าวว่า สองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันต่อสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาค อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ และเมียนมา โดยไทยสนับสนุนการดำรงบทบาทที่สร้างสรรค์และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และยืนยันในท่าทีของอาเซียน โดยที่ผ่านมา ไทยได้ให้การช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมต่อเนื่องมา และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขัดแย้งที่ไม่พึงประสงค์ของภูมิภาค” พล.อ. คงชีพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้งสองไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับทางผู้สื่อข่าว แต่มีการคาดการณ์ว่า ฝ่ายไทยอาจจะหยิบยกเรื่องที่ไทยต้องการจัดซื้อเครื่องบินรบล่องหนแบบ F-35 จากสหรัฐ ซึ่งทางกองทัพอากาศไทยได้ของบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท สำหรับ F-35 สองเครื่องแรกและจะจัดซื้อให้ครบ 8 ลำ ในเวลาถัดไปหากว่าสหรัฐยอมขายเครื่องบินสมรรถนะสูงแบบนี้ให้ฝ่ายไทย

ก่อนการเดินทางมาถึงประเทศไทย นายลอยด์ ได้ร่วมการประชุมแชงกรีลา (Shangri-la Dialogue) ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียเ-แปซิฟิก มื่อวันเสารอาทิตย์นี้ ขณะที่ พลเอก เว่ย เฟิ่งเหอ รัฐมนตรีว่าการกลาโหมของประเทศสารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวว่า จีนพร้อมที่จะทำสงครามหากว่าไต้หวันที่ฝ่ายจีนถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของตนมีการพยายามประกาศอิสรภาพ

และในระหว่างการพบปะของนายลอยด์ และพล.อ. ประยุทธ์ ในวันนี้ กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้มาชุมนุมที่ใกล้กระทรวงกลาโหม เพื่อประท้วงที่ทางการไทยใกล้ชิดสหรัฐ และเกรงว่าจะมีการเลือกข้างหากมีสงครามกับจีน

“สหรัฐกำลังลากไทยเข้าสู่สงคราม ตามหลักการศัตรูของอเมริกาก็คือศัตรูของไทย ทั้งที่ไทยไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร อยากให้ พลเอก ประยุทธ์ กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม... เราจะไม่หยุด (ประท้วง) ต้องหยุดยั้งอเมริกาที่จะลากเราเข้าสู่สงคราม” นายจตุพรกล่าว

ในปี พ.ศ. 2546 สหรัฐได้ประกาศให้ประเทศไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับสหรัฐมาเกือบ 200 ปีในตอนนั้น เป็นพันธมิตรสำคัญนอกนาโต้ของสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2563 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ 2020 (Joint Vision Statement 2020 for the U.S.–Thai Defense Alliance) 

ในเรื่องนี้ โฆษกกลาโหม กล่าวว่า สำหรับการลงนามในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ เป็นเพียงกรอบแนวคิดและจุดยืนที่มีร่วมกัน มิได้เป็นสนธิสัญญา หรือมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด

ส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ ระบุว่า เพื่อการเสริมสร้างระบบการปฏิบัติแลกเปลี่ยนกันได้และเข้ากันได้ ให้กระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศร่วมมีกิจกรรมกับชาติพันธมิตรอื่น ๆ และพาร์ทเนอร์ที่มีสัศนคติตรงกันในการจัดการกับปัญหาท้าทายในด้านความมั่นคงที่มีความซับซ้อนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง