กระทรวงแรงงานเริ่มนำเข้าแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรก 1 ก.พ.นี้

แรงงานกัมพูชา 446 คน จะเดินทางเข้ามาทางสระแก้วต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.01.27
กรุงเทพฯ
กระทรวงแรงงานเริ่มนำเข้าแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรก 1 ก.พ.นี้ แรงงานข้ามชาติขนถ่ายปลาจากเรือ หลังจากขึ้นเทียบท่า จังหวัดสมุทรสาคร ภาพเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556
เอพี

ชาวกัมพูชากว่าสี่ร้อยคนจะเป็นแรงงานต่างชาติกลุ่มแรกที่จะเดินทางมาทำงานในประเทศ หลังจากที่ทางการไทยได้เห็นชอบเปิดรับแรงงานอีกครั้ง นับตั้งแต่มีการปิดด่านชายแดนในปลายเดือนมีนาคม 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในวันพฤหัสบดี

นายสุชาติ เผยกับสื่อมวลชนว่า กระทรวงแรงงานเปิดให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง แจ้งจำนวนความต้องการที่จะนำเข้าแรงงานข้ามชาติมาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ปัจจุบัน ซึ่งทางการไทยได้อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติ เมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบ MoU แล้ว  

“นายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติกัมพูชา เพื่อทำงานในสถานประกอบการภายในจังหวัดชลบุรี 220 คน และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 6 คน รวม 226 คน โดยทั้งหมดจะทยอยเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และกักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ณ อาคาร อินโดจีน Grand Residence ศูนย์ OQ (Organizational Quarantine) บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด โดยจะต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน”​ นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ ระบุว่า กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการระหว่างประเทศกับกัมพูชาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสามารถนำเข้าแรงงานได้ตามเงื่อนไขที่กระทรวงกำหนด อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศเมียนมา และลาว ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการระหว่างประเทศ ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยจะมีการอนุญาตให้นำเข้าเช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา

ขณะที่ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายจ้างที่ต้องการนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมายยังสามารถแจ้งความประสงค์กับกระทรวงแรงงาน เพื่อขออนุญาตนำเข้าได้ โดยแรงงานจะสามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

นายไพโรจน์ ให้รายละเอียดว่า แรงงานทั้งหมดจะถูกกักตัวในจังหวัดสระแก้ว เป็นเวลา 7 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายในการกักตัวคนละ 8,500 บาท พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ และมีรถของสถานกักตัวมารับจากด่านมายังที่พัก

“ในส่วนคนต่างด้าว หากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้จัดหาวัคซีน และฉีดให้ระหว่างการกักตัว หากดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการและสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย” นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภาคเอกชนไทยต้องการแรงงานจากเมียนมา ลาว และกัมพูชากว่า 400,000 คน เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในประเทศ ซึ่งทางกระทรวงและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นสอดคล้องกัน

กระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติ ลาว เมียนมา และกัมพูชา ประมาณ 1.51 ล้านคน ณ เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งก่อนการรระบาดของโควิด-19 มีแรงงานข้ามชาติซึ่งขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายกว่า 3 ล้านคน

และเมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว สามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ตรวจโรค ทำประกันสุขภาพ และเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในเดือนมีนาคม 2565 และจะทำให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงกุมภาพันธ์ 2566

ผู้ประกอบการ-นักสิทธิแรงงานชี้ค่าใช้จ่ายยังสูง อาจเป็นภาระลูกจ้าง

น.ส. วีจิ ปรัชญาศิลปวุฒิ เจ้าของบริษัท เบค อะ วิช เจ.เอช.ซี จำกัด แสดงความเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ หากถูกผลักให้เป็นภาระของนายจ้างทั้งหมดอาจสูงเกินไป

“ปกติ แรงงานของเราจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของเขาเองกับนายหน้า ซึ่งถ้าหากมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานช่วงโควิด ตกคนละหมื่นกว่าบาท ถือว่าสูงมาก ถ้าขาดแคลนแรงงานจริง ๆ และต้องการไม่เยอะอาจจะพอจ่ายไหว แต่ถ้าบริษัทมีความต้องการ ระดับ 100 คน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายราว 1 ล้านบาท เพียงแค่เอาเข้ามาในขั้นแรก ถือว่าบริษัทอาจจะรับไม่ไหว” น.ส. วีจิ กล่าว

ขณะที่ น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) เห็นว่า “ค่านายหน้า ค่าขออนุญาต ค่ากักตัว รวมแล้วร่วม 2 หมื่นบาท มันสูงเกินไป ถึงรัฐจะบอกว่าเก็บจากนายจ้าง แต่ผู้ประกอบการเล็ก ๆ คงจ่ายไม่ไหว และต้องเก็บเงินจากลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้เป็นภาระหนี้ของลูกจ้างเอง และจะกลายเป็นปัญหา รัฐเองก็ไม่มีความชัดเจนในการควบคุมตรงนี้”

ด้าน นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) กล่าวว่า รัฐจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวสำหรับบริหารความต้องการแรงงานในประเทศ

“ปัจจุบัน รัฐยังไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรการ กระทรวงแรงงานต้องมีแผนระยะยาว เมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น การเดินทาง การเปิดด่าน จะกลับสู่ภาวะปกติ รัฐควรชัดเจนในแนวทาง และไม่ควรใช้การนำเข้าแรงงานเป็นวิธีจัดสรรแรงงานหลัก เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัย การเมืองในพม่าที่อาจทำให้นำเข้าแรงงานไม่ได้ตามความต้องการ ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” นายอดิศร กล่าว

เปี่ยม จิตรประวัติ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง