ศบค. อนุมัตินายจ้างนำเข้าแรงงานข้ามชาติ คาดเริ่มได้ต้นเดือนธันวาคมนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.12
กรุงเทพ
ศบค. อนุมัตินายจ้างนำเข้าแรงงานข้ามชาติ คาดเริ่มได้ต้นเดือนธันวาคมนี้ แรงงานชาวเมียนมาเตะตะกร้อ ที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 3 มกราคม 2564
ศรุมณย์ นรฤทธิ์/เบนาร์นิวส์

คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติในวันศุกร์นี้ ให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าแรงงานจากลาว เมียนมา และกัมพูชา ตามบันทึกความเข้าใจฉบับพิเศษที่ต้องการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานคาดว่าจะพร้อมให้นายจ้างขอนำเข้าแรงงานได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ เป็นต้นไป

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุม ศบค. ซึ่งมีพลเอกประยุท์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

“ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. ท่านก็อนุมัติหลักการ จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้… คนที่กำลังลักลอบผู้ที่เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ตอนนี้ หยุดเลยครับ เพราะมาตรการนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว ท่านเข้ามาอย่างถูกต้องดีกว่า” นพ. ทวีศิลป์ กล่าว 

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบัน ทางกระทรวงฯ กำลังเร่งขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยเดิมให้แล้วเสร็จภายใน 30 พฤศจิกายน นี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มให้ผู้ประกอบการทำเรื่องขอนำเข้าแบบ MoU 

“เรากลัว(แรงงาน)ผิดกฎหมาย นี่คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ถ้าท่านรู้สึกไม่พอ ท่านก็ขอ MoU” นายสุชาติกล่าว และระบุว่า ทางกระทรวงแรงงานวางแผนในการเปิดจุดรับแรงงานข้ามชาติไว้ 5 แห่ง คือ ตรงข้ามเมียนมา 2 จุด คือ ระนองและแม่สอด ด้านชายแดนกัมพูชาเปิดด่านที่สระแก้ว ส่วนทางด้านลาว จะเปิดด่านที่หนองคายและมุกดาหาร 

“แต่ถ้าที่กักตัวไม่พอ เราจะเปิดด่านอีก หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ให้สำรวจผู้ประกอบการมีประมาณ 3 แสนกว่าคน ที่มีความต้องการ” นายสุชาติ กล่าวโดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่อคน จะอยู่ระหว่าง ​​9,700 ถึง 26,720 บาท 

ในปัจจุบัน กระทรวงแรงงานระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทย 2.3 ล้านคน ซึ่งเอ็นจีโอประเมินว่าหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 แล้วจากนั้นรัฐบาลได้ประกาศปิดชายแดน ทำให้มีแรงงานเดินทางกลับบ้านเกิดประมาณหนึ่งล้านคน เพราะบางส่วนตกงาน และต้องหนีความลำบากจากการอยู่ในประเทศไทย ขณะที่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด มีแรงงานข้ามชาติทั้งแบบขึ้นทะเบียนถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกว่า 4 ล้านคน 

หลังการระบาดและมีแรงงานเดินทางกลับประเทศ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นบ้าง ได้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานที่เดินทางผ่านพรมแดนธรรมชาติ ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ศบค. ระบุว่า มีผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเกือบหกหมื่นคน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา 

สำหรับขั้นตอนที่ ศบค. ได้อนุมัติการนำเข้าแรงงาน ในวันนี้นั้น ประกอบด้วย 1. นายจ้างยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงาน โดยนายจ้างต้องรับผิดชอบค่ากักตัว และค่าตรวจโรคเอง 2. กรมการจัดหางานทำหนังสือแจ้งความต้องการไปยังประเทศต้นทาง 3. ประเทศต้นทางเปิดรับสมัคร คัดเลือก และทำสัญญาส่งข้อมูลกลับมาที่กรมการจัดหางาน 4. นายจ้างยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนแรงงาน โดยต้องมีหลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19  และทำประกันสุขภาพ 5. กรมการจัดหางานตรวจเอกสาร และให้สถานเอกอัครราชทูตเป็นผู้อนุมัติ 6. แรงงานเดินทางมายังประเทศไทย พร้อมกับหนังสืออนุญาตทำงาน ผลตรวจโควิด-19 อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง และหลักฐานการฉีดวัคซีน 7. แรงงานที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มกักตัวเฝ้าระวังโรค 7 วัน และแรงงานที่ยังไม่ฉีดหรือฉีดวัคซีนเข็มเดียวกักตัว 14 วัน และ 8. แรงงานเข้ารับการอบรมออนไลน์ และรับใบอนุญาตทำงาน

ต่อมาตรการดังกล่าว นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าแรงงานข้ามชาติ แต่ยังมีข้อกังวลบางอย่าง 

“ที่น่ากังวลคือ ความยุ่งยากเรื่องเอกสารและความล่าช้า โดยเฉพาะยังไม่แน่ใจท่าทีของฝั่งเมียนมา ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบาลทหารจะเป็นอย่างไร เรื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 2 หมื่นกว่าบาทถือว่ายังสูงอยู่ คิดว่าถ้าอยู่ในระดับ 1.5 หมื่นแรงงานน่าจะพอรับได้” นายสมพงษ์ กล่าว

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ตรวจโรค ทำประกันสุขภาพ และเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในเดือนมีนาคม 2565 และจะทำให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงกุมภาพันธ์ 2566 

ในวันศุกร์นี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 7,305 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2 ล้านราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย และรวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1.99 หมื่นราย โดยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แล้วกว่า 83.32 ล้านโดส เป็นผู้ฉีดครบสองเข็ม 35.8 ล้านราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง