สุขขะหรรษา ที่พึ่งด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

สุนทร จงเจริญ
2022.06.08
ตาก
สุขขะหรรษา ที่พึ่งด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เด็กนักเรียนเขียนชื่อตนเองลงบนสมุดที่คุณครูแจกให้ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน วันที่ 1 มิถุนายน 2565
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ขณะที่ประเทศเมียนมา ยังมีเหตุความไม่สงบและการสู้รบอยู่เนือง ๆ บนอีกฝั่งของแม่น้ำเมย ลูกหลานแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลุ่มหนึ่งได้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง ที่ศูนย์การเรียนรู้ สุขขะหรรษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังจากห่างหายจากระบบการศึกษาไปเกือบ 3 ปี จากมาตรการโควิด

ศูนย์การเรียนรู้ สุขขะหรรษา มีเด็กน้อยหญิง-ชาย ในชุดนักเรียน ได้กลับมาเจอครูและเพื่อนของพวกเขาอีกครั้ง ในวันเปิดภาคเรียน 1 มิถุนายน 2565 ที่นี่ห้องเรียนบางห้องมีผนังทำด้วยไม้ไผ่ ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือโทรทัศน์ หรือกระทั่งพัดลม มีเพียงกระดานสำหรับครูใช้ขีดเขียนสิ่งที่สอน โชคดีที่ยังมีโต๊ะและเก้าอี้ให้นักเรียนได้นั่ง

สุขขะหรรษา ก่อตั้งในปี 2549 ตอนนี้มีนักเรียนทั้งหมด 98 คน เด็กส่วนมากมาจากในอำเภอแม่สอด และหลายอำเภอรอบ ๆ ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา และกะเหรี่ยง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้โรงเรียนในจังหวัดตากต้องถูกปิดชั่วคราว สุขขะหรรษาเองก็ต้องถูกปิด

ก่อนหน้านั้นมีศูนย์การเรียนรู้กว่า 70 แห่ง พอปิดชายแดนเด็กหายไปจำนวน 2,000 กว่าคน จากทั้งหมด 12,000 คน หลังจากนั้นก็เกิดความไม่สงบภายในประเทศเมียนมาขึ้นอีก ทำให้มีเด็กที่หายไปและเด็กที่ออกเรียนกลางคัน จนตอนนี้มีเด็กเหลืออยู่ 8,000 คน และศูนย์การเรียนเหลือเพียง 66 แห่ง

ศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ มีสถานะที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา เป็นการอนุโลมให้มีการจัดการศึกษาแกลูกหลานแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ได้มีสถานที่เรียนหนังสืออย่างถูกต้องและปลอดภัย ที่สามารถเรียนภาษาแม่ เพราะหลักสูตรที่ใช้ในศูนย์การเรียนจะเป็นหลักสูตรพม่า ใช้การเรียนการสอนภาษาพม่า และครูที่สอนก็เป็นชาวพม่า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่แท้จริงของนักเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Center) คือ ด้วยพวกเขาไม่ได้มีสัญชาติไทย ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของไทยได้ ที่พึ่งของคนชายขอบเหล่านี้จึงกลายเป็น ศูนย์การเรียนรู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม แทนที่จะเป็นโรงเรียนซึ่งรัฐบาลให้งบประมาณในการดำเนินการ

4-SS-education.jpg

เด็กนักเรียนทั้งหมดในศูนย์การเรียนรู้เดินเรียงไปเข้าแถวในตอนเช้าเพื่อไปเข้าห้องเรียน ในวันเปิดเรียนวันแรก หลังจากปิดไปร่วม 3 ปี วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

1-SS-education.jpg

เด็กนักเรียน ขณะแยกย้ายเดินขึ้นห้องเรียน ที่ศูนย์การเรียนรู้ สุขขะหรรษา ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

3-SS-education.jpg

เด็กนักเรียนชาวเมียนมา ขณะคุยกับครู ในศูนย์การเรียนรู้สุขขะหรรษา จังหวัดตาก วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

9-SS-education.jpg

เด็กนักเรียนถอดรองเท้าด้านล่าง ซึ่งมีเพียงรองเท้าแตะเท่านั้นที่ใส่มาโรงเรียน ก่อนแยกย้ายเข้าห้องเรียน วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

2-SS-education.jpg

นักเรียนชายช่วยครูฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณกระดาน ภายในห้องเรียน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ศูนย์การเรียนรู้สุขขะหรรษา จังหวัดตาก วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

10-SS-education.jpg

ครูเขียนบนไวท์บอร์ด ขณะสอนนักเรียน ในวันเปิดเรียนวันแรก วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

8-SS-education.jpg

อาหารกลางวันที่เด็ก ๆ นำมาจากบ้าน วางเรียงเป็นระเบียบข้างหน้าต่าง ในห้องเรียน วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

9-SS-education.jpg

เด็กชายกินข้าวเที่ยงที่นำมาจากบ้าน ในห้องเรียน โดยมีกับข้าวง่าย ๆ หนึ่งอย่าง ในวันเปิดเรียนวันแรก วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

7-SS-education.jpg

นักเรียนหญิงต้องเดินผ่านสนามหญ้าเพื่อไปเข้าห้องน้ำ ที่อยู่ริมสุดอาณาเขตของศูนย์การเรียน จังหวัดตาก วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง