นักการทูตเอเชียแปซิฟิกเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
2019.08.03
กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ร่วมกันเรียกร้องให้หาทางออก ให้กับความขัดแย้งร่วมกันด้วยสันติวิธี ในระหว่างการประชุมหารือเกี่ยวกับความมั่นคงของภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งที่เพิ่มในทะเลจีนใต้ และการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ของเกาหลีเหนือด้วย
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศและนักการทูตระดับสูงจาก 27 ชาติ รวมทั้ง นายปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังร่วมประชุมกัน ก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายแห่ง ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ประชุม
ตำรวจรายงานว่าผู้มีบาดเจ็บ 4 คน จากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การประชุมก็ยังดำเนินต่อไป โดยมีการหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาคขึ้นมาหารือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปได้ที่จะเริ่มการเจรจาเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนืออีกครั้ง
“อาเซียนมีเป้าหมาย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกัน และความร่วมมืออย่างเป็นกลุ่มก้อนจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการแยกส่วนกันทำงาน” นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นประธานในการประชุมกล่าวกับที่ประชุม ซึ่งเขาหมายความถึงการร่วมมือของสมาชิก 10 ชาติของอาเซียน
รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ยังได้เสริมด้วยว่า “ควรจะมีความพยายามที่จะนำไปสู่การเจรจา เพื่อลดแรงเสียดทาน รวมทั้งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้”
ประเด็นการหารือที่สำคัญ ก็คือ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวหาว่า เกาหลีเหนือกลับมาทดสอบขีปนาวุธอีกครั้ง โดยที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ยิงจรวดพิสัยใกล้ไปตกนอกชายฝั่งทะเลตะวันออกของตนเองสองลูก
นายรี ยอง โฮ รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าทางการวอชิงตันแสดงท่าทีว่าอาจจะกลับมาเปิดการหารือกับทางการเปียงยางอีกครั้งหนึ่งก็ตาม
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ทางการเปียงยางไม่ส่งนักการทูตระดับรัฐมนตรีเข้ามาประชุม ARF ขณะที่ปอมเปโอแสดงความผิดหวังที่นายรี ยอง โฮ ไม่มาร่วมประชุม
นอกจากนี้ เกาหลีเหนือก็ยังไม่แสดงท่าทีใด ๆ ต่อท่าทีของสหรัฐฯ ที่อาจจะเปิดการเจรจาระหว่างกันขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือครั้งล่าสุด ไม่ส่งผลกระทบต่อท่าทีด้านการทหารของสหรัฐฯ แต่อย่างใด
ส่วน ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ก็ออกมาประณามการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ หลังจากการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เมื่อวันพฤหัสบดี
สำนักข่าวยอนฮัปของทางการเกาหลีใต้ ระบุว่า เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธสองลูกจากคาบสมุทรโฮโด ในจังหวัดฮัมเกียงใต้ ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็กล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซีว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ หรือพันธมิตรในภูมิภาคแต่อย่างใด
นอกจากเข้าร่วมประชุม ARF แล้ว นายปอมเปโอ ก็ยังได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ซึ่งนายหวังก็ได้แสดงความชื่นชมต่อการประชุมทวิภาคีครั้งนี้ โดยบอกว่าจะช่วยให้ทั้งสองประเทศมีความเข้าใจกันดียิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังได้พบกับนายทาโร โคโนะ ของญี่ปุ่น นางมารีส เพย์น รมว.การต่างประเทศ ของออสเตรเลีย อีกด้วย เพื่อหารือกันในประเด็นทะเลจีนใต้ ที่จีน ไต้หวัน บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ กำลังมีความขัดแย้งกัน เนื่องด้วยแต่ละฝ่ายอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำที่ทับซ้อนกันอยู่
เมื่อวันศุกร์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ หลังการหารือระหว่างนายปอมเปโอกับรัฐมนตรีสามประเทศว่า แต่ละฝ่ายเน้นย้ำการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อรับประกัน “เสรีภาพในการเดินเรือและเส้นทางการบิน รวมทั้ง ยอมปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศทางทะเลอย่างเคร่งครัดด้วย”
“พวกเขาเน้นย้ำท่าทีเดิมที่จะร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์การแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ รวมทั้งจะแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ใช้การข่มขู่หรือใช้กำลัง”
ขณะเดียวกัน ประธานอาเซียนก็ได้ออกแถลงการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยระบุว่าบรรดารัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม “เน้นย้ำความสำคัญของการคงไว้ และส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ ซึ่งความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้”
นายปอมเปโอ ได้เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกมาพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “การใช้อำนาจบีบบังคับของจีน” ในทะเลจีนใต้ให้มากขึ้น
นักวิเคราะห์หลายรายเห็นว่าท่าทีของนายปอมเปโอขณะนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะสานสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แน่นแฟ้นขึ้น และหลังจากการประชุมอาเซียน นายปอมเปโอจะยังคงใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จีนได้แสดงท่าทีชัดเจนเสมอมาว่า น่านน้ำเกือบทั้งหมดในเขตทะเลจีนใต้เป็นของตนเอง และมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างรุนแรง หากว่ามีการปฏิบัติการทางทะเลอันใดในแถบนี้ นอกจากนี้ จีนก็ยังได้สร้างระบบสาธารณูปโภคทหารที่มีความพร้อมด้านขีปนาวุธบนเกาะต่าง ๆ ที่อ้างว่าเป็นของตนเองอีกด้วย
ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 เมื่อเดือนที่แล้ว ในกรุงเทพฯ ประเทศสมาชิกไม่น้อย ได้แสดงความกังวลต่อความเคลื่อนไหวของกองเรือจีนในทะเลจีนใต้ และการที่จีนเข้าครอบครองเขตแดนที่ยังมีข้อขัดแย้งกัน ทำให้อาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทะเลจีนใต้เป็นเขตปลอดปฏิบัติการทางทหารใด ๆ รวมทั้งให้มีความอดกลั้นระหว่างกันด้วย