สมาชิกอาเซียนและชาติอื่น ๆ พร้อมลงนามข้อตกลงการค้ามูลค่ามหาศาล

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2020.11.11
วอชิงตัน
201111-trade-deal-1000.jpg นายโมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ขณะจ้องมอร์นิเตอร์ในการประชุมทางไกล พร้อมผู้ร่วมประชุมอื่น ๆ ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคปี 2563 กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
เอเอฟพี

ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีกห้าประเทศ คาดการณ์ว่า ในวันอาทิตย์นี้จะมีการร่วมลงนามในข้อตกลงการค้ามูลค่ามหาศาลที่จีนให้การสนับสนุน ความตกลงนี้มีเป้าหมายในการลดพิกัดอัตราภาษีและกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการค้าร่วมกัน อีคอมเมิร์ซ และทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่และสื่อรายงานในวันพุธนี้

ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการลงนามในความตกลงนี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ในวันอาทิตย์นี้ นายโมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซียกล่าว

“ตามที่เราทั้งหมดทราบแล้วว่า การเจรจา RCEP ซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดแปดปีที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ยาวนานและยากลำบาก แต่ในที่สุดเราก็ถึงเส้นชัยจนได้” นายอัซมินกล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ หลังจากเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายสำหรับความตกลง RCEP ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอีก 14 ประเทศ

และยังคาดว่า สมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะลงนามในความตกลงดังกล่าว ในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน

บรรดาประเทศที่เข้าร่วมในความตกลง RCEP มีจำนวนประชากร และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รวมทั้งสิ้นคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของประชากรและผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของโลก ตามรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมของสถาบันบรุกกิงส์ องค์กรการวิจัย ในกรุงวอชิงตันดีซี

การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งสถาบันบรุกกิงส์กล่าวว่า อาจเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็เป็นได้ เห็นได้ชัดว่าอินเดียและสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมในความตกลง RCEP ที่กำลังจะลงนามกันนี้

แม้อินเดียจะถอนตัวจากการเจรจาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลว่า การเปิดการเข้าถึงตลาดจะทำให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น แต่ทั้ง 15 ประเทศที่คาดว่าจะลงนามในความตกลงนี้ ได้เปิดโอกาสเป็นพิเศษให้อินเดียกลับเข้าร่วมในความตกลงนี้อีก สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงาน

“ผมขอย้ำว่า ความตกลงนี้จะสามารถยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของเรา โดยจะให้ผลทวีคูณอย่างมากมายต่อระบบเศรษฐกิจ” นายอัซมินกล่าว “นี่รวมถึงการมีฐานลูกค้าจำนวนเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกด้วย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจและผู้ประกอบการค้าของเราสามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้”

“การลงนามนี้ยังจะเป็นการส่งสัญญาณในทางที่ดีให้โลกเห็นว่า มาเลเซียและชาติอื่นที่เข้าร่วมในความตกลง RCEP เลือกที่จะเปิดตลาดของเรา แทนที่จะหันไปใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าจากต่างประเทศ ในระหว่างช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้” นายอัซมินกล่าวที่หมายถึงช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19

ขณะนี้ ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วจำนวน 51.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1.27 ล้านคน ตามรายงานจากผู้เชี่ยวชาญการระบาดในมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ

นายอัซมินกล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับประเทศและท้องถิ่นได้หารือกับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ ถึงความเกี่ยวข้องของมาเลเซียในความตกลง RCEP

“สิ่งสำคัญคือ เราจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และการปกป้องและให้อุตสาหกรรมในประเทศมีโอกาสได้เติบโต ผมคิดว่า นี่คือหลักการพื้นฐานที่เราใช้ในระหว่างการเจรจาความตกลง RCEP นี้” นายอัซมินบอกแก่ผู้สื่อข่าว ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

อากัส สุพาร์มันโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของอินโดนีเซียใน RCEP ทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 0.05 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2575

“RCEP จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะ 29.6 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก อยู่ในประเทศที่เข้าร่วม RCEP” อากัส กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันพุธ

และกล่าวอีกว่า RCEP จะเปิดการเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นสำหรับอินโดนีเซีย และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก 

ขาดการมีส่วนร่วม

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าร่วมในความตกลงนี้ อาจเป็นโอกาสให้จีนได้คู่ค้ารายใหม่ ๆ ภายในภูมิภาคนี้

“จีนจะใช้โอกาสนี้หรือไม่ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้น (กลยุทธ์แบบ ‘จีนต้องมาก่อน’) หรือสร้างระบบที่อาศัยกฎเกณฑ์ที่ใช้ได้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับความร่วมมือระดับโลก” สถาบันบรุกกิงส์ตั้งคำถาม

“คำตอบของผู้นำจีนจะกำหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อไปในอนาคต”

นายหวัง หย่ง ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแก่หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ว่า ความตกลงนี้อาจช่วยให้จีนปรับปรุงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับออสเตรเลียและชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคได้ดีขึ้น

“จีนและออสเตรเลียยังคงมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ ดังนั้น สองประเทศนี้จะยังสามารถหารือกันได้ถึงความร่วมมือในบริบทของกรอบความร่วมมือพหุภาคีในภูมิภาค” นายหวังกล่าว โดยพาดพิงถึงความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

“เนื่องจากจีนและประเทศในเอเชียต่างก็อยู่ในสถานะที่ดีสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่เราสกัดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาได้เป็นผลสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและประเทศเพื่อนบ้านก็จะยิ่งใกล้ชิดกันขึ้นไปอีกเท่านั้น”

ในปี พ.ศ. 2560 สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ภายใต้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนหน้า เป็นผู้เจรจาความตกลงนี้ เพื่อให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชีย

ความตกลง TPP กลายมาเป็นข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2561

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ได้การประกาศให้นายโจ ไบเดน รองประธานาธิบดีในสมัยของรัฐบาลโอบามา เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2563 แต่ทรัมป์ยังไม่ยอมรับการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

โนอาห์ ลี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และ อัฮหมัด สยัมสุดิน ในจาการ์ตา ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง