MRC ประชุมร่วมจีนเตรียมลงนามแลกเปลี่ยนข้อมูลแม่น้ำโขงสัปดาห์หน้า
2020.09.16
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไทย และจีน รวมทั้งประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่นๆ จะประชุมทางออนไลน์ ในสัปดาห์หน้า และจะลงนามร่วมกันเกี่ยวกับการที่จีนจะแลกเปลี่ยนข้อมูลการปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนตลอดทั้งปี ด้านสหรัฐอเมริกาเปิด เผยว่าว่า จะสนับสนุนงบความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงงวดใหม่กว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวผ่านโทรศัพท์ระบุว่า หลังการประชุมกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งจีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำมากขึ้น ทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้ง และจะมีการลงนามแลกเปลี่ยนข้อมูลในสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่มีการระบุวันที่ชัดเจน
“ไทย จีน กัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จะมีการประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าในรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และจะมีการลงนาม แลกเปลี่ยนข้อมูล โดยจีนจะแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง จากเดิมที่ให้ข้อมูลเฉพาะฤดูฝน ทุก 2 วันต่อ 1 ครั้ง จะมีการขยายเป็นให้ข้อมูลตลอดทั้งปี ทุก 2 วัน ต่อ 1 ครั้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ” นายสมเกียรติ กล่าว
สหรัฐสนับสนุนเงินพัฒนาประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 168 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ในการประชุมความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐอเมริกา (Mekong-U.S. Partnership) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า จะสนับสนุนเงินสำหรับการพัฒนาประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเงินประมาณ 168.3 ล้านดอลลาร์ โดยในนั้น 1.8 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนโดยตรงแก่ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งด้านข้อมูลน้ำ และการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยนายสมเกียรติ ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เน้นเสริมด้านวิทยาการ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้
“ผมยังไม่มีข้อมูลเรื่องการสนับสนุนครั้งล่าสุดนี้ แต่ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีโครงการร่วมมือกันผ่านประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเกาหลี โดยโครงการที่ไทยได้ไปร่วมแล้วคือ การเข้าเยี่ยมยูเอสอาร์มีคอร์ป ซึ่งมีการใช้แบบจำลองทรัพยากรน้ำ เราได้เรียนรู้เทคโนโลยีชั้นสูงในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้นำมาเป็นพื้นฐานด้านการพัฒนา และยกระดับการบริหารจัดการน้ำในประเทศ ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับเรา” นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเปิดเผยข้อมูลน้ำ หรือการปล่อยน้ำเพิ่มของประเทศจีน ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศท้ายน้ำต้องการสำหรับการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน
“สิ่งที่ขาดตอนนี้ไม่ใช่ข้อมูลเชิงเทคนิค สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ แม่น้ำโขงไม่ใช่คลองส่งน้ำ มันมีลำน้ำสาขา ระบบนิเวศน์ย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดมันเป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่สูง ผู้คน 60 ล้านคน ต้องพึ่งพาแม่น้ำ เขาไม่ได้ต้องการน้ำที่ผิดฤดูกาล เขาต้องการน้ำเป็นไปตามฤดูกาล หน้าฝนน้ำควรจะขึ้นถึงริมตลิ่ง เพื่อพัดพาตะกอน ทำให้เกิดอุดมสมบูรณ์ และสามารถทำเกษตรริมฝั่งได้ เราต้องการการใช้งานเขื่อนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนแม่น้ำโขง เขื่อนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความเสียหายมันมาก” น.ส.เพียรพร กล่าวผ่านโทรศัพท์
ทั้งนี้ ในวันที่ 15 กันยายน 2563 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้ออกจดหมายข่าว ระบุว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนเงินสำหรับการพัฒนาประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเงินรวม 168.3 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น 52 ล้านดอลลาร์ สำหรับความร่วมมือเร่งด่วนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เงิน 29.5 ล้านดอลลาร์ ในความร่วมมือญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ความร่วมมือด้านพลังงานลุ่มแม่น้ำโขง 54 ล้านดอลลาร์ สำหรับต่อต้านอาชญากรรม และการค้ามนุษย์ รวมถึง 33 ล้านดอลลาร์ สำหรับพัฒนาความยั่งยืน และหลักประกันตลาดพลังงาน
“อเมริกายืนเคียงข้างพันธมิตรอาเซียนของเรา เพื่อยืนยันในหลักนิติรัฐ และเคารพในอำนาจอธิปไตยของทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนได้รุกล้ำเข้ามาด้วยโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม” นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ความร่วมมือ
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ไทย-จีน และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่น ประชุมร่วมกันผ่านระบบวิดีโอ เรื่องกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) โดยนายกรัฐมนตรีไทย และจีนระบุว่า ทุกประเทศพร้อมให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง
“ประเทศไทยยินดีที่จีนเสนอการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งปี ร่วมกันอย่างเป็นระบบ และประเทศสมาชิกกำลังพิจารณาการจัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ซึ่งไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน และประสงค์ให้มีการติดตามประเมินผล ด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำไปสู่การขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงทุกประเทศอย่างเพียงพอ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ขณะที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในการประชุมเดียวกันระบุว่า จีนยินดีที่จะช่วยเหลือทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะถือว่าเป็นการใช้แม่น้ำโขงร่วมกันนั้นเป็นโชคชะตาเดียวกัน
“ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จีนจะแบ่งปันข้อมูลด้านอุทกวิทยาประจำปีของแม่น้ำล้านช้างให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลความร่วมมือ ด้านทรัพยากรน้ำของแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติจากอุทกภัยและภัยแล้ง… นับตั้งแต่ก่อตั้งกลไกมากว่า 4 ปี ทุกฝ่ายต่างผลักดันให้ความร่วมมือทางทรัพยากรน้ำนี้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว” นายหลี่ กล่าว
แม่น้ำโขงกับเขื่อนจีน
ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนจิงฮง ในประเทศจีน ได้ทดสอบระบบ และลดปริมาณการปล่อยน้ำจาก 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 500-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการเปิดเผยของกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงประเทศไทย-ลาว เข้าสู่ภาวะวิกฤต
จึงทำให้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อพูดคุยกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ขอให้จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนมาเพิ่ม เพื่อลดความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจีนระบุว่า จะปล่อยน้ำมาเพิ่ม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้จากปกติที่ปล่อยน้ำอยู่แล้ว 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายอลัน บาสิสท์ ประธานบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนสร้างเขื่อน 11 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนบน และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับประเทศท้ายน้ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนของจีน กลับไม่ถูกเผยแพร่เท่าที่ควร
“พวกเขา (จีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรง แต่พวกเขาทำให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก… น้ำโขงที่ไหลผ่านระหว่างลาวและไทยนั้น มีระดับน้ำโขงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตร หรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีน ไม่ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากให้ลงมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนแล้ว และยิ่งปล่อยน้ำน้อยลงในช่วงต่อมา ทำให้ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศท้ายน้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” นายอลัน กล่าว
ทั้งนี้ อายส์ ออน เอิร์ธ ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 28 ปี เพื่อคำนวณหาว่า จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนทั้งหลายเท่าไรกันแน่ โดยข้อมูลบอกว่าเขื่อนจีนทั้ง 11 นี้กักน้ำจำนวนมหาศาล มีความจุน้ำรวมกันถึง 47,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร