เขื่อนจีนกักน้ำโขง ทำให้ความแห้งแล้งยิ่งรุนแรงมากขึ้น

รอนี โทลแดนีส์
2020.04.13
วอชิงตัน
200413-TH-mekong1000.JPG เด็ก ๆ เล่นบนอ่างเก็บน้ำริมโขงที่แห้งขอดบางส่วน ในช่วงฤดูแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย วันที่ 11 มีนาคม 2553
รอยเตอร์

การศึกษาเรื่องแม่น้ำโขงของบริษัทวิจัยในสหรัฐฯ เผยแพร่ในวันจันทร์นี้ ชี้ว่า จีนกักน้ำแม่น้ำโขงจำนวนมหาศาลไว้ในเขื่อนทั้ง 11 เขื่อน ทำให้ประเทศที่อยู่ใต้น้ำ ชุมชนชาวประมง และเกษตรกรริมฝั่งโขงเดือดร้อนหนักในปีที่ผ่านมา จากภาวะน้ำโขงลดต่ำในระดับที่รุนแรงมาก

การใช้ดาวเทียมวัดความชุ่มชื้นของพื้นผิวดินในมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งแม่น้ำโขงตอนบนไหลผ่านพบว่า เมื่อปีที่แล้วมณฑลนี้มีระดับปริมาณน้ำ “สูงกว่าอัตราเฉลี่ย” ในขณะที่ประเทศที่อยู่ใต้น้ำอย่างไทย กัมพูชาประสบภาวะน้ำโขงลดต่ำในระดับที่รุนแรง นายอลัน บาสิสท์ ประธานบริษัทวิจัยที่ชื่อ อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศวิทยา ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“พวกเขา (จีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรง แต่พวกเขาทำให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” บาสิสท์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ อ้างถึงเขื่อนของจีน

”น้ำโขงที่ไหลผ่านระหว่างลาวและไทยนั้นมีระดับน้ำโขงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีน “ไม่ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากให้ลงมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนแล้ว  และยิ่งปล่อยน้ำน้อยลงในช่วงต่อมา และทำให้ความแห้งแล้งของน้ำโขงที่ประเทศปลายน้ำประสบนั้น รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก”

ในช่วงที่ผ่านมาจีนสร้างเขื่อนถึง 11 แห่ง ในเขตแม่น้ำโขงตอนบน และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับปลายน้ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อน ปริมาณน้ำและอื่น ๆ ของจีน หายากมาก เพราะจีนไม่ยอมปล่อยข้อมูลออกมาเลย

ทางอายส์ ออน เอิร์ธ ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 28 ปี เพื่อคำนวณหาว่า จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนทั้งหลายเท่าไรกันแน่ โดยข้อมูลบอกว่าเขื่อนจีนทั้ง 11 นี้กักน้ำจำนวนมหาศาล มีความจุน้ำรวมกันถึง 47,000 ล้านคิวบิกเมตร

“จีนอธิบายว่าที่พวกเขาไม่ปล่อยน้ำออกมา เพราะเผชิญกับความแห้งแล้งเหมือนกัน แต่ข้อมูลที่เรามีอยู่ไม่ได้เป็นอย่างที่จีนกล่าวเลย”

เมื่อจีนเข้าร่วมประชุมประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่จัดขึ้นที่ลาว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายหวาง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า จีนรับรู้ถึงปัญหาและความยากลำบากของประเทศที่อยู่ใต้ลงไป แต่ว่าจีนก็ประสบปัญหาจากความแห้งแล้งนี้ด้วย ซึ่งทำให้แม่น้ำโขงตอนบนแห้งแล้งไม่น้อยเช่นกัน

“ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมโกหกไม่เป็น มีน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำโขงจากที่ราบสูงทิเบต แม้กระทั่งในช่วงที่ไทยและกัมพูชาประสบปัญหาแม่น้ำโขงเหือดแห้งอย่างรุนแรง” บาสิสท์กล่าวยืนยันข้อมูลของเขา และเสริมด้วยว่า “จีนนั้นกักน้ำไว้เป็นจำนวนมหาศาลมาก”

น้ำจากการละลายของหิมะในที่ราบสูงทิเบต เป็นส่วนสำคัญที่ก่อกำเนิดแม่น้ำโขงที่ไหลเรื่อยลงมา ผ่านตอนใต้ของจีน ลาว ไทย กัมพูชา และไปออกทะเลที่เวียดนาม ปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน ที่พึ่งพิงแม่น้ำนี้ในการดำรงชีวิต

การสร้างเขื่อนเพื่อนำพลังน้ำไปใช้พัฒนาทางด้านต่าง ๆ ของประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนถึง 11 แห่งของจีนที่ส่งผลต่อลาวและไทย ซึ่งอยู่ถัดมาอย่างมาก

นายทองคร้าม ทองขาว อาสาสมัครของกลุ่มรักเชียงของ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ที่ต่อสู้เรื่องแม่น้ำโขงมาเนิ่นนานกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตัวเขาย้ายมาอยู่ที่เชียงของตั้งแต่ปี 2559 ไม่เคยเห็นน้ำโขงลดต่ำเท่านี้มาก่อนเลย และเมื่อสอบถามคนที่อยู่ที่นี่มาตลอดชีวิต ก็ไม่มีใครเคยเห็นภาวการณ์เช่นปีนี้มาก่อน

“นอกจากมันจะแห้งมาก เหลือน้ำอยู่ที่ร่องน้ำลึกที่สุดเท่านั้นแล้ว ก็ยังใสมากอีกด้วย มันแปลว่าแม่น้ำโขงไม่มีธาตุอาหารอีกต่อไปแล้ว” เขากล่าว

นายทองคร้ามยังเล่าอีกว่า ทุก ๆ สามวันเขื่อนของจีนที่อยู่ข้างบนจะปล่อยน้ำออกมา ในช่วงหน้าน้ำจะทำให้น้ำขึ้นลงอย่างรวดเร็วและส่งผลต่อเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชผักริมฝั่ง แต่ในช่วงหน้าแล้งนี้ แม้จีนจะยังคงปล่อยน้ำออกมา ก็เป็นปริมาณที่น้อยมาก น้ำโขงก็ยังแลดูแห้งแล้งมากอยู่เช่นเดิม

ส่วน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ที่ศึกษาปัญหาแม่น้ำโขงมาเนิ่นนาน กล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ว่า การที่จีนปล่อยน้ำ เพราะอยากให้ประเทศที่อยู่ใต้ลงไปรู้สึกถึงบุญคุณของจีน

“การปล่อยน้ำของจีนเป็นเรื่องการเมือง ทำให้เหมือนว่าจีนทำเพื่อประโยชน์ของประเทศอื่น ๆ แต่จริง ๆ คือจีนทำให้เกิดปัญหานี้ แต่ยังอยากจะได้คำขอบคุณจากประเทศอื่น”

แม้จีนจะใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเหมือนกันกับไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่จีนก็ไม่ยอมเข้าร่วมกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงกับอีกสี่ประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้มีเป้าหมายจะแบ่งปันและอนุรักษ์แม่น้ำโขง อันเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคมานับพันปี

การศึกษาล่าสุดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเตือนว่า การสร้างเขื่อนมากมายกั้นน้ำโขง จะทำให้ตะกอนที่ไหลออกทะเลที่เวียดนามหายไปถึงร้อยละ 97 ซึ่งสำหรับผู้ที่พึ่งพิงแม่น้ำโขง หมายความว่าความอุดมสมบูรณ์กำลังเหือดหายไป

จากการศึกษาของอายส์ ออน เอิร์ธ ทำให้เห็นว่าในเขตน้ำโขงตอนบนที่อยู่ในจีนนั้นมีน้ำอยู่อย่างเพียงพอ “ในแผนที่จะเห็นได้ว่า ส่วนที่เป็นสีฟ้านั้นคือ ส่วนที่มีน้ำมากมายซึ่งอยู่ในจีน และส่วนที่เป็นสีแดงก็คือ ส่วนที่แห้งแล้งอย่างมากในไทยและกัมพูชา จีนสามารถที่จะกำหนดปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโดยผ่านเขื่อนทั้งหลาย และดูเหมือนว่าจีนกำลังจะใช้วิธีนี้ควบคุมปริมาณน้ำอยู่”

จีนไม่ได้ทำเขื่อนเฉพาะแม่น้ำโขงที่เดียวเท่านั้น กับแม่น้ำพรหมบุตรซึ่งไหลเข้าไปในอินเดีย ที่เกิดจากธารหิมะในทิเบตก็ถูกจีนทำเขื่อนกั้นไว้ด้วยเช่นกัน และตอนนี้จีนกำลังมีแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนู ซึ่งเมื่อไหลเข้ามาในพม่าก็จะกลายเป็นแม่น้ำสาละวินอีกด้วย

นายบาสิสท์อธิบายว่า การที่จีนต้องกักน้ำไว้จำนวนมหาศาลในประเทศด้วยการสร้างเขื่อนมากมายเช่นนี้ ก็เพราะว่าภาวะโลกร้อน ทำให้หิมะแถบเทือกเขาหิมาลัยและบริเวณที่ติดกันละลายอย่างรวดเร็ว และวันหนึ่งอาจจะละลายจนหมด ทำให้จีนต้องพยายามทำเขื่อนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ว่าเมื่อวันหนึ่งหิมะละลายจนหมด พวกเขายังจะคงมีน้ำใช้ต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง