จีนลงนามข้อตกลงให้ข้อมูลแม่น้ำโขงตลอดปี แก่ประเทศลุ่มโขงตอนล่าง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.10.22
กรุงเทพฯ
201022-TH-CH-Mekong-622.jpg ชายนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขง ในเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
เอพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ จีนได้ลงนามข้อตกลงกับ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ว่าด้วย การร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขงตลอดทั้งปี กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแล้ว ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เชื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

นายอัน พิช ฮัดดา ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของเอ็มอาร์ซี ระบุว่า การลงนามข้อตกลงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการประชุมร่วมทางไกลผ่านวิดีโอของ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง กับประเทศจีน และเมียนมา

“การตกลงครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ความร่วมมือระหว่างจีนและเอ็มอาร์ซี… การตกลง โอกาสและความท้าทายนี้ จะนำมาซึ่งข้อมูลจำนวนมหาศาล และการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่จะยกระดับระบบแจ้งเตือนการปล่อยน้ำ และความร่วมมือในแม่น้ำโขงได้” นายอัน กล่าว

นายอัน ระบุว่า ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของน้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขามีสูงขึ้นกว่าในอดีต การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มากขึ้นน่าจะช่วยทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงสามารถจัดการน้ำได้ดีขึ้น โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำของจีนกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นจะเป็นข้อมูลปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ โดยจีนจะส่งข้อมูลของแม่น้ำโขงตอนบนมาให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 2 วันต่อ 1 ครั้ง

“จีนยังตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลแบบเร่งด่วนเกี่ยวกับระดับน้ำสูงขึ้นหรือลดลง รวมถึงการระบายน้ำ ที่ผิดปกติ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง” คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) กล่าว

ข้อตกลงในวันพฤหัสบดีนี้ เป็นไปตามที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ให้คำยืนยันเมื่อเดือนสิงหาคม ว่า ปักกิ่งจะเร่งให้ความร่วมมือในแม่น้ำโขง หลังจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เรียกร้องให้มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนจีนที่อยู่ในแนวแม่น้ำโขงมากขึ้น

นายเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลว่า "เป็นสิ่งที่เรา ผลักดันมาโดยตลอด"

"ข้อมูลนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่อยู่ตอนล่างของประเทศจีน สำหรับผู้ที่ต้องการน้ำในการเกษตร พืชผล การทำประมง และเพื่อการดำรงชีวิตเอง" สติลเวลล์ กล่าวในการบรรยายสรุป ก่อนการเยือนภูมิภาคเอเชียของนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ

เอ็มอาร์ซี ระบุว่า กว่า 18 ปีที่ผ่านมา จีนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ กับประเทศสมาชิก เฉพาะฤดูน้ำหลาก หรือระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จากสถานีจิ่งหง และสถานีหม่านอัน ในมณฑลยูนนานเท่านั้น แต่สำหรับข้อตกลงใหม่นี้ จะขยายระยะเวลาการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นตลอดทั้งปี และจีนได้ตกลงจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเร่งด่วน ในกรณีที่เกิดความผิดปกติของระดับน้ำ เพื่อให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างสามารถเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ด้วย

ต่อการเซ็นสัญญาดังกล่าว นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเอ็มอาร์ซีไทย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะทำให้ประเทศท้ายน้ำได้รับประโยชน์

“การลงนามแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยจีนแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง จากเดิมที่ให้ข้อมูลเฉพาะฤดูฝน ทุก 2 วันต่อ 1 ครั้ง ขยายเป็นตลอดทั้งปี ทุก 2 วัน ต่อ 1 ครั้ง จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว และรวมถึงเมียนมาด้วย” นายสมเกียรติ ระบุ

แม่น้ำโขงกับเขื่อนจีน

ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนจิงฮง ในประเทศจีน ได้ทดสอบระบบ และลดปริมาณการปล่อยน้ำจาก 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 500-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการเปิดเผยของกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงประเทศไทย-ลาว เข้าสู่ภาวะวิกฤต

จึงทำให้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อพูดคุยกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ขอให้จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนมาเพิ่ม เพื่อลดความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจีนระบุว่า จะปล่อยน้ำมาเพิ่ม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้จากปกติที่ปล่อยน้ำอยู่แล้ว 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายอลัน บาสิสท์ ประธานบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนสร้างเขื่อน 11 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนบน และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับประเทศท้ายน้ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนของจีน กลับไม่ถูกเผยแพร่เท่าที่ควร

“พวกเขา (จีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรง แต่พวกเขาทำให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก… น้ำโขงที่ไหลผ่านระหว่างลาวและไทยนั้น มีระดับน้ำโขงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตร หรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีน ไม่ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากให้ลงมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนแล้ว และยิ่งปล่อยน้ำน้อยลงในช่วงต่อมา ทำให้ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศท้ายน้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” นายอลัน กล่าว

ทั้งนี้ อายส์ ออน เอิร์ธ ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 28 ปี เพื่อคำนวณหาว่า จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนทั้งหลายเท่าไรกันแน่ โดยข้อมูลบอกว่าเขื่อนจีนทั้ง 11 นี้ กักน้ำจำนวนมหาศาล มีความจุน้ำรวมกันถึง 47,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ ร่วมรายงานพิเศษ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง