กองทัพเรือแจงปมซื้อเรือดำน้ำ จีนยังให้อุปกรณ์อีก 2,100 ล้านบาท

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.08.24
กรุงเทพฯ
200824-TH-CH-submarines-purchase-800.jpg เสนาธิการทหารเรือ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อเรือดำน้ำแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ อาคารราชนาวิกสภา กรุงเทพฯ วันที่ 24 สิงหาคม 2563
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ เสนาธิการทหารเรือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนชี้แจง กรณีความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำ เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ และเพื่อรักษาเครดิตกับรัฐบาลจีน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วย ชี้ในวิกฤติเศรษฐกิจ สังคมถกเถียงเรื่องการลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ พร้อมจะผลักดันต่อไป ไม่ให้กรรมาธิการลงมติเห็นชอบ

กองทัพเรือแถลงต่อว่า ได้เจรจาขอให้ปรับปรุงสมรรถนะตัวเรือ และขออาวุธเพิ่มเติมจากเดิม เป็นมูลค่า 2,100 ล้านบาท จึงไม่เหมาะสมที่จะเลื่อนการจัดซื้อออกไปอีก หลังจากที่หยุดชะงักไปแล้วในปีงบประมาณ 2563

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ อนุมัติโครงการที่กองเรือเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T จากประเทศจีน อีก 2 ลำ เป็นมูลค่า 22.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้เกิดเสียงวิจารณ์จากฝ่ายค้านและประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เพราะเหตุผลว่าประเทศกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี

พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการกองทัพเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ ได้กล่าวชี้แจงในเชิงยุทธศาสตร์ว่า กองทัพเรือมีความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำประจำการ เพราะไม่เช่นนั้น หากถูกปิดอ่าวไทย จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันได้ภายในหนึ่งเดือน ขณะที่โครงการนี้นั้น รัฐบาลได้อนุมัติในหลักการไปตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และได้ดำเนินการจัดซื้อลำดำน้ำลำแรกแล้ว ส่วนลำที่สองและสาม ไม่สามารถจัดซื้อได้ในปีงบประมาณ 2563 เพราะต้องคืนงบประมาณให้รัฐบาล เพื่อใช้จ่ายในการควบคุมโรคระบาดโควิด

“ภายในสิบวัน สิบห้าวัน อย่างมากไม่เกินหนึ่งเดือน หากเส้นทางเดินทะเลถูกกระทบ ประเทศไทยทั้งประเทศอาจจะไม่มีเชื้อเพลิงใช้ อาจจะไม่มีเครื่องบริโภคอุปโภคใช้” พล.ร.ท.ประชาชาติ กล่าว

พล.ร.ท.ประชาชาติ ยังได้กล่าวแสดงความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านที่คัดค้านการซื้อเรือดำน้ำว่า มีสาเหตุจูงใจทางการเมือง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 กองทัพเรือไทย และบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ได้ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และเมื่อเดือนกันยายน 2561ได้มีการพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการก่อสร้างไปเรียบร้อยแล้ว

ด้าน พลเรือตรี อรรถพล เพชรฉาย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์กองทัพเรือ กล่าว ราคาที่แท้จริงของลำแรกนั้นเท่ากับ 12,000 ล้านบาท อีก 1,500 ล้านบาท เป็นสิ่งสนับสนุนหรือองค์ประกอบให้เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการได้ ส่วนลำที่สองและสาม มีราคาถูกลงเหลือลำละ 11,250 ล้านบาท แรก ซึ่งมีราคารวมสามลำ 36,000 ล้านบาท โดยการจัดซื้อจะผ่อนชำระจนถึงปีงบประมาณ 2570 ส่วนปี 2564 นั้นกองทัพเรือตั้งงบไว้ 3,925 ล้านบาท

นอกจากนั้น ทางกองทัพเรือได้เจรจาอย่างหนัก เพื่อขอให้ บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพิ่มเติมคุณลักษณะของตัวเรือทั้งสามลำ เช่น แผ่นยางหุ้มตัวเรือกันเสียงสะท้อนให้กับตัวเรือ การติดตั้งระบบสื่อสารกับดาวเทียม ระบบสื่อสารข้อมูลทางยุทธวิธี รวมทั้งให้ฟรี ตอร์ปิโด อาวุธปล่อยนำวิถี และทุ่นระเบิด รวมมูลค่า 2,100 ล้านบาท

“หากไม่ดำเนินการทั้งหมด จนได้ข้อยุติระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลแล้ว ต่อไปฝ่ายเราจะไปค้าขายกับประเทศจีนอย่างไรครับ เขาจะเชื่อเราหรือครับ... พอมาในปีที่พอจะสนับสนุนงบประมาณได้ ทางกองทัพเรือก็เห็นว่ามันเป็นความจำเป็น” พล.ร.ต.อรรถพล กล่าวและระบุว่า ใบเสนอราคาเรือดำน้ำลำที่สองและสาม จะหมดอายุลงในเดือนกันยายนนี้

“ประมาณปี 2569-70 กองทัพเรือไทยจะมีเรือดำน้ำที่หน้าตาเหมือนกันสามลำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่ต้องการมีเรือดำน้ำ” พล.ร.ต.อรรถพล กล่าว

จากนั้น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเข้าร่วมฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้ลุกขึ้นสอบถาม คณะแถลงข่าวของกองทัพเรือ โดยนายพิจารณ์ ระบุว่าคำชี้แจงบางส่วนของกองทัพเรือในครั้งนี้ ไม่ได้ปรากฏในครั้งที่ชี้แจงต่อ คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้ให้ความสำคัญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ท่านพูดคำว่า โควิด ถ้าผมนับไม่ผิดประมาณสี่ครั้ง แต่ผมไม่ได้ยินท่านพูดคำว่า วิกฤติเศรษฐกิจ... ทุกวันนี้ที่สังคมถกเถียงกันอยู่ คือ การลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ” นายพิจารณ์ กล่าวพร้อมระบุว่า หากงบประมาณในปี 2564 นี้ถูกตัดหรือเลื่อนออกไปก่อน ก็จะนำเงินไปรวมไว้กับเงินส่วนอื่นๆ ที่อนุกรรมการคณะต่างๆ ตัดไว้และสภาผู้แทนราษฎรนำไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ได้ เช่น จัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด เป็นต้น

นายพิจารณ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังการแถลงข่าวของกองทัพเรือว่า ตนจะผลักดันต่อไป เพื่อไม่ให้กรรมาธิการลงมติเห็นชอบ เพราะจริง ๆ แล้ว เราอาจจะไม่ได้เรือดำน้ำลำแรกเมื่อปีงบประมาณ 60 ด้วยซ้ำ ถ้าไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

“ประเด็นที่ทุกคนในสังคมโดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายค้านพูดเหมือนกันคือ เราเลื่อนออกไปก่อนได้หรือไม่ ภายใต้สถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งเมื่อปี 2540 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็เคยทำมาแล้วในการยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบิน F-18 ทั้งที่ขณะนั้นมีการมัดจำไปแล้ว” นายพิจารณ์กล่าว

จากรายงานของกองทัพเรือระบุว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างมีเรือดำน้ำประจำการเกือบทุกประเทศ อาทิ เวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 5 ลำ และสั่งซื้อเพิ่มอีก 3 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ สิงคโปร์ 8 ลำ ส่วนเมียนมา ได้รับเรือดำน้ำมือสองชั้นกิโลจากอินเดีย 1 ลำ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง