นายกฯ สั่งชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 2 ลำ
2020.08.31
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กองทัพเรือชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน เพื่อแสดงการยอมรับฟังข้อห่วงใยของสังคม ในห้วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจากโรคโควิด ตามการเปิดเผยของ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า กองทัพเรือพร้อมดำเนินการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังเสียงประชาชน จึงตัดสินใจสั่งให้ชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปก่อน ในระหว่างการประชุมสภากลาโหมในวันนี้
“ท่านนายกฯ ในฐานะที่ดูแลกำกับกระทรวงกลาโหมเอง ได้มีการพูดคุยกับทางด้านกระทรวงกลาโหมเป็นการภายใน และพูดคุยกับกองทัพเรือ และได้มีสรุปว่า ให้ทางกองทัพเรือพิจารณาชะลอการสั่งซื้อเรือดำน้ำลำที่สองและลำที่สามออกไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักถึงความเข้าใจของ ท่านนายกฯ และ รมว.กลาโหมฯ ที่ทั้งพี่น้องประชาชนและตัวแทนกรรมาธิการงบประมาณฯ มีความกังวลเรื่องการนำงบ 3,375 ล้านบาท ไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดูแลพี่น้องประชาชน เรื่องของปากท้องหรือเรื่องอื่นที่คิดว่าเหมาะสม” นายอนุชา กล่าว
“ท่านนายกฯ… ให้ทางด้านกรรมาธิการงบฯ ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยที่กระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ จะเป็นผู้ชี้แจงให้กับทางด้านกรรมาธิการงบฯ อีกครั้ง ซึ่งความเหมาะสมจะเป็นอย่างไร การเจรจาพูดคุยกับจีนเพิ่มเติมในการชะลอ หรือ เลื่อนการจัดซื้อไปอีกหนึ่งปี เป็นปีที่สอง จะมีผลออกมาอย่างไร ในส่วนของกองทัพเรือจะเป็นผู้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม” นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติม
นายอนุชา ระบุว่า การดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ถูกต้องตามระเบียบทั้งหมด และเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ โดยสัญญาทั้งหมดดำเนินการตั้งแต่การจัดซื้อลำแรก ขณะที่ ลำที่ 2-3 เป็นการส่งมอบต่อเนื่อง โดยมูลค่า 3 ลำ คือ 36,000 ล้านบาท ขณะที่ ลำที่ 2-3 มูลค่า 22,500 ล้านบาท เดิมในปี 2563 รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณ 3,375 ล้านบาท เพื่อโครงการดังกล่าว แต่เลื่อนมาเป็นปี 2564 ซึ่งปี 2564 ก็จะมีการเลื่อนออกไปอีกครั้ง
ด้าน พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า กองทัพเรือพร้อมจะดำเนินการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
“เราก็ทำตามที่รัฐบาลสั่ง คงต้องมีการชะลอต่อไปตามที่สั่ง แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเพิ่งรับนโยบายมา ก็คงต้องมีการประสาน แจ้งเป็นทางการกับบริษัทที่ขาย และแจ้งทางจีนต่อไป ตามขั้นตอน ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เราก็ดำเนินตามที่รัฐบาลสั่ง” พล.ร.ท.ประชาชาติ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 กองทัพเรือไทย และบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ได้ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และเมื่อเดือนกันยายน 2561 ได้มีการพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการก่อสร้าง
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระที่ 2-3 ซึ่งในนั้นมีการจัดสรรงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งกองทัพเรือเองก็เสนอปรับลดงบประมาณมูลค่า 4,100 กว่าล้านบาท ทำให้โครงการเรือดำน้ำชะลอลงด้วย
ต่อมาใน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ด้วย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เนื่องจากเห็นว่า ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาโควิด-19 ระบาด ควรจะชะลอโครงการจัดซื้อดังกล่าวไปเสียก่อน แต่ในสัปดาห์เดียวกัน กองทัพเรือได้แถลงชี้แจงว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำมีความจำเป็น และดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน กระทั่งวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งให้ชะลอโครงการไปก่อน
ราชนาวีไทย เคยมีเรือดำน้ำที่ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นประจำการ 2 ลำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 และได้รับล็อตที่สองอีก 2 ลำ ใน พ.ศ. 2482 แล้วได้ปลดประจำการไป จากนั้นได้มีการริเริ่มโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2538 โดยราชนาวีได้พิจารณาเรือดำน้ำ จากบริษัทค็อกคุมส์ แห่งประเทศสวีเดน แต่ไม่ผ่านอนุมัติรัฐสภา
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน