ทางการไทยปฏิเสธรู้เห็น วันเฉลิม ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยถูกอุ้มหายที่กัมพูชา
2020.06.05
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลักพาตัว นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ เสรีชนคนอีสาน ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่ประเทศกัมพูชาเมื่อวานนี้ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ รัฐบาลกัมพูชาเร่งดำเนินการตามหาตัวนายวันเฉลิมโดยเร็วที่สุด
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ทราบข่าวการลักพาตัวนายวันเฉลิมจากสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น
“เท่าที่ทราบเขาเป็นคนที่มีหมายจับ พ.ร.บ.คอมฯ หมายออกปี 61 ไม่ทราบว่าใครอุ้มไป สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศ เราใช้กลไกที่มีอยู่ ประสานงานปกติอยู่แล้ว เราปฏิบัติกับผู้ต้องหาทุกคนเท่ากันไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นจะดำเนินการอย่างไร” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว
เมื่อวานนี้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อายุ 37 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในปี 2557 คดีความผิดตามพระราชบัญญติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) ซึ่งหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลไทยไปอยู่ในประเทศกัมพูชา ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. การลักพาตัวนายวันเฉลิม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์อย่างหนักบนอินเทอร์เน็ต โดยมี #saveวันเฉลิม บนทวิตเตอร์ ที่มีผู้เขียนข้อความด้วย #ดังกล่าว ถึงกว่า 5 แสนครั้ง
ต่อเหตุที่เกิดขึ้น น.ส. สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม เปิดเผยว่า นายวันเฉลิม หรือ ต้าร์ (ชื่อเล่น) ถูกลักพาตัว ขณะคุยโทรศัพท์อยู่กับตนเอง โดยนายวันเฉลิม กำลังเดินจากคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นที่พักส่วนตัว เพื่อไปซื้ออาหาร
“คุยกับน้องตอนที่น้องโดนจับตัว ต้าร์ร้องว่า โอ้ย หายใจไม่ออก แล้วสายก็ตัด ปกติ คุยกับน้องทางไลน์เป็นประจำทุกวัน คุยเรื่องชีวิตทั่วไป และคุยเรื่องงานธุรกิจ เตือนน้องแล้วว่า ให้หยุดคุยเรื่องการเมือง และหันมาทำธุรกิจ ดูเหมือนว่า ต้าร์จะยอมทำตาม และเป็นการทำให้ผ่อนคลาย ลดการระมัดระวังตัวลง” น.ส. สิตานันท์ กล่าว
น.ส. สิตานันท์ ระบุว่า หลังเกิดเหตุ ตนเองเข้าใจว่านายวันเฉลิมประสบอุบัติเหตุ แต่ให้หลัง 30 นาที ได้โทรกลับไปหานายวันเฉลิม กลับติดต่อไม่ได้ เมื่อสอบถามไปหาเพื่อนของนายวันเฉลิมจึงทราบว่า นายวันเฉลิมหายตัวไป โดยขณะที่นายวันเฉลิมถูกนำตัวขึ้นรถ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคอนโดมิเนียมพยายามเข้าช่วยเหลือ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากกลุ่มคนที่ลักพาตัวนายวันเฉลิม มีอาวุธปืน ซึ่งต่อมามีการเผยแพร่ภาพรถที่ใช้ลักพาตัวนายวันเฉลิมบนสื่อสังคมออนไลน์
องค์กรสิทธิฯ เร่งรัดรัฐบาลกัมพูชาสอบสวน
ในวันเดียวกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ เร่งรัดให้รัฐบาลกัมพูชาสอบสวนการหายตัวไปของนายวันเฉลิม และเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะโดยเร็วที่สุด และระบุว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของนายวันเฉลิมมากที่สุด
“การลักพาตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างอุกอาจ บนถนน ในพนมเปญครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการกัมพูชาต้องชี้แจง รัฐบาลกัมพูชาต้องรีบค้นหาตัววันเฉลิม และดูแลความปลอดภัยของเขา รัฐบาลกัมพูชามีหน้าที่สืบสวนว่า เกิดอะไรขึ้นกับวันเฉลิม ซึ่งถูกลักพาตัวโดยการใช้อาวุธปืน ในเมืองพนมเปญ รัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงแหล่งทุนต่าง ๆ ควรกดดันรัฐบาลกัมพูชาให้ดำเนินทุกวิถีทางเพื่อหาตัววันเฉลิม หรือผู้ร่วมลักพาตัวเขา” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องเดียวกันระบุว่า เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาเร่งตามหาตัวนายวันเฉลิม และทางการไทยต้องยืนยันว่า นายวันเฉลิมถูกจับตามคำร้องขอของตนหรือไม่
“ทางการกัมพูชาต้องดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด หากพบตัวเขา ต้องไม่ส่งตัวกลับประเทศไทย เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร หากวันเฉลิมถูกควบคุมตัวอยู่ ทางการกัมพูชาต้องยืนยันว่า เขาอยู่ในการควบคุมของทหารหรือตำรวจ หากเขาอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐ เราขอให้ทางการประกันว่า ได้มีการควบคุมตัวเขาในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และอนุญาตให้เขาสามารถติดต่อทนายความอิสระ เข้าถึงบริการทางการแพทย์และติดต่อครอบครัวได้ทันที” นายเดวิด กริฟฟิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พลเมืองไทยหายตัวไป หลังแสดงความเห็นทางการเมือง วันเฉลิมมักแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย การหายตัวไปอย่างกะทันหันของเขาในเหตุการณ์ที่รุนแรง เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง” นายเดวิดระบุ ในแถลงการณ์
ด้านโฆษกตำรวจของกัมพูชา ได้ปฏิเสธการรู้เห็นใด ๆ เกี่ยวกับการถูกลักพาตัวนี้ และกล่าวว่า เนื่องจากไม่มีการลักพาตัวเกิดขึ้น จึงไม่มีการสอบสวนใด ๆ
“ตั้งแต่เช้า เราได้รับโทรศัพท์ประมาณ 50 ครั้ง ที่ถามเกี่ยวกับข่าวนี้ แต่ตอบเขากลับไปเหมือนกันหมด ... ผมบอกว่านี่เป็นข่าวปลอม ข่าวไม่จริง” พล.ต.อ.เช กิม เคิน โฆษกตำรวจของกัมพูชา กล่าว
“เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วเราจะสืบสวนอะไร” เขาบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี แม้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาได้กล่าวว่าไม่มีการลักพาตัว แต่นายชิน มาลิน โฆษกกระทรวงยุติธรรมของกัมพูชา กล่าวกับ เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ของกัมพูชากำลังสืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับการลักพาตัว และขอให้องค์กรพัฒนาเอกชนทุกแห่ง อย่ารีบด่วนสรุปเหตุการณ์ใด ๆ ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน
“เชื่อว่าเจ้าหน้าที่กำลังทำการสืบสวนเรื่องนี้อยู่ องค์กรสิทธิมนุษยชนไม่ควรรีบด่วนสรุปใด ๆ โดยไม่มีฐานข้อมูล” นายชิน กล่าว
ในช่วงเย็นของวันศุกร์ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองในชื่อกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม และผู้ลี้ภัยทางการเมืองทุกคน” ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมมีขึ้นในเวลา 17.00-18.00 น. มีการอ่านกลอน ตะโกน และเขียนป้ายข้อความเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งหายตัวไป โดยมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนกว่า 50 คน ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
คสช. เรียกเข้ารายงานตัว หลังการรัฐประหารปี 2557
นายวันเฉลิม มีชื่อเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกเข้าไปรายงานตัวหลังการทำรัฐประหารในปี 2557 แต่นายวันเฉลิมไม่ทำตาม จึงถูกออกหมายจับในวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ก่อนที่ต่อมาจะมีข้อมูลว่า นายวันเฉลิมหลบหนีออกจากประเทศไทยไปยังประเทศลาว ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2561 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ได้จัดแถลงข่าวกล่าวหาว่า นายวันเฉลิมเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ จากการเขียนข้อความบิดเบือนใส่ร้ายรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ ๆ” โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ในขณะนั้น นายวันเฉลิมอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา และอาจมีการติดตามจับกุมตัวนายวันเฉลิม เพื่อมาลงโทษ
ก่อนถูกลักพาตัวหนึ่งวัน นายวันเฉลิมได้อัดคลิปวิดีโอ ตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยถ้อยคำหยาบคาย
ทั้งนี้ หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมรวมข้อมูลระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า ขณะที่ มีผู้ลี้ภัยชายไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านต้องหายตัวไปแล้ว 9 คน เมื่อรวมนายวันเฉลิม ซึ่งประกอบด้วย 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ 8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจ มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, มีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 625 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน, มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยสถิติดังกล่าวนับจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2562
ไอลอว์ยังได้ระบุว่า ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย, นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต ส.ส. หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีด้วยข้อหาตามความผิดใน พ.ร.บ.คอมฯ คอมพิวเตอร์มาแล้วเช่นกัน