สหรัฐฯ กล่าวหาจีนข่มขู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับทะเลจีนใต้
2019.11.04
กรุงเทพฯ

นายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวกับ สมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนในวันจันทร์นี้ ที่ประเทศไทย ว่า จีนไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ กับประเทศเล็ก ๆ ที่มีสิทธิ์เหนือน่านน้ำเช่นกันได้
นายโอไบรอัน กล่าวในระหว่างการหารือกับกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจช่วยปรับปรุงความสามารถของสมาชิกในการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้
“ปักกิ่งใช้การข่มขู่ เพื่อพยายามไม่ให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซ มูลค่าถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” เขากล่าว “กลยุทธ์เหล่านี้ขัดต่อกฎการเคารพ ความยุติธรรม และกฎหมายแห่งชาติ”
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันจันทร์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ฐานะประธานและเจ้าภาพ และผู้นำของประเทศเวียดนาม และลาว เข้าร่วมการหารือ กับนายโอไบรอัน ส่วนสมาชิกประเทศอื่นๆ ได้ส่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของตนเข้าร่วม หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้เดินทางมา อีกทั้งไม่ได้ส่ง นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี หรือ รมว.ต่างประเทศ นายปอมเปโอ มาเข้าร่วม
นายโอไบรอัน ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามของสหรัฐอเมริกานั้น เกิดจากกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้ทุกประเทศ สามารถเข้าใช้น่านน้ำสากลได้
“ภูมิภาคนี้ไม่สนใจในจักรวรรดินิยมยุคใหม่ ที่ประเทศใหญ่สามารถปกครองประเทศอื่นๆ ได้ สหรัฐฯ ปรารถนาให้จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน" นายโอไบรอัน กล่าว
ในแถลงการณ์ของประธานอาเซียน พลเอกประยุทธ์ ได้ปิดการประชุมสุดยอด โดยกล่าวย้ำอีก ถึงความสำคัญของการรักษา และส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสรีภาพในเส้นทางสู่ทะเลจีนใต้
“เรายินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือที่มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างอาเซียนและจีน และได้รับการสนับสนุนโดยได้รับทราบความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญและมีประสิทธิภาพ ในการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติ ในทะเลจีนใต้” พลเอกประยุทธ์กล่าว
“เราขอยืนยันอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ใช้ความอดกลั้น ในการดำเนินการและหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ยุ่งยากยิ่งขึ้น”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีการพบกันที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ลงนามในคำประกาศแถลงการณ์ รวมถึงแนวทางสู่ประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับปรุงการแชร์ข้อมูลกันระหว่างประเทศสมาชิก
คำประกาศนี้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของ “ทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และสงบสุข เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มีเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปี 2545 อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ และตามข้อสรุปเบื้องต้นของ ประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ที่มีประสิทธิภาพตามระยะเวลาที่ตกลงร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศสมาชิกไม่ได้เอ่ยถึงรายละเอียด หรือระยะเวลาของประมวลการปฏิบัติดังกล่าว
จีนอ้างว่า ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเป็นของตน ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ตามด้วย ไต้หวัน ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน ก็มีสิทธิ์เหนือน่านน้ำ
มาเลเซีย และฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ทุกประเทศในภูมิภาค ฝึกการยับยั้งชั่งใจ
“ปัญหาใด ๆ ที่เรามีในทะเลจีนใต้ มันสามารถแก้ไขได้โดยการเจรจา โดยไม่ต้องมีความรุนแรงและสงคราม” นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวกับผู้สื่อข่าว
“ปัญหาในตอนนี้คือ ประเทศอื่น ๆ (นอกกลุ่มประเทศอาเซียน) ซึ่งไม่เป็นมิตรกับจีน กำลังพยายามยั่วยุประเทศสมาชิกอาเซียนให้เข้าร่วมและต่อต้านจีน” เขากล่าวโดยไม่ระบุชื่อประเทศเหล่านั้น “หากมีความรุนแรงและสงคราม ผู้ตกเป็นเหยื่อจะเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน”
โฆษกรัฐบาลของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายโรดรีโก ดูแตร์เต กล่าวว่า กรุงมะนิลาต้องการแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในทะเลจีนใต้ เพื่อสร้างเสถียรภาพและสันติภาพ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะคดี หลังจากได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีน ในปี 2559 แต่ นายดูแตร์เตไม่ใส่ใจต่อคำวินิจฉัยนั้น เพราะต้องการประสานความสัมพันธ์กับจีนให้ดีขึ้น
“ [จาก] สิ่งที่ผมสังเกต พวกเขา (สมาชิกอาเซียน) มีความกังวลกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ นั่นคือ เหตุผลที่ทุกประเทศขอให้ทุกคนสร้างความอดกลั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่การเสียดสีกันมากขึ้น” นายซัลวาดอร์ พาเนโล โฆษกรัฐบาลฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
“เราจะไม่เป็นเครื่องมือให้กับประเทศที่ทรงอำนาจใด ๆ เราจะยึดนโยบายในส่วนของภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่ศาลตัดสินว่า เป็นของเรา ก็จะยังคงเป็นของเรา ไม่ว่าผู้ใดจะทำอะไรก็ตาม" เขากล่าว
ในขณะที่อินโดนีเซียไม่ได้เรียกร้องสิทธิ์เหนือน่านน้ำ ประธานาธิบดีโจโค "โจโควี" วิโดโด เรียกร้องให้มีสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค
“จากมุมมองของอาเซียนต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อินโดนีเซียต้องการส่งเสริมความร่วมมือ และเปลี่ยนคู่แข่งขันให้เป็นคู่ค้า เราต้องการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในบริบทที่กว้างขึ้น” ประธานาธิบดีโจโควี กล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุม