กระทรวงพาณิชย์เร่งลงสัตยาบัน RCEP หวังมีผลไม่เกินกลางปีหน้า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.11.16
กรุงเทพฯ
201116-TH-SEA-CH-trade-deal-1000.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ยืนด้านซ้าย)ข้างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ถือหนังสือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภาพจากวิดีโอถ่ายทอดสดจากฮานอย ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
Vietnam Host Broadcaster/เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จะเร่งลงสัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามในวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ให้มีผลบังคับใช้ภายในกลางปีหน้า และได้แสดงความรู้สึกเสียดายที่ประเทศอินเดียยังไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้

ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้ เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยฝ่ายไทย มีนายจุรินทร์ เป็นผู้ลงนาม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์ กล่าวในงานประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็พ ของกระทรวงพาณิชย์ในวันจันทร์นี้ว่า รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้ประเทศไทยลงสัตยาบันอาร์เซ็พ เพื่อทำให้การลงนามมีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด โดยนายจุรินทร์ ระบุว่า หากประเทศสมาชิกอาเซียน ลงสัตยาบันตั้งแต่ 6 ประเทศขึ้นไป และประเทศอื่น ๆ ลงสัตยาบันมากกว่า 3 ประเทศ ข้อตกลงอาร์เซ็พก็จะถือว่ามีผลบังคับใช้ทันที

“สักกลางปีหน้าเป็นอย่างช้า น่าจะบังคับใช้ได้ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมรัฐสภา มีมติตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ยังพอมีเวลาและความหวังว่าจะผ่านรัฐสภาได้ในสมัยประชุมนี้ ถ้าผ่านได้ ขั้นตอนถัดจากนี้ก็คือ กระทรวงต่างประเทศก็จะออกหนังสือ แล้วก็จะให้กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องได้ประสานงานไปยังเลขาธิการอาร์เซ็พ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นั่นคือ เสร็จสิ้นกระบวนการให้สัตยาบัน” นายจุรินทร์ กล่าว

“ถ้าบังคับใช้แล้ว ก็จะทำให้ไทยส่งสินค้าไปขายในประเทศสมาชิกอีก 14 ประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า บางตัว 40 เปอร์เซ็นต์ก็จะเหลือ 0 บางตัว 10 เปอร์เซ็นต์ก็จะเหลือ 0 ในอนาคตเป็นต้น ผมมั่นใจว่า ข้อตกลงอาร์เซ็พที่ว่านี้ ประเทศไทยของเราจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ที่ว่านั้นอย่างน้อยที่สุด ในเรื่องสินค้า บริการ และการลงทุน ในเรื่องสินค้า ประเทศไทยเรามีจุดแข็งอยู่แล้ว เรื่องสินค้าทางการเกษตร อันนี้ถือว่ายังเป็นแต้มต่อ และเป็นความหวัง ที่จะทำให้เราปลุกตลาดอีก 14 ประเทศที่ร่วมลงนามกับเราเที่ยวนี้” นายจุรินทร์ ระบุ

การตกลงอาร์เซ็พครั้งนี้ ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ และประเทศสมาชิกมีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือราว 29 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก มีการกำหนดข้อตกลง 20 ด้าน โดยจะมีการยกเลิกภาษีการนำเข้า 61 เปอร์เซ็นต์ จากสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, 56 เปอร์เซ็นต์ จากจีน และ 49 เปอร์เซ็นต์ จากเกาหลีใต้

โดยนายจุรินทร์ ระบุว่า ไทยจะได้รับประโยชน์ ในหมวดสินค้า 1. เกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น 2. อาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่นๆ 3. สินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์ 4. บริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน และ 5. การค้าปลีก

อาร์เซ็พ ออกปฏิญญา เริ่มเจรจาครั้งแรกในปี 2556 เบื้องต้นตั้งเป้าหมายเจรจาแล้วเสร็จในปี 2558 อย่างไรก็ตาม มีการขยายเป้าหมายออกไปเรื่อยๆ โดยระหว่างการเจรจา ภาคประชาสัมคมได้ท้วงติง กรณีที่เกี่ยวกับ ข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองการลงทุน และการเปิดเสรีบริการสาธารณสุข คณะทำงานอาร์เซ็พ จึงได้นำข้อกังวลดังกล่าวไปปรับปรุง กระทั่ง ในการประชุมอาเซียน ปี 2562 ที่ประเทศไทย อาร์เซ็พ สามารถเจรจาได้ข้อตกลง 20 ด้าน มีประเทศร่วมประชุม ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และตั้งเป้าหมายจะให้มีการลงนามในปี 2563 ซึ่งได้มีการลงนามจริง แต่อินเดียซึ่งร่วมเจรจามาตั้งแต่ต้นไม่ได้ร่วมลงนามด้วย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยระหว่างการประชุมในวันอาทิตย์ว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ และถือเป็นความสำเร็จหลังจากเจรจา และขัดเกลาข้อกฎหมายมาเป็นเวลา 8 ปี

“ความตกลงอาร์เซ็พ นั้นเป็นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มีมาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ ผมหวังว่าประเทศสมาชิกอาร์เซ็พ ทุกประเทศจะเร่งรัดการดำเนินการภายใน เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับให้ได้โดยเร็วของพวกเรา จะเสริมสร้างให้ภูมิภาคอาร์เซ็พ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ไทย : เสียดายอินเดียยังไม่ลงนามอาร์เซ็พ

ต่อประเด็นที่ประเทศอินเดีย ไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็พนั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยระบุว่า รู้สึกเสียดาย และจะพยายามเจรจาเพื่อผลักดันให้อินเดียเข้าร่วมในอนาคต

“อินเดีย คือประเทศที่ร่วมนับหนึ่งกับเรามากับ 15 ประเทศแต่ต้น มาแยกทางกัน 2-3 วัน ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ร่วมกับเราในอนาคต อินเดียยังเป็นความหวังที่เราอยากได้อินเดียมาร่วมอาร์เซ็พอีกประเทศหนึ่ง ให้ครบอย่างที่เราเริ่มไว้ เพราะอินเดียมีประชากรเยอะ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และจะเป็นตลาดสำคัญสำหรับไทยและอีก 14 ประเทศ และอินเดียก็ได้ตลาดอีก 15 ประเทศทดแทนไป”​ นายจุรินทร์ ระบุ

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การที่อินเดียไม่ร่วมลงนามอาร์เซ็พ จะทำให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้

“การที่อินเดียไม่เข้าร่วมถือว่าน่าเสียดายสำหรับประเทศไทย เพราะไทยถือว่าจะได้ประโยชน์น้อยลงไปมากจากการที่อินเดียไม่เข้าร่วม และอินเดียเองก็มีส่วนสำคัญในการร่วมกับอาเซียนขจัดข้อตกลงที่แหลมคม เช่น พันธุ์พืช และยาออกไป เรื่องนี้ส่วนนึงต้องโทษ ทีมเศรษฐกิจยุคคุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ที่ไม่จริงจังกับการทำงานกับจีนให้มากพอ” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

โดย น.ส.กรรณิการ์ เชื่อว่า การเข้าร่วมอาร์เซ็พของไทยเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อให้ประชาชนเสียประโยชน์น้อยที่สุด

“เป็นเรื่องที่ดีที่อาเซียนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และผลักดัน ประเด็นที่เราห่วงใย 2 -3 เรื่อง เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา และพันธุ์พืช ข้อตกลงนี้ บางสินค้าที่จะเราได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นฉบับที่น่าจะพอยอมรับได้ ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์มากแค่ไหนต้องดู ธุรกิจใหญ่ ๆ ที่เขาเตรียมการพร้อมก็จะได้ประโยชน์ พวกเกษตรกรรายเล็กก็อาจจะไม่ได้ขนาดนั้น สิ่งที่รัฐต้องทำคือ การป้องกัน มอนิเตอร์ สินค้าที่จะทะลักเข้ามา โดยรัฐต้องมีกลไกต่างๆ เช่นการกำหนดโควต้าการนำเข้า เพื่อไม่ให้เยอะเกินไป” น.ส.กรรณิการ์ ระบุ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า อาร์เซ็ปมีทั้งด้านบวกและลบ

“ไทยเข้าร่วมอาร์เซ็พถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ประโยชน์กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ซัพพลายเชน ในประเทศเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิคส์ ข้อเสียคือ อุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ได้ ก็จะลำบาก เพราะอาจจะมีสินค้าจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เข้ามาโดย จีน เกาหลีใต้ก็เป็นพวกอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นพวกสินค้าเกษตรจากนิวซีแลนด์ ปศุสัตว์ แต่ถ้าอุตสาหกรรมไหนแข่งขันได้ ก็จะถือว่าเปิดตลาดมากขึ้น ถือว่ากระทบผู้ผลิตแต่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค” นายอนุสรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ กล่าว การที่อินเดียไม่ร่วมในอาร์เซ็พ จะทำให้จีนมีบทบาทในการครอบงำชาติอื่นมากขึ้น เป็นอีกจุดที่ต้องระมัดระวัง

“การที่อินเดียไม่ร่วมอาร์เซ็พ น่าจะเป็นเพราะจีนค่อนข้างเป็นแกนนำ อินเดียก็อาจจะประเมินว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ อินเดียก็สามารถทำเอฟทีเอกับอาเซียนได้ เข้าใจว่ากรณีอินเดีย มีสินค้าบางตัว ที่อินเดียต้องการปกป้องตลาดภายในประเทศ” นายอนุสรณ์กล่าว

“อินเดียมีอุตสาหกรรมบางส่วนที่อาจจะเสียเปรียบ เขาไม่อยากจะลดภาษี เพราะขาดดุลกับหลายประเทศในอาร์เซ็พอยู่แล้ว ถ้าเขาเปิดมากขึ้นอีก ก็จะมีผลกระทบหนักขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นเขาก็อาจจะเห็นประโยชน์ของการเข้าร่วมน้อยกว่าอีก สิบห้าประเทศ เขาก็เลยถอนตัวไป การที่เขาไม่ร่วม ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง