เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหากับขยะ ที่จีนปฏิเสธไม่รับ

มุซลิซา มุสตาฟา ภิมุข รักขนาม นนทรัฐ ไผ่เจริญ เทีย อัสมารา และ เอมี อัฟริอาทนิ
2019.05.20
กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ และจาการ์ตา
190520-ID-trash-1000.jpg ชาวบ้านในหมู่บ้านทามันมีการ์ ในจังหวัดชวาตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ค้นหาขยะรีไซเคิล ท่ามกลางกองภูเขาของขยะพลาสติกนำเข้า วันที่ 17 พฤษภาคม 2562
อัฮหมัด ไซยัมซูดิน/เบนาร์นิวส์

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับปริมาณขยะที่มากขึ้น ซึ่งถูกส่งมาทิ้งโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมาเลเซียและฟิลิปปินส์ขู่ว่าจะส่งขยะคืนประเทศที่ส่งมา

ฟิลิปปินส์ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงคนอื่นกลับมาจากแคนาดา หลังจากที่ทางการฟิลิปปินส์กล่าวว่า แคนาดาไม่นำขยะจำนวนมากที่ส่งไปทิ้งในฟิลิปปินส์เมื่อหกปีที่แล้วกลับมาภายในวันที่ครบกำหนด คือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ฟิลิปปินส์เผชิญกับปริมาณขยะจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติก หลังจากที่จีนได้หยุดนำเข้าขยะสำหรับนำมารีไซเคิลเมื่อปีที่แล้ว เพราะต้องการลดมลภาวะภายในประเทศ

ขยะที่นำเข้าสู่มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในปี 2561 ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร เบลเยียม และแคนาดา

“เราไม่อยากถูกเรียกว่าเป็น พื้นที่ทิ้งขยะของโลก เราจะส่งขยะกลับไปยังประเทศที่ส่งมา” นางยิว บี ยิน รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์

ประเทศพัฒนาแล้วที่ส่งขยะมายังธุรกิจรีไซเคิลที่กำลังเฟื่องฟูในประเทศของเรา จะต้องออกค่าใช้จ่ายเองในการนำและขนขยะกลับไป นางยิว บี ยิน กล่าว

คำกล่าวนี้ทำขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ 187 ประเทศ ลงมติยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาบาเซล ข้อตกลงปี 2532 ที่มีเป้าหมายในการลดการเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกและของเสียอันตรายข้ามประเทศ

การแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งได้รับการลงมติยอมรับในระหว่างการประชุมที่กรุงเจนีวาเดือนนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยกำหนดว่าประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกจะต้องขออนุญาตจากประเทศที่จะรับขยะนั้นก่อน

ตามรายงานปี 2561 จากวารสาร Science Advances ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science) ก่อนที่จะมีการจำกัดการนำเข้าขยะ จีนเคยนำเข้าขยะพลาสติกคิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดของโลก

แต่เมื่อจีนออกนโยบายระดับชาติที่ค่อย ๆ จำกัดการนำเข้ากระดาษและพลาสติกที่รีไซเคิลได้เมื่อเดือนมกราคม 2561 ราคาขยะที่รีไซเคิลได้ตกลงไปมาก ทำให้บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นประเทศหลักในการนำเข้าขยะพลาสติกไป

“เกือบจะพูดได้เลยว่า ขยะพลาสติกจากประเทศพัฒนาแล้วกำลังท่วมชุมชนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยสะอาดและเจริญให้กลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะมีพิษ” นายวอน เฮอร์นานเดซ เจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศขององค์กร Break Free from Plastic พันธมิตรรายหนึ่งขององค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว

“ช่างไร้ความยุติธรรมเสียเหลือเกิน ที่บรรดาประเทศและชุมชนที่มีขีดความสามารถและทรัพยากรน้อยกว่าในการจัดการกับมลภาวะที่เกิดจากพลาสติก กำลังตกเป็นเป้าหมายพื้นที่ทิ้งขยะพลาสติกให้แก่บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว”

หลังจากที่จีนห้ามนำเข้าขยะดังกล่าว มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่รับขยะนำเข้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยในปี 2561 ได้นำเข้าขยะพลาสติกถึง 750,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 483 ล้านริงกิต (116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามรายงานจาก Institute of Scrap Recycling Industries (ISRI) สมาคมการค้าที่มีสำนักงานใน กรุงวอชิงตัน

ปริมาณการนำเข้าขยะของจีนลดลงจากกว่า 600,000 ตันต่อเดือนในปี 2559 เหลือ 30,000 ตันต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นมา ISRI กล่าว

“เพราะนโยบายการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของจีน ประเทศอื่น ๆ จึงส่งออกขยะพลาสติกที่ผิดกฎหมายมายังมาเลเซียเป็นหลัก” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียกล่าว

ขณะเดียวกันกับที่กำลังต่อล้อต่อเถียงให้ประเทศอุตสาหกรรม ให้นำขยะของตัวเองกลับไป หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ลงมือดำเนินการบางอย่าง หลังจากที่เริ่มจำกัดการนำเข้าขยะในช่วงราวกลางปี 2561

มาเลเซียออกคำสั่งห้ามเป็นการถาวร

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 รัฐบาลมาเลเซียได้ยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าขยะพลาสติก และสามเดือนหลังจากนั้น ได้ออกคำสั่งห้ามเป็นการถาวร

ทางการมาเลเซียยังเริ่มใช้มาตรการรุนแรงกับบรรดาผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติกที่ไม่มีใบอนุญาต ทางการมาเลเซียได้จับกุมคนงานหลายสิบคนในระหว่างการบุกเข้าตรวจค้นโรงงานที่ผิดกฎหมายหลายแห่งที่กำลังพยายามหากำไรจากการค้าขยะพลาสติกระหว่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

มาเลเซียเริ่มดำเนินการปราบปรามขยะพลาสติก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการมาเลเซียกล่าวว่า มีการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกจำนวน 24 ตู้คอนเทนเนอร์ จากสเปนเข้าสู่มาเลเซียที่ท่าเรือกลาง รัฐสลังงอร์ โดยใช้แบบฟอร์มศุลกากรปลอม

นับแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มาเลเซียได้ซื้อขยะพลาสติกจากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ทำให้โรงงานผิดกฎหมายนับสิบแห่งมีเศษขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จำนวนมาก ซึ่งมักจะถูกนำไปเผาอย่างลับ ๆ และปล่อยสารเคมีเช่นไดออกซินออกมา สารเคมีตัวนี้อาจทำลายระบบประสาทได้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลมาเลเซียกล่าวว่าได้สั่งปิดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่ไม่มีใบอนุญาตจำนวน 139 แห่ง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

อินโดนีเซีย: มีขยะครัวเรือนปะปนมาด้วย

อินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเข้าขยะพลาสติกจำนวน 35,000 ตันต่อเดือน จากเยอรมนี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาในปลายปี 2561 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นมากจาก 10,000 ตันต่อเดือนในปลายปี 2560 ตามรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย

สามประเทศข้างต้นเป็นผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วรับขยะพลาสติกปริมาณกว่า 320,000 ตัน ตามคำกล่าวของนางโรซ่า วิเวียน รัตนวาตี อธิบดีกรมจัดการของเสีย กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย

“พลาสติกที่นำเข้ามานั้นเป็นขยะที่ไม่เป็นอันตรายและไม่เป็นพิษ ในรูปของเศษพลาสติกและพลาสติกที่สะอาด” เธอบอกแก่เบนาร์นิวส์

กฎข้อบังคับปี 2559 ของกระทรวงพาณิชย์ข้อหนึ่งระบุว่า วัสดุดังกล่าวสามารถนำเข้ามาได้  และได้รับการจัดหมวดว่าเป็นของเสียตกค้างสำหรับการรีไซเคิล เธอกล่าว

นางโรซ่า วิเวียน รัตนวาตี เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐของอินโดนีเซียที่สนับสนุนการค้าขยะพลาสติกระหว่างประเทศ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติก คำสั่งนี้เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ้างว่าไม่มีการบังคับใช้เป็นส่วนใหญ่ เขากล่าวว่าอินโดนีเซียมีดุลการค้าเกินดุล 40 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิล

บรรดากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างก็แสดงความกังวลว่า บริษัทในประเทศได้แสวงหาผลประโยชน์จากกองขยะขนาดมหึมา ด้วยการนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมาย และกล่าวหาโรงงานที่ผิดกฎหมายว่าทำการเผาขยะพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ โดยไม่สนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“คนบางคนได้กำไรจากการนำเข้าขยะพลาสติก แต่ที่จริงแล้ว พวกเขากำลังได้รับผลกระทบในทางที่ไม่ดีด้วย เพราะในที่สุดแล้ว ขยะเหล่านั้นจะคุกคามสุขภาพของประชาชน” นายปรีกี อริซันดี ผู้ก่อตั้งองค์กร Ecological Observation and Wetlands Conservation (Ecoton) บอกแก่เบนาร์นิวส์

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียยังอ้างด้วยว่า มีกระดาษที่ใช้แล้วและขยะครัวเรือนปะปนมากับขยะพลาสติกที่นำเข้าโดยบรรดาโรงงานต่าง ๆ ด้วย

“อินโดนีเซียมีบริษัทกระดาษจำนวน 55 แห่ง โดย 22 แห่งอยู่ในชวาตะวันออก เราพบว่าโรงงานเหล่านี้นำเข้ากระดาษใช้แล้ว สิ่งที่น่าวิตกคือ มีขยะพลาสติกปะปนมากับกระดาษที่นำเข้านั้นด้วย” นายปรีกีกล่าว

“เราพบว่าประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย กำจัดขยะครัวเรือนของตัวเองโดยการปนขยะเหล่านั้นเข้ากับกระดาษใช้แล้ว จากนั้นจึงส่งออก” เขากล่าว

องค์กร Ecoton ประเมินว่าร้อยละ 70 ของกระดาษทั้งหมดที่นำเข้ามารีไซเคิล มีขยะพลาสติกปะปนมาด้วย

ชาวบ้านยืนอยู่บนกองขยะพลาสติกนำเข้าปริมาณหลายตัน ที่พื้นที่ทิ้งขยะ เมืองเบกาซี ทางชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 (อัฮหมัด ไซยัมซูดิน/เบนาร์นิวส์)
ชาวบ้านยืนอยู่บนกองขยะพลาสติกนำเข้าปริมาณหลายตัน ที่พื้นที่ทิ้งขยะ เมืองเบกาซี ทางชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 (อัฮหมัด ไซยัมซูดิน/เบนาร์นิวส์)

ไทยลดโควตาการนำเข้า

ทางการไทยได้พยายามจัดการกับขยะพลาสติกที่นำเข้าด้วยการลดโควตา “จากหลายแสนตันเหลือ 70,000 ตันต่อปี และอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะพลาสติกที่จะสามารถใช้ต่อได้เป็นเวลานานและที่นำไปรีไซเคิลได้เท่านั้น” นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมพิษ บอกแก่เบนาร์นิวส์

เมื่อต้นปี 2561 ปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของไทยเพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 75,000 ตันต่อเดือน โดยมีขยะพลาสติกจากผู้ส่งออกรายสำคัญคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตามรายงาน Recycling Myth Report ปี 2561 ขององค์กรกรีนพีซ

เพราะผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทของไทย รัฐบาลทหารไทยจึงจู่โจมบรรดาโรงงานรีไซเคิลพลาสติก

ในกลางปี 2561 กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของไทยได้สั่งห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกเป็นการชั่วคราว และประกาศแผนว่าจะห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสิ้นเชิงภายในปี 2563

“ปัจจุบัน มาตรการยกเลิกการนำเข้าขยะ 422 รายการ ภายในสองปี อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา” นายประลองกล่าว

การโต้เถียงเรื่องขยะระหว่างฟิลิปปินส์และแคนาดา

ขยะที่ไม่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งถุงพลาสติกที่เปื้อน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างฟิลิปปินส์และแคนาดา

ฟิลิปปินส์ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อมของแคนาดา หลังจากที่แคนาดาไม่นำขยะหลายพันตันที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ติดป้ายว่าเป็นขยะพลาสติกกลับไปภายในกำหนดเส้นตายคือ วันที่ 15 พฤษภาคม ขยะเหล่านี้ถูกบริษัทแคนาดาบริษัทหนึ่งส่งเข้ามายังฟิลิปปินส์เมื่อปี 2556 เพื่อทำการรีไซเคิล

ก่อนหน้าที่จะมีการโต้เถียงกันเรื่องขยะนี้ นายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ถึงกับขู่ว่าจะแล่นเรือไปยังแคนาดา และนำขยะดังกล่าวไปทิ้งบนชายฝั่งของแคนาดาด้วยตนเองเลยทีเดียว

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อได้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อฟิลิปปินส์เรียกตัวเอกอัครราชทูตและกงสุลฟิลิปปินส์ประจำแคนาดากลับเมื่อวันพฤหัสบดี

ฟิลิปปินส์จะ “เก็บเจ้าหน้าที่ทางการทูตจำนวนเล็กน้อยไว้” ในแคนาดา จนกว่าแคนาดาจะนำขยะที่ไม่เป็นที่ต้องการกลับคืนไป นายทีโอโดโร ลอคซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ กล่าวในข้อความที่โพสต์ลงในทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายซัลวาดอร์ ปานีโล จูเนียร์ โฆษกประจำสำนักประธานาธิบดี กล่าวว่า การเรียกตัวเอกอัครราชทูตและกงสุลกลับนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงกดดันแก่แคนาดาให้เร่งนำขยะกลับไป

“การที่ท่านรัฐมนตรีลอคซินเรียกตัวเจ้าหน้าที่การทูตที่ประจำที่นั่น (แคนาดา) กลับมา แสดงให้เห็นว่าเราไม่เพียงจริงจังกับเรื่องนี้เท่านั้น แต่เรายังกำลังเตือนให้แคนาดาทราบว่า เราจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับแคนาดา" นายซัลวาดอร์บอกแก่ผู้สื่อข่าว

ฮาดี อัซมี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีส่วนในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง