จีนขอให้สหรัฐเลิกยั่วยุ-ยกระดับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
2019.11.18
กรุงเทพฯ

ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนที่เริ่มมาตั้งแต่สุดสัปดาห์จนถึงวันจันทร์นี้ นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวกระตุ้นให้สมาชิกชาติอาเซียน “ใช้พื้นที่ที่แต่ละประเทศมีบูรณภาพเหนือดินแดนนั้น รวมทั้งในพื้นที่สากล มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการสูญเสียมันไป” ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกร้องให้สหรัฐเลิก “เบ่งกล้าม” ยั่วยุและแทรกแซงในทะเลจีนใต้
ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่มประเทศอาเซียนในปีนี้ ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนร่วมกับประเทศนอกกลุ่มประชาคมอีก 8 ประเทศ (ADMM Plus) ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาและในวันจันทร์นี้ตามลำดับ
ในวันอาทิตย์ นายมาร์ค เอสเปอร์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งนายเอสเปอร์ ได้กล่าวย้ำถึงเรื่องความขัดแย้งเหนือดินแดนทะเลจีนใต้ที่จีนได้เคลมความเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมด ในขณะที่มีชาติอาเซียนสี่ประเทศแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่บางส่วน โดยได้เน้นความสำคัญของบทบาทของชาติอาเซียนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“อาเซียนเป็นแกนกลางในการที่จะประสบความสำเร็จเป้าหมายร่วมกันของเรา จริงๆ แล้ว ยุทธศาสตร์ของเรามีจุดร่วมเดียวกันกับวิสัยทัศน์อาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเน้นไปที่อาเซียน ออสเตรเลีย และการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคด้วยกลไกของอาเซียนที่มีอยู่” นายเอสเปอร์ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์นี้
ในห้วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อยู่บ่อยครั้ง เพราะจีนได้ทำร้ายเรือประมง และการขัดขวางไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปพื้นที่ทับซ้อน โดยจีนอ้างว่าทะเลจีนใต้ส่วนใหญ่เป็นของตนเอง รวมถึงน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ อีกทั้งได้ปลูกสร้างสาธารณูปโภคทางการทหารบนเกาะแก่งในพื้นที่ทับซ้อน เพื่อขยายแสนยานุภาพทางทหาร และยังทำการยิงทดสอบขีปนาวุธอีกด้วย
“การกระทำของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ เป็นความท้าทายทางทะเล ที่ต้องหาทางออกด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย การกระทำของจีนที่นั่นไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามต่อประเทศที่เคลมสิทธิและหลายประเทศในอาเซียน แต่ยังคุกคามทุกประเทศที่ต้องใช้เส้นทางในการค้าขาย ซึ่งเป็นประเทศที่ให้คุณค่าต่อเสรีภาพทางทะเลและการยุติปัญหาโดยสันติวิธี” นายเอสเปอร์ กล่าว
“ใช้พื้นที่ที่แต่ละประเทศมีบูรณภาพเหนือดินแดนนั้น รวมทั้งในพื้นที่สากล มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการสูญเสียมันไป” นายเอสเปอร์ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์นี้
“เราจะต้องยืนหยัดร่วมกัน ในการใช้พื้นที่ทางอากาศและทางทะเลอย่างถูกกฎหมาย เพื่อผลักดัน ต่อต้าน การบีบบังคับและการข่มขู่” รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าววิพากษ์จีนที่แผ่ขยายการใช้พื้นที่ในทะเลจีนใต้ในทางการทหาร
อย่างไรก็ตาม ในขอบเวทีการประชุม ADMM Plus ในวันจันทร์นี้ นายเอสเปอร์ ได้พูดคุยกับ พล.อ.เว่ย เฟิ่งเหอ (Wei Fenghe) มนตรีแห่งรัฐ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลาสั้นๆ
“เรามีความเห็นพ้องกันว่าเราจะพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยครั้ง ซึ่งเราได้มีความคืบหน้าในหลายๆ เรื่อง” นายเอสเปอร์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ด้าน พันเอก วู่ เจี๋ยน ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า พล.อ.เว่ย รมว.กลาโหมของจีน ได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการปกป้องอธิปไตยสิทธิเหนือดินแดนและสิทธิทางทะเลในทะเลจีนใต้ และการรักษาความสงบและความมีเสถียรภาพในพื้นที่
“ฝ่ายจีนยังได้เรียกร้องให้สหรัฐยุติการเบ่งกล้ามในทะเลจีนใต้ และเลิกยั่วยุและยกระดับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้” พ.อ.วู่ เจี๋ยน กล่าว
พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.) ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรจะมีการเร่งจัดทำแนวทางวิธีปฏิบัติในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
“ในที่ประชุมมีความเห็นว่า Code of conduct (แนวทางปฏิบัติ) น่าจะทำให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อจะให้มีผลด้านเสถียรภาพในทะเลจีนใต้มากขึ้น และความเห็นหลายประเทศ อยากให้ดำรงไว้ซึ่งการรักษากฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเรือ หรือ การใช้ในการเดินทาง ให้รักษาหรือดำรงไว้ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ” พล.อ.รักศักดิ์ กล่าว
ไทยลงนามบันทึกความร่วมมือกับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สามฉบับ : รักษาสมดุลทางการทหาร
นอกจากนั้น เมื่อวันอาทิตย์นี้ พลเอกประยุทธ์ และนายเอสเปอร์ ได้ลงนามแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ค.ศ. 2020 ซึ่งมีสาระที่สำคัญว่า “กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาและกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทย เน้นย้ำความสำคัญของการเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยในศตวรรษที่ 21 เราตระหนักว่าสายสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศส่งเสริมความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรหลักนอกสนธิสัญญานาโต ที่มีความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ มากว่า 65 ปี
อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ และพล.อ.เว่ย ยังได้ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกลาโหมไทย-จีน ซึ่งใช้เป็นกรอบการทำงานในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ บนพื้นฐานหลักความเท่าเทียมกัน ผลประโยชน์ร่วมกันและเคารพอย่างเต็มที่ต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน
ในส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้น พลเอกประยุทธ์ และนายโคโนะ ทะโร รมว.กลาโหมญี่ปุ่น ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมสองชาติ ว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหาร ซึ่งจะเป็นกรอบของการส่งเสริมความร่วมมือ ความร่วมมือด้านการฝึกร่วม ด้านการศึกษาและวิจัย ด้านการส่งกำลังบำรุง ด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางทหาร รวมถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นต้น
“การลงนามความร่วมมือและแถลงวิสัยทัศน์ที่ กระทรวงกลาโหมทำกับแต่ละประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 ในภูมิภาค แสดงถึงสถานะความสำคัญและบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาค ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศระดับทวิภาคี ในลักษณะเปิดกว้างและสมดุลกับทุกประเทศ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหาร บนพื้นฐานของหลักความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค” พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว