นายกฯ ระบุ ไม่ขวางแผน ทร. ซื้อเรือดำน้ำจีนเพิ่ม
2019.07.30
กรุงเทพ

ในวันอังคารนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชน เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 จากประเทศจีนว่า แผนการซื้อเรือดำน้ำของทางกองทัพเรือนั้นจบเรียบร้อยแล้ว และขอให้ดูถึงความจำเป็นและความเหมาะสมว่าจะต้องซื้อหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวที่กระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดใหม่นี้ โดยเมื่อถูกถามว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ จะยังสนับสนุนโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวให้คำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสม
“ก็มันจบไปแล้วนี่ ทำไมล่ะ มันก็ควรจะต้องมีไหมล่ะ มันควรจะต้องมีลำเดียวแล้วพอโดยที่มันเสียแล้วก็ใช้ไม่ได้หรือไง มันต้องพักหมุนเวียนกันหรือเปล่า... ก็ดูความจำเป็นนะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ มิได้ขยายความ หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำสำหรับกองทัพเรือแต่อย่างใด ทางเบนาร์นิวส์พยายามติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทัพเรือ และเจ้าหน้าที่ทหารเรือระดับสูง แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน แบบ S26T ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan Class หรือ Type 039B) จำนวน 1 ลำ เรียบร้อยแล้ว
โดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) คนปัจจุบัน ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ทาง ทร. มีความต้องการจัดหาเรือดำน้ำรวมสามลำ คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท เป็นเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S26T จากประเทศจีน 1 ลำ ใช้เงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560
การจัดซื้อครั้งนี้ พล.ร.อ.ลือชัย เป็นผู้ลงนามร่วมกับบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ผู้แทนรัฐบาลจีน ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 เป็นข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้มีการวางกระดูกงูเรือดำน้ำลำแรกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561
การเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำลำแรก ซึ่งใช้งบประมาณ 13,500 ล้านบาท แบ่งชำระเงินเป็น 7 ปี รวม 17 งวด เริ่มจ่ายงวดแรกปี 2560 เป็นเงิน 700 ล้านบาท และงวดที่เหลือระหว่างปี 2561-2566 ชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท เดือนกันยายน 2561 จีนได้เริ่มต่อเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ด้านการทหารผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า คุณภาพของเรือดำน้ำจีนยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ เพราะจีนมีประสบการณ์การต่อเรือดำน้ำมาไม่นานนัก และที่ผ่านมา จีนไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลข้อดีข้อเสียของเรือดำน้ำของตน
“เรื่องสมรรถนะ วัสดุที่ใช้ ความทนทาน ระบบโซนาร์ และระบบอาวุธ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่เหมือนของชาติตะวันตกที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว อายุใช้งานของเรือดำน้ำจีนประมาณ 10-15 ปี ในขณะที่ของชาติตะวันตกมีอายุใช้งาน 30 ปี ขึ้นไป” ผู้สังเกตการณ์ท่านดังกล่าวให้ทัศนะผ่านเบนาร์นิวส์
ต่อประเด็นการจัดซื้ออาวุธ และยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยที่ผ่านมา กล่าวแก่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ เป็นการซื้อเพื่อทดแทนของเก่า ซึ่งใช้งานมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
“การใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหมนั้น เราแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน… ยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ซึ่งเรามีแผนการจัดหายุทโธปกรณ์ของเราอย่างชัดเจน ยุทโธปกรณ์ที่เราใช้อยู่ขณะนี้ ใช้เป็นระยะเวลา 20-30 ปีทั้งนั้น ก็ถึงคราวที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง... เป็นเรื่องของเหล่าทัพที่เขาจะพิจารณาใช้ มาให้กระทรวงกลาโหมได้พิจารณา” พล.อ.ประวิตร กล่าว
โดยจากเอกสารงบประมาณของรัฐบาล ปี 2562 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณ 117,583,067,200 บาท แบ่งเป็น กองทัพบก 49,480,319,200 บาท กองทัพเรือ 23,295,212,200 บาท และกองทัพอากาศ ได้ 28,232,821,800 บาท