ชาวเน็ตไทยร่วมต้านหนัง "มู่หลาน"

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.09
กรุงเทพฯ
200909-TH-mulan-boycott-1000.jpeg ผู้คนเดินผ่านป้ายโฆษณาหนังเรื่องมู่หลานที่เข้าฉายในช็อปปิ้งมอลล์แห่งหนึ่งในกรุงเทพ แม้ว่าจะโดนกระแสต่อต้านจากคนไทยบางกลุ่มเพราะเห็นดารานำหนุนตำรวจฮ่องกงทำร้ายผู้ประท้วง วันที่ 8 กันยายน 2563
เอเอฟพี

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยอย่างน้อยห้าหมื่นราย ร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านภาพยนตร์เรื่อง มู่หลาน โดยการแฮชแท๊ก #Boycottmulan โดยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หนึ่งในแกนนำการรณรงค์ดังกล่าวของประเทศไทย ระบุว่า ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องนี้ มีดารานำที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในฮ่องกง ทั้งยังเหยียดเชื้อชาติอุยกูร์ ขณะที่ผู้เห็นต่างมองการรณรงค์ดังกล่าวว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทย

กระแส #BoycottMulan #BanMulan เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน 2563 ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก เนื่องจากภาพยนตร์ในเครือดิสนีย์เรื่องดังกล่าว ซึ่งปรับใหม่จากเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นในปี 1998 มาเป็นการใช้คนแสดงจริง จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ โดยผู้สนับสนุนการ #boycottmulan ไม่เห็นด้วยกับการที่ดารานำของเรื่องเคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในฮ่องกง ขณะที่ผู้เห็นต่างมองว่า #boycottmulan เป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทยเท่านั้น

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หนึ่งในผู้ริเริ่ม #boycottmulan ในประเทศไทย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ต้องต่อต้านภาพยนตร์เรื่อง มู่หลาน เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการแผ่อิทธิพลของจีนสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งคนในสังคมควรตระหนักถึงความรุนแรงโดยรัฐบาลจีน ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

“หนังมู่หลาน เป็นหนังที่แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลจีนใช้หนังในการประชาสัมพันธ์ เป็นการใช้ซอฟพาวเวอร์ ซึ่งมันน่ากลัว รัฐบาลจีนร่วมมือกับทุนนิยมประชาสัมพันธ์แล้วดูหมิ่นคนอุยกูร์ เอาหนังไปฉายในซินเจียง ในขณะที่คนอุยกูร์ถูกกักกัน ทำรุนแรง หลายคนพยายามจะไม่พูดถึงมุมนี้ พยายามให้คนดูหนังอย่างมีความสุข ทั้งที่หนังมันเต็มไปด้วยเลือดเนื้อ และการที่นักแสดงนำของหนังเคยออกมาเชียร์ตำรวจฮ่องกง ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในตอนนั้น หนังเรื่องนี้รวมทุกอย่างของความรุนแรงเอาไว้ และแสดงว่าจีนพยายามจะเผยแพร่อำนาจออกมาสู่โลก” นายเนติวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ นายเนติวิทย์ เริ่มการรณรงค์ไม่สนับสนุนภาพยนตร์ มู่หลาน ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 โดยเขียนข้อความลงทวิตเตอร์ของตนเองระบุว่า “พรุ่งนี้ Mulan เริ่มฉายวันแรก แต่เรายังไม่ลืมที่นักแสดงมู่หลานสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ต่อผู้ชุมนุมฮ่องกงที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เชิญชวนทุกคน #BoycottMulan #BanMulan เพื่อให้ทางดีสนีย์และรัฐบาลจีนรู้ว่าความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

ข้อความดังกล่าวของนายเนติวิทย์ ถูกทวีตต่อกว่า 5.3 หมื่นครั้ง และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางโดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่เห็นต่างออกไป รวมถึงถูกตีความเข้ากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศด้วย

“จริง ๆ ก็แบนมู่หลานด้วยเหตุผลว่า ไม่สนับสนุนการที่คนขาวเอาวัฒนธรรมชาวบ้านไปต้มยำทำแกงขายหาเงิน โดยไม่ศึกษาให้ดี แล้วก็นำเสนอภาพผิด ๆ ออกไปก็ได้” ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @monocuromu กล่าว

ด้าน นายบุญเกื้อ ปุสสเทโว โฆษกกลุ่มไทยภักดี กล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า #boycottmulan ในประเทศไทย มีนายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวฮ่องกงอยู่เบื้องหลัง

“จะเห็นได้ว่า เมื่อโจชัว หว่อง บอกให้แบน “มู่หลาน” ขบวนการปลดแอกไทยก็รับคำสั่งมาปฎิบัติตามทันที จึงไม่ต้องแปลกใจเลย ถ้าต่อไปนี้เราจะได้เห็น โจชัว หว่อง มาชี้นำให้ต่อต้านบุคคลสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ของไทยเรา #ใครเป็นทาสใคร” ตอนหนึ่งของข้อความ ระบุ

ต่อประเด็นผู้อยู่เบื้องหลัง #boycottmulan นายเนติวิทย์ ชี้แจงว่า ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังการรณรงค์ของตนเอง

“มันไม่เกี่ยวกับเบื้องหลัง แต่มันเกี่ยวกับความทุกข์ เกี่ยวกับสิ่งที่มันเกิด คนไทยก็ถูกจีนรังแก ไต้หวันก็เจอ ฮ่องกงก็เจอ ทำไมต้องมีใครอยู่เบื้องหลัง คนออกมาเคลื่อนไหวเหมือนกันทั่วโลก เพราะว่าคนมันเจอปัญหาร่วมกันทั้งโลก มันเกิดจากความไม่พอใจ ก็เลยต้องออกมาเรียกร้อง” นายเนติวิทย์ ระบุ

ภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน สร้างโดยบริษัท วอลต์ ดิสนีย์ ของสหรัฐอเมริกา กำกับการแสดงโดย นิกี คาโร นำแสดงโดย หลิว อี้เฟย์ และเจิน จื่อตัน เล่าเรื่องเกี่ยวกับการสู้รบในสงครามจีนยุคโบราณ สมัยราชวงศ์ถัง แต่เดิมมีกำหนดฉายในปี 2561 ก่อนเลื่อนมาฉายในเดือนกรกฎาคม 2563 และถูกเลื่อนอีกครั้งเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กระทั่งได้ฉายจริงในต้นเดือนกันยายน 2563 โดยหลังจากเข้าฉาย ในวันที่ 3-6 กันยายน 2563 สามารถทำยอดขายตั๋วได้มากกว่า 42 ล้านบาท

ทั้งนี้ #BoycottMulan เคยถูกใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่ หลิว อี้เฟย์ นักแสดงนำของมู่หลาน เขียนข้อความ พร้อมกับเผยแพร่ข่าวการประท้วงในฮ่องกง โดยระบุว่า "ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกง จะทุบตีฉันก็เอาเลย" ทำให้เกิดการต่อต้านภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว และเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉาย เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยมีการระบุถึงการเหยียดเชื้อชาติอุยกูร์ เนื่องจากท้ายภาพยนตร์ มีการเขียนข้อความขอบคุณรัฐบาลมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อว่า รัฐบาลจีนใช้กักตัวคนเชื้อสายอุยกูร์จำนวนมาก เพื่อปรับทัศนคติ

ขณะเดียวกัน สภาอุยกูร์โลกได้เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ในภาพยนตร์มู่หลาน ดิสนีย์ขอบคุณสำนักงานความมั่นคงสาธารณะในเมืองทูหลูฟาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับค่ายกักกันในเตอร์กิสถานตะวันออก” โดยเตอร์กิสถานคือ ดินแดนที่ชาวอุยกูร์เคยปกครองตัวเอง ก่อนจีนเข้ายึดครองในปี 2492

นายโจชัว หว่อง ได้ทวีตข้อความที่ระบุว่า “ถ้าดูหนังมู่หลาน นอกจากจะทำให้คุณเหมือนแกล้งปิดตากับเรื่องการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งดารานำของหนังสนับสนุนแล้ว ตอนนี้ ยังถือว่าคุณได้ร่วมกักขังชาวมุสลิม-อุยกูร์ด้วย”

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนายโจชัว และนายเนติวิทย์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง และไทย เคลื่อนไหวพร้อมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ฮ่องกง ไทย และไต้หวัน เคยร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองและสังคมในนาม “พันธมิตรชานม” มาแล้ว

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจากสำนักงานดิสนีย์ในประเทศไทยได้ ขณะที่เรดิโอ ฟรี เอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายเดียวกันกับเบนาร์นิวส์ รายงานว่า ทางดิสนีย์ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์ถึงการตัดสินใจถ่ายทำหนังในมณฑลซินเจียง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง