ชาวทวิตเตอร์ไทยสู้ศึกไซเบอร์โต้ 'ชมพูน้อย' กลุ่มชาตินิยมจีน
2020.04.15
กรุงเทพฯ

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทย ไต้หวันและฮ่องกงรวมตัวเป็นพันธมิตรเพื่อโต้ตอบกับ “พวกชมพูน้อย” ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมไซเบอร์ของจีน โดยสาเหตุนั้นเริ่มมาจากการโต้เถียงในกลุ่มนิยมดาราจากนั้นก็บานปลายมาเป็นปัญหาภูมิภาค
วชิรวิชญ์ ชีวอารี หรือไบรท์ นักแสดงหนุ่มจากซีรีส์วายสุดฮิตทั้งในไทยและจีน เรื่อง “เพราะเราคู่กัน” (2gether ) เคยนำภาพของคนอื่นมารีโพสต์ในอินสตาแกรมของตน ซึ่งมีข้อความระบุว่า ฮ่องกงและไต้หวันเป็น “ประเทศ” ทำให้กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีสมญาว่า “ชมพูน้อย” เข้าไปกล่าวหาเขาว่า ข้อความของเขาข้อความแสดงนัยไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียวที่บอกว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในขณะที่ นิว วีรญาก็ถูกโจมตีด้วยเช่นกัน เพราะเธอเคยรีโพสต์ข้อความของคนอื่นว่า โควิด-19 เกิดจากห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่น
จากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ ทำให้ชาวอินเตอร์เน็ตจีนที่เป็นแฟนคลับซีรีย์เรื่องนี้ของไทยขู่ว่า จะเลิกดูละครของไทย รวมทั้งไม่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยอีก หลังจากที่โควิด-19 หยุดระบาดไปในอนาคต รวมทั้งเข้ามาต่อว่าทั้งสองคน โดยเฉพาะ นิว วีรญา อย่างมากมาย
ชาวทวิตเตอร์ไทย ที่เรียกกันว่า ทวิตเตี้ยน ต่างก็พากันเข้ามาแสดงความคิดเห็น เพื่อช่วย นิว วีรญา โดยบางคนพยายามอธิบายว่าสิ่งที่โจมตีนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน แต่ต่อมาเมื่อทางฝ่ายจีนโจมตีหนักขึ้น ทวิตเตี้ยนไทยจึงตอบโต้ด้วย meme ต่าง ๆ ที่แฝงอารมณ์ขัน อย่างเช่น โพสต์วิดีโอคลิปภาพนักท่องเที่ยวจีนแย่งอาหารกันในภัตตาคารบุฟเฟต์ของไทย หรือกล่าวถึงการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่เกิดขึ้นในปี 1989 หรือล้อเลียน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง โดยเปรียบเขาเป็น วินนี่ เดอะ พูห์ ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในจีนเป็นต้น
จากนั้น ชาวทวิตเตอร์ไต้หวันและฮ่องกงก็มาร่วมกับไทยเปิดศึกกับ กลุ่มชมพูน้อยด้วย ภายใต้ #nnevvy อันเป็นบัญชีทวิตเตอร์ของ วีรญา ทำให้แฮชแท็กได้รับความนิยมติดอันดับท็อปเท็นในลิสต์แฮชแท็กยอดนิยมของไทย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
กลุ่มชาวทวิตเตอร์จีนหันมาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ทั้งบอกว่าประเทศไทยยากจน ล้าหลัง แต่ไทยก็โต้ตอบด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น ขอบคุณที่ชาวจีนสนใจปัญหาของไทย และนำไปเปิดเผยให้โลกรู้ รวมทั้งทำ meme ตึกถล่มที่แสดงนัยถึงตึกที่สร้างไม่ได้มาตรฐานในจีน และการคอร์รัปชันในจีนด้วย
เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวจีนต่างออกมาอ้างว่า ไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยถามกลับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมพลเมืองจีนจึงต้องขอวีซ่า เพื่อไปไต้หวันด้วย และเมื่อกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวจีนระบุว่า รัฐบาลไทยไร้ความสามารถ ทวิตเตี้ยนไทยก็ตอบด้วยอารมณ์ขัน เช่นว่า “พูดให้ดัง ๆ หน่อย” หรือ “เรารู้มานานแล้ว เป็นต้น
“พันธมิตรชานม”
ศึกออนไลน์ระหว่างชาวทวิตเตอร์ของไทยและจีนนี้ เริ่มดึงดูดชาวทวิตเตอร์ในประเทศอื่น ๆ ที่มักโดนพวกชมพูน้อยโจมตีเสมอมา ซึ่งพวกนี้ มักจะเข้าไปถล่มคนที่พูดเรื่องไต้หวันเป็นอิสระจากจีนหรือเรื่องอื่น ๆ ที่จีนไม่ชอบใจด้วยคำว่า NMSL ที่มาจากประโยคที่ว่า “ni ma si le” ซึ่งแปลว่า ขอให้แม่แกตาย
“ไต้หวันไม่ใช่จีน” ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า Amazing เขียน “ปลดแอกฮ่องกง ซินเจียง และทิเบต! ขอบคุณชาวไทย ปลดแอกจีนแผ่นดินใหญ่… ระเบิดกำแพง! #nnevvy #freechina”
ชาวทวิตเตอร์ในไต้หวัน และฮ่องกง กล่าวชื่นชมคนไทยที่พูดแทนพวกเขา
นอกจากคนทั่วไปแล้ว ก็ยังมีพวกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามาร่วมด้วย อย่างเช่น โจชัว หว่อง ผู้นำประท้วงในฮ่องกง เขาโพสต์ความเห็นโดยใช้ meme “พันธมิตรชานม” ที่วาดเป็นชานมสามแบบที่แทนฮ่องกง ไทย และไต้หวัน
โจชัว หว่อง ยังได้โพสต์เซลฟี่ในขณะที่ดูซีรีย์เรื่อง “เพราะเราคู่กัน” และก็เรียกร้องให้คนฮ่องกง “ยืนเคียงข้างเพื่อนชาวไทยที่รักในเสรีภาพ”
เขายังได้เขียนอีกว่า “บางทีเราอาจจะสร้างความร่วมมือในเอเชียแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีจุดประสงค์ต่อต้านอำนาจนิยมทุกรูปแบบ”
ในขณะที่ เฉิง เวิ่น จ้าน นายกเทศมนตรีเมืองเทาหยวน ในไต้หวัน ก็ออกมาสนับสนุนพันธมิตรในอินเตอร์เน็ตนี้ “ขอบคุณเพื่อนของเราจากประเทศไทย” เขาทวีต พร้อมทั้งติดธงไทยและไต้หวันคู่กัน
“ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไต้หวันอยู่แล้ว และหลังจากโควิด-19 เราจะไปมาหาสู่กัน”
“อคติและความไม่รู้”
เมื่อวันอังคาร โฆษกสถานทูตจีนในประเทศไทยออกแถลงการณ์ในหน้าเฟซบุ๊กของสถานทูต ระบุว่ารัฐบาลไทยและประชาชนไทยนั้นสนับสนุนนโยบายจีนเดียว นโยบายนี้นับเอาไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนด้วย
“ความคิดเห็นส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์สามารถสะท้อนอคติและความไม่รู้ของตนเท่านั้น แต่ไม่สามารถแสดงถึงจุดยืนที่มั่นคงของรัฐบาลไทยและความคิดเห็นกระแสหลักของประชาชนชาวไทยได้” และก็ยังได้กล่าวถึงคนบางกลุ่ม ที่พยายามจะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยกับจีนที่มีมาเนิ่นนาน “คนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยง เพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน ซึ่งความคิดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”
คำแถลงนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ชาวอินเตอร์เน็ตไทยมากมาย พวกเขาได้เข้าไปในหน้าเฟซบุ๊กของสถานทูตจีน และวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ตลอดจนท่าทีของสถานทูตจีน หนึ่งในนั้นก็คือ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีบทบาทในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลไทยหลายเรื่อง
“สถานทูตจีนนั้นล้ำเส้นอย่างมาก ด้วยการมาบอกคนไทยว่า ควรคิดอย่างไรในกรณีนี้” เธอกล่าวกับเบนาร์นิวส์ “นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยโกรธ”
“ทวิตเตี้ยนไทยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น มีความคิดเสรีนิยม และไม่ชื่นชอบอำนาจนิยม พวกเขาต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และพวกเขาก็ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างรัฐบาลจีนและไทย” เธอกล่าว
ในขณะเดียวกัน ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าการโต้ตอบกันทางทวิตเตอร์ในครั้งนี้ เริ่มมาจากเรื่องเล็ก ๆ แต่ในที่สุดก็กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ แสดงถึงปมปัญหาที่มีอยู่เนิ่นนาน จากการที่จีนเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาค และใช้อิทธิพลของตนเองเพื่อทำให้ประเด็นต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้เป็นไปในทางที่ตนเองต้องการ
“กรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้เปิดโอกาสให้คนในภูมิภาคนี้พูดถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ จากการที่จีนเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้น” ผศ.วรศักดิ์ชี้ และเสริมว่า “จีนมักจะกล่าวว่าตัวเองรักสันติภาพ และอยากจะร่วมมือกับทุกประเทศในฐานะที่เท่าเทียมกัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น”
เขายังได้หยิบยกเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงขึ้นมา “การที่จีนจัดการกับเรื่องนี้นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีว่า จีนใช้อำนาจอย่างไรเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์”
เท่าที่ผ่านมาจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนถึง 11 แห่ง และในขณะที่เกิดความแห้งแล้งในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง แม่น้ำโขงตอนกลางที่ไหลผ่านไทยและลาวแห้งผิดปกติ ทำให้หลายฝ่ายออกมากล่าวหาว่า ต้นเหตุก็คือ จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนเป็นจำนวนมหาศาล
สนับสนุนโดยรัฐบาลจีน
แฮชแท็กต่อต้านจีน อย่างเช่น #Nnevvy, #savennevvy, , #Milk tea alliance #ชานมข้นกว่าเลือด, และล่าสุด #StopMekongDam กลายเป็นแฮชแท็กที่ติดอันดับท็อปเท็นในทวิตเตอร์ไทยอยู่หลายวัน และมีการรีทวีตและโพสต์รวมกันเป็นหลายล้านโพสต์
หวัง ต้าน ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษาในปี 1989 กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “กลุ่มชมพูน้อย” อาจจะดูเหมือนเป็นบุคคลทั่วไปที่แสดงความคิดเห็น แต่จริง ๆ แล้วพวกนี้เป็นกลุ่มบัญชีโซเชียลมีเดียที่มีเป้าหมายแน่นอน และมีพฤติกรรมที่เหมือนกัน
“พวกเขาเป็นกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนที่เข้ามาถล่มผู้ที่แสดงความคิดเห็นในทางที่จีนไม่ชอบ และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน” หวังกล่าวกับเรดิโอ ฟรี เอเชีย
“นี่เป็นปฏิบัติการของรัฐบาลจีน อันเป็นหนึ่งในการปฏิบัติการเพื่อเสริมอิทธิพลของจีนในต่างประเทศ โดยการเผยแพร่แนวคิดจีนให้แก่ประชาชนในประเทศอื่น ๆ”
ส่วน โจว ชื่อกวง นักข่าวภาคประชาชน และผู้เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ชาวไต้หวันระบุว่า ชาวอินเตอร์เน็ตไทยนั้นตอบโต้กับกลุ่มชมพูน้อยได้อย่างน่าสนใจ และดูจะมีชัยชนะในสงคราม #nnevvy นี้ “เพราะว่าพวกชมพูน้อยไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการพูดซ้ำ ๆ ว่า “ขอให้แม่แกตาย”
เรดิโอ ฟรี เอเชีย หน่วยงานในเครือเบนาร์นิวส์ ร่วมรายงาน