ประเทศไทย : ชาวอุยกูร์แหกห้องกักกัน ดึงความสนใจนานาชาติต่อชนมุสลิมกลุ่มน้อย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2020.01.23
กรุงเทพฯ
200123-TH-uyghur-1000.jpg ชาวมุสลิมอุยกูร์ที่ได้รับการช่วยเหลือให้หลุดจากมือขบวนการค้ามนุษย์เข้าแถวข้างรถตู้ของตำรวจ ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 15 มีนาคม 2557
เอพี

การหลบหนีออกจากห้องกักกันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ เป็นการเน้นย้ำความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยที่หลบหนีความไม่สงบ จากแคว้นซินเจียง ประเทศจีน มายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เมื่อกว่าห้าปีก่อน

ชาวอุยกูร์เจ็ดคนที่แหกห้องกักขัง ตม. มุกดาหาร เมื่อวันที่ 10 มกราคม นี้ ถูกจับกุมตัวในเวลาไม่นานนัก ซึ่งเป็นการพยายามหลบหนีครั้งที่สอง ซึ่งหากศาลพบว่ามีความผิดจริง จะต้องถูกโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลาสองปี

ยังมีชาวอุยกูร์อีกประมาณ 50 คน ที่ยังถูกกักตัวอยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 4 แห่ง ในประเทศไทย เป็นส่วนที่คั่งค้างจากจำนวน 350 คน ตามตัวเลขในปี 2557 ซึ่งเป็นกลุ่มที่หลบหนีการกดขี่มาจากซินเจียง

“ปัจจุบัน เขาอยู่ที่เรือนจำจังหวัดมุกดาหาร ส่งฟ้องศาลในข้อหาหลบหนีจากที่คุมขังของเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำผิดครั้งที่ 2 เลยต้องดำเนินคดี ตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน โดยโทษสูงสุดจำคุกประมาณ 2 ปี ซึ่งหลังจากดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ติดคุกแล้ว จะได้รับมาผลักดันกลับตามนโยบาย ตม.” พ.ต.ท.อุดร ชาวแขก สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เหตุการณ์แหกห้องกักกันตัวครั้งล่าสุด ทำให้ประเทศไทยเกิดการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ว่าจะทำอย่างไรกับอุยกูร์ 50 คนนี้

หากส่งตัวกลับซินเจียง ก็อาจทำให้พวกเขาเผชิญกับการโดนลงโทษ และประเทศไทยโดนตำหนิโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน

ทางการในแคว้นซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ได้ควบคุมตัวชาวอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่น ๆ อีก ถึง 1.5 ล้านคน เพราะถูกกล่าวหาว่า “มีความเชื่อทางศาสนาที่เข้มข้น” และ มีความคิด “ที่ไม่ถูกต้องในแง่การเมือง” ไว้ในค่ายกักกันตั้งแต่ปี 2560

นายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ให้คำนิยามการกระทำของปักกิ่ง ในแคว้นซินเจียงว่า เป็นวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรม ซึ่ง “มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น” ในช่วง ค.ศ.1930 อันหมายถึง นโยบายของฮิตเล่อร์ อดีตผู้นำนาซีเยอรมัน และ สตาลิน อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียต ซึ่งนายไมเคิล เรียกว่า “รอยด่างแห่งศตวรรษ”

การที่จะกักตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้ไว้ ก็เป็นการสิ้นเปลืองกำลังเจ้าหน้าที่ และทรัพยากรของรัฐบาล

“เกิดสถานการณ์ Catch-22 situation ขึ้นในประเทศกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมจากประเทศจีนกลุ่มนี้ มานานหลายปี ถึงเวลาที่ต้องหาทางออกที่สามารถยอมรับได้” บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำของไทย กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการสัปดาห์ที่แล้ว โดยใช้คำศัพท์ที่ นาย Joseph Heller ใช้ใน ค.ศ.1961 ที่อธิบายถึงสถานการณ์ที่บุคคลไม่สามารถหลุดพ้นจากการถูกกักขังได้ เพราะมีความขัดแย้งของกฎระเบียบ หรือข้อจำกัดใด ๆ

บางกอกโพสต์ ได้เรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หาประเทศที่สามที่ต้องการรับคนเหล่านี้ไป

“ปักกิ่งคงไม่พอใจกับความคิดนั้น แต่ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐเอกราช ต้องมีสิทธิ และความกล้าหาญ ในการตัดสินใจ ต้องไม่ยอมก้มหัวให้จีนในเรื่องอุยกูร์” บทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ระบุ

เมื่อปี 2558 ประเทศไทยโดนตำหนิ เมื่อได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ 100 คนจาก 350 คน ที่กักขังไว้ ให้กับจีน ทั้ง ๆ ที่มีความหวาดหวั่นกันว่า คนเหล่านั้นจะถูกลงโทษ เมื่อกลับถึงประเทศจีน

จากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ได้เกิดระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ มีผู้สียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 120 ราย ซึ่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โยงมือระเบิดเข้ากับกลุ่มหัวรุนแรงของชาวอุยกูร์ ที่ต้องการล้างแค้นทางการไทย ทั้งนี้ ชาวอุยกูร์ถูกจับกุมตัวและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีสองราย ซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธ

“ในความเป็นจริง ประเทศไทยส่งเขาไปไหนไม่ได้ ส่งไปจีนก็กลัวโดนระเบิดเหมือนตอนที่มีระเบิดพระพรหมเอราวัณ ปี 2558 อีก แล้วยังจะต้องถูกประณามโดยนานาชาติ” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ถ้าไม่ส่งไปจีนก็ทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนติดตามดูอยู่ตลอด มาตรวจสอบดูพวกอุยกูร์ที่ศูนย์กักกันทุกเดือน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่อนุญาต เอ็นจีโอ หรือแม้แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบพวกอุยกูร์” นางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม

นางชลิดา ได้กล่าวหลังการเยี่ยมผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ที่เรือนจำจังหวัดมุกดาหาร เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทั้งเจ็ดรายหลบหนี เพราะทนสภาพห้องกักกันไม่ไหว

“ชาวอุยกูร์ได้บอกว่า ที่พวกเขาต้องแหกที่คุมขัง ตม. ออกมา เพราะมันคับแคบ อับชื้น มีหน้าต่างบานเดียวไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เลยหนีออกมา เขาบอกว่า เขาอยากติดคุกใหญ่มากกว่า เพราะยังได้หายใจ ได้ออกกำลังกายบ้าง” นางชลิดา กล่าวและระบุอีกว่า ชาวอุยกูร์เหล่านี้ต้องการเดินทางไปมาเลเซีย เพื่อให้สามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศตุรกีได้

เมื่อประมาณปีกว่ามานี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ฝ่าฝืนความต้องการของจีน โดยอนุญาตให้ชาวอุยกูร์ 11 คน ที่หลบหนีห้องขัง ในประเทศไทย เข้าประเทศมาเลเซีย ในปี 2560 เดินทางต่อไปยังประเทศตุรกี

ปักกิ่งขอตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ แต่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แย้งว่ากลุ่มชาวอุยกูร์เหล่านั้นไม่ได้ทำผิดกฎหมายใด ๆ

สำหรับชาวอุยกูร์ที่ยังตกค้าง ถูกกักขังอยู่ในประเทศไทยมาเกือบหกปี “มันเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีตรรกะ ที่จะต้องกักขังคนเหล่านี้ไว้หลังลูกกรงอีกต่อไป” บทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ กล่าว

“อย่าลืมว่าการทำผิดกฎหมายของพวกเขา เพราะการก้าวเท้าย่างเข้ามาในประเทศไทยนั้น เป็นเพียงกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าเมือง และเขาได้ถูกขังคุกเรียบร้อยแล้ว”

นนทรัฐ ไผ่เจิรญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง