นักวิเคราะห์ : เมียนมา-ทะเลจีนใต้ จะเป็นหัวข้อหารือในประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน
2021.11.19
วอชิงตัน

นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า สถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา ข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการตอบสนองต่อข้อตกลงความมั่นคงฉบับใหม่ของสหรัฐฯ อาจเป็นประเด็นหลักที่จะหารือกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ทวิภาคี
ทว่า ความคืบหน้าสำคัญเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างที่จีนต้องการ ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดในวันที่ 22 พ.ย. นี้ ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้จัดการกับการกระทำที่มากขึ้นของจีน และการที่จีนส่งทหารเข้าไปในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่นั้น
เป็นที่คาดกันว่า นายสี จิ้นผิง นายกรัฐมนตรีของจีน และบรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งอาเซียนและจีนจะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน การประชุมทวิภาคีครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สองในปีนี้ และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่อาเซียนยกระดับความสัมพันธ์ของอาเซียนกับจีนและออสเตรเลีย
“AUKUS และเมียนมา รวมถึงทะเลจีนใต้... เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่จะหารือกันเป็นหลัก ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน” เจมส์ ชิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยทัสมาเนีย บอกกับเบนาร์นิวส์
“นี่จะเป็นโอกาสให้จีนพยายามใช้ AUKUS เป็นพลังคัดง้างกับตะวันตก”
ในข้อตกลงระหว่างสามประเทศฉบับใหม่นี้ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะช่วยให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อพยายามตอบโต้อิทธิพลและการขยายกำลังทหารของจีนในแถบอินโดแปซิฟิก
ปกติแล้ว การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน มักจะมุ่งที่การหารือเกี่ยวกับหัวข้อที่ “ไม่ละเอียดอ่อนนัก เช่น การค้าและการลงทุน” มูฮัมหมัด ซัลฟิกา รักฮ์แมต อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอิสลามิคแห่งอินโดนีเซีย บอกแก่เบนาร์นิวส์
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่าจะไม่มีการหารือกันถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อน
“การประชุมครั้งนี้จะเน้นย้ำความสัมพันธ์อันดีที่มีมานานถึงสามทศวรรษ และเพื่อสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการส่งเสริมสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค” นายธานี บอกแก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางข้อความเอสเอ็มเอส
แต่ตามคำกล่าวของนายมูฮัมหมัด ซัลฟิกา รักฮ์แมต “พัฒนาการล่าสุดทางภูมิรัฐศาสตร์หมายความว่า เป็นไปได้ที่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนของปีนี้ จะหารือเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและความมั่นคง”
AUKUS เป็นหนึ่งในพัฒนาการสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จีนต่อต้านอย่างหนัก โดยกล่าวว่าเป็นการคุกคามเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เฮนริก เซง นักวิชาการด้านวิเทศศึกษาที่มหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยีในสิงคโปร์ กล่าวว่า จีนต้องการให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ข้างจีน แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความคิดเห็นแตกแยกกัน เกี่ยวกับข้อตกลง AUKUS ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อจีน
“จากมุมมองของจีน นี่หมายความว่าส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจถูกสหรัฐฯ ใช้ เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้” เฮนริก เซง บอกแก่เบนาร์นิวส์
ในอีกด้านหนึ่ง อาเซียนที่เสียงแตกกัน “อาจช่วยจีนได้ เพราะอาเซียนจะไม่มีวันรวมกันเป็นเสียงเดียวที่หนักแน่นได้ในการต่อต้านผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคนี้” เขาเสริม
จีนใช้ ‘สิ่งจูงใจทางการเงิน’
ในช่วงระยะ 30 ปีของความสัมพันธ์ทวิภาคี อาเซียนและจีนมี “ความสัมพันธ์ที่ไร้สมดุลมาก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นส่วนใหญ่ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว
จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งน่านน้ำภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสี่ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
“จีนพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะให้อาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้จีนดำเนินการตามที่ตนต้องการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการทำให้เกิดการแตกแยกกันระหว่างประเทศที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับข้อพิพาทเชิงภูมิยุทธศาสตร์ อย่างเช่นทะเลจีนใต้” ฮันเตอร์ มาร์สตัน บอกกับเบนาร์นิวส์
“จีนใช้ทั้งสิ่งจูงใจทางการเงินและมาตรการลงโทษต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเล็ก ๆ ทำตามที่ตนต้องการ เช่น จีนหยุดนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ในช่วงที่เกิดข้อพิพาททะเลจีนใต้… และหยุดการให้เงินกู้แก่เวียดนาม เพราะจีนเข้าไปทำการสำรวจน้ำมันและก๊าซในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทกัน”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า เรือของจีนได้ละเมิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยรุกเข้าไปในน่านน้ำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
เมื่อวันพฤหัสบดีนี้เอง มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเรือยามฝั่งของจีนฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อสกัดกั้นภารกิจการส่งกำลังเพิ่มเติมของฟิลิปปินส์ไปยังกองรักษาด่านของฟิลิปปินส์ที่อยู่บนแนวปะการังในทะเลจีนใต้ ฟิลิปปินส์เรียกการกระทำนี้ว่า “ผิดกฎหมาย”
‘คำพูดและการกระทำของจีนมักขัดแย้งกัน’
เมื่อเผชิญการยั่วยุดังกล่าวของจีน “ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอำนาจการต่อรองน้อยมาก และไม่สามารถพูดออกมาหรือต่อต้านแรงกดดันของจีนได้” ฮันเตอร์ มาร์สตัน หมายถึงการที่เศรษฐกิจของบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งพาจีน
จีน มหาอำนาจในเอเชีย ได้ส่งเสริมการลงทุนอย่างหนักในโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยโครงการ One Belt, One Road (OBOR) มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟ ท่าเรือ และสะพานใน 70 ประเทศ
“การลงทุนของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2562 คงตัวที่ระหว่าง 10-30% ของการลงทุนทั้งหมดของโครงการ BRI [Belt, Road Initiative]” เฮนริก เซง แห่งมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี กล่าว
“เมื่อเริ่มเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มูลค่าการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 36% ในปี 2563 แม้การลงทุนทั้งหมดทั่วโลกของโครงการ BRI จะลดลงมากก็ตาม”
นอกจากนี้ ปีที่แล้วอาเซียนได้กลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน แทนที่สหภาพยุโรป โดยมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและจีนอยู่ที่ 7.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ฮันเตอร์ มาส์ตัน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนของจีน แม้จะไม่มีการทูตทวิภาคีก็ตาม แต่ความเกี่ยวพันนั้น “ไม่สามารถทำให้จีนหยุดพฤติกรรมการบีบบังคับของจีนลงได้” เขากล่าว
ดังนั้น ความต้องการของจีนที่จะเร่งการเจรจาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ให้ตรงกับวาระครบรอบ 30 ปีของการประชุมอาเซียน-ปักกิ่ง อาจไม่เป็นดังหวัง เดเร็ก กรอสแมน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการป้องกันภัยที่บริษัทแรนด์ คอร์ปอเรชัน สถาบันคลังสมองในสหรัฐฯ กล่าว
“จีนและบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ยังคงเห็นต่างกันมากจนทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเกิดการเจรจาขึ้นได้ในปีนี้ หรือปีใดก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้” เดเร็ก กรอสแมน เขียนบนทวิตเตอร์
จีนจะบอกว่าจีนต้องการสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค มูฮัมหมัด รักฮ์แมต แห่งมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าว
“[แ]ม้เมื่อพูดถึงเรื่องทะเลจีนใต้ คำพูดและการกระทำ[ของจีน] มักจะขัดแย้งกัน” เขากล่าว
ผู้นำรัฐบาลทหารจะเข้าร่วมหรือไม่?
ขณะเดียวกัน ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ประเทศที่เป็นผู้ประสานงานการประชุมระหว่างจีน-อาเซียนของปีนี้ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับผู้นำในวันจันทร์ที่จะถึงนี้หรือไม่
ในการตัดสินใจแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน อาเซียนไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนที่แล้ว โดยกล่าวว่า เขาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติที่ได้ตกลงไว้กับอาเซียน เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและประชาธิปไตย
อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นหัวหอกในความพยายามที่จะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุม
กระนั้นก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้แทนของจีนได้พยายามโน้มน้าวประเทศสมาชิกอาเซียนให้ยอมให้พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุม
สี่แหล่งข่าวทางการทูตและการเมืองในภูมิภาค ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่ต้องการให้ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมที่จะมีขึ้นในวันจันทร์นี้
เบนาร์นิวส์ไม่สามารถยืนยันด้วยตนเองว่าความพยายามโน้มน้าวดังกล่าวมีขึ้นจริงหรือไม่ แม้นายติวกู ไฟซาเชียห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย จะกล่าวว่าอินโดนีเซียเห็นด้วยกับการไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมในวันจันทร์นี้
“ผมไม่ทราบเกี่ยวกับข้อเสนอนั้น [ที่จะอนุญาตให้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุม]” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์
“อินโดนีเซียยังคงเห็นเช่นเดิม จุดยืนของอินโดนีเซียไม่เปลี่ยนแปลง”
ฮาดี อัซมี ในกัวลาลัมเปอร์, เตรีย ดิอานติ และรอนนา เนอร์มาลา ในจาการ์ตา, และนนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน