ในการประชุมสุดยอด จีนใช้การค้าและความช่วยเหลือล่อใจเอเชียอาคเนย์
2021.11.23
จาการ์ตา

ประธานาธิบดีจีนบอกผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันจันทร์ว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ จีนจะซื้อสินค้าเกษตรมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากประเทศสมาชิกอาเซียน ขณะเดียวกันก็ให้ความมั่นใจว่า จีนจะไม่กลั่นแกล้งหรือข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้าน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมียนมา สมาชิกอาเซียนอีกประเทศ ไม่เข้าร่วมการประชุมอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่อาเซียนกล่าวว่าไม่ต้องการเชิญผู้นำรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำรัฐประหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน
“จีนพร้อมที่จะนำเข้าสินค้าคุณภาพปริมาณมากขึ้นจากประเทศในอาเซียน รวมถึงการซื้อสินค้าเกษตรมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์จากอาเซียนในห้าปีข้างหน้านี้” นายสี จิ้นผิง กล่าว
ปีที่แล้วอาเซียนได้กลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน แทนที่สหภาพยุโรป โดยมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและจีนอยู่ที่ 7.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่อาเซียนอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสามปีข้างหน้านี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ท่ามกลางความตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการกระทำของจีนที่รุกรานเรือของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังพูดถึงเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคด้วย
“[ค]วามพยายามร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปกป้องเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ และทำให้ทะเลแห่งนี้เป็นสายน้ำแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือกัน” เขากล่าว
“จีนต่อต้านลัทธิเจ้าโลกและการกระทำทางการเมืองเพื่อแสวงอำนาจอย่างแน่นอน… จีนจะไม่มีวันต้องการเป็นเจ้าโลกอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่การรังแกประเทศเล็ก ๆ เลย” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าว
เขากล่าวเช่นนั้น หลังจากที่ฟิลิปปินส์ออกคำประท้วงอย่างแข็งกร้าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับเหตุที่เรือยามฝั่งของจีนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เรือของฟิลิปปินส์ เพื่อสกัดกั้นภารกิจการส่งกำลังเพิ่มเติมของฟิลิปปินส์ไปยังกองรักษาด่านของฟิลิปปินส์ที่อยู่บนแนวปะการังในทะเลจีนใต้
แต่ทั้งประธานาธิบดีของจีน และแถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยทั้งสองฝ่าย หลังจากการประชุมระยะเวลาหนึ่งวันผ่านระบบการประชุมทางไกล ก็ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาในการเจรจาตกลงกันเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้
ประธานาธิบดีจีนไม่ได้พูดถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนและสี่ประเทศสมาชิกอาเซียน หรือข้อกล่าวหาที่ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เรือและเครื่องบินของจีนรุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำหรือน่านฟ้าของประเทศเหล่านี้ เขาเพียงแต่เอ่ยถึงความตึงเครียดเหล่านี้อย่างอ้อม ๆ เท่านั้น
ในการประชุมสุดยอดเมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต พูดแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างร้อนแรงต่อการกระทำของจีนเมื่อวันที่ 16 พ.ย. โดยเตือนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ก่อนหน้านี้ จีนกล่าวว่า เรือของฟิลิปปินส์ได้ “บุกรุก” เข้าไปในน่านน้ำของจีนโดยไม่ได้รับอนุญาต
น่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทกัน
จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งน่านน้ำภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสี่ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
การอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้ได้ถูกศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ตัดสินว่าไม่ถูกต้องเมื่อปี 2559 โดยกล่าวว่าการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ในคำตัดสิน ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยืนยันสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลในทะเลจีนใต้
จีนปฏิเสธคำตัดสินที่อ้างอนุสัญญา UNCLOS นั้น
กระนั้นก็ตาม แถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยอาเซียนและจีนหลังการประชุมสุดยอดเมื่อวันจันทร์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยืนยันอีกครั้งถึง “ความสำคัญในการรักษากฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982… UNCLOS”
ได้มีการนำเสนอแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ฉบับร่างครั้งที่หนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2560 แต่กระบวนการนี้ได้ยืดเยื้อออกไป เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 สมาชิกอาเซียนกล่าวว่า ต้องการจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เสร็จในปีนั้น แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงทำให้การเจรจาล่าช้าลง
ประเด็นเร่งด่วนที่สุดที่อาเซียนควรหาข้อยุติกับจีนคือ แนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ตามคำกล่าวของ นายเรนเน พัตติราจาเวน ประธานมูลนิธิศูนย์จีนศึกษาในกรุงจาการ์ตา
“มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง มีการพูดถึงกันหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากและต้องมีการเจรจากันทันที จำเป็นต้องได้รับคำมั่นสัญญาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากจีน” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์
รายงานกล่าวว่า จีนหวังที่จะเห็นความคืบหน้าอย่างสำคัญเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ในการประชุมสุดยอดเมื่อวันจันทร์ เพื่อให้ตรงกับวาระครบรอบ 30 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่หวัง
เมียนมาไม่เข้าร่วมประชุม
ขณะเดียวกัน เมียนมา ประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันจันทร์ นายไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย บอกแก่ผู้สื่อข่าว
ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตัดสินใจไม่เชิญพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่ยอมดำเนินการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา หลังเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. นายไซฟุดดินกล่าว
สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศ เห็นด้วยกับข้อเสนอของจีนที่จะให้เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียกล่าว
“อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้านี้เราไม่ได้ข้อสรุปขั้นสุดท้าย และการประชุมดำเนินต่อไปโดยไม่มีผู้แทนจากเมียนมา” เขากล่าว
ในการตัดสินใจที่ไม่เคยทำมาก่อน เมื่อเดือนที่แล้ว อาเซียนไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดประจำปีของอาเซียน โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นหัวหอกในความพยายามไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา
“จีนได้เชิญให้เราเข้าร่วมการประชุม เรารู้สึกขอบคุณจีนที่ประสานงานกับประเทศสมาชิกอาเซียน (เพื่อให้เรา) เข้าร่วมการประชุมนั้น” ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา บอกแก่สำนักข่าวต่าง ๆ รวมทั้งเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์
เขากล่าวเสริมว่า สมาชิกอาเซียนบางประเทศยืนกรานว่าจะอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้นเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนได้
RFA ได้พยายามติดต่อโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับในทันที
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้แทนการทูตของจีนพยายามวิ่งเต้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยอมให้พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุม วันต่อมา นายติวกู ไฟซัสยาฮ์ บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า อินโดนีเซียสนับสนุนการไม่เชิญพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ให้เข้าร่วมการประชุม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายจ่าว ลีเจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีผู้แทนจากเมียนมาเข้าร่วมการประชุม เขาพูดหลายอย่างแต่ไม่ได้ตอบคำถามนั้น
เมียนมาเป็น “สมาชิกสำคัญของครอบครัวอาเซียน” เขากล่าว
“จีนสนับสนุนความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนเสมอ และสนับสนุนอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อต่อเมียนมา” โฆษกฯ กล่าว โดยหมายถึงข้อเรียกร้องของผู้นำอาเซียนให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติความรุนแรง และจัดการเจรจากับสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่น นอกเหนือจากการดำเนินการอื่น ๆ
หล่า จอ ซอ นักวิเคราะห์การเมืองที่อาศัยในจีน ตั้งข้อสังเกตว่า จีนต้องการเชิญให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่ไม่สามารถเอาชนะการต่อต้านจากสมาชิกอาเซียนได้ เธอกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ นายซุน กั๋วเซียน ผู้แทนพิเศษประจำเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ไปเยือนสิงคโปร์และบรูไน เพื่อพยายามโน้มน้าวอาเซียน หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปเมียนมา
“ดูเหมือนว่าจีนต้องการรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เมียนมาเสียหน้า ดังนั้น ดิฉันคิดว่าเขา [ซุน กั๋วเซียน] ไปเยือนเมียนมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งหมดนี้”
การที่จีนยอมรับคำตัดสินใจของอาเซียนแสดงให้เห็นว่า จีนไม่ทำสิ่งที่เคยทำในอดีตเพื่อปกป้องเผด็จการทหารเมียนมาเรื่อย ๆ อีกต่อไปแล้ว” หล่า จอ ซอ กล่าว
ธัน โซ เนง นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะจีนไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างเต็มที่อีกต่อไปแล้ว
“มิน ออง ลาย กำลังต่อสู้กับคนทั้งประเทศ ดังนั้น ดูเหมือนจีนจะไม่เต็มใจที่จะให้การสนับสนุน [เขา] ต่อไป และเพื่อให้มิน ออง ลาย มีทางออกที่ดี...” ธัน โซ เนง บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย
“เราจึงพูดได้ว่า ตอนนี้ มิน ออง ลาย ติดกับดักทางการทูต และถ้าเขาไม่สามารถเข้ากับจีนได้ เขาจะอยู่ในสถานการณ์ลำบาก"
ฮาดี อัซมี และมุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์, เจสัน กูเตเรซ ในมะนิลา และ เรดิโอเอเชีย ภาคภาษาเมียนมา ร่วมรายงาน