ผู้ส่งออกทุเรียนร้องรัฐช่วยแก้ปัญหา หลังจีนชะลอการนำเข้าช่วงโควิด-19 ระบาด
2021.01.12
กรุงเทพฯ และปัตตานี
หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไทยเปิดเผยว่า ทุเรียนที่จะส่งจากประเทศไทย เพื่อไปขายในประเทศจีนถูกชะลอการนำเข้า เนื่องจากตลาดหลายแห่งในประเทศจีนถูกปิด และจีนได้กำหนดมาตรการคัดกรองโรคใหม่ ทำให้การนำเข้าทุเรียนจากไทยค่อนข้างลำบาก จึงเสนอไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องช่วยประสานกับจีน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีระบุ ทุเรียนในภาคตะวันออกจะทำการฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนส่งออก และได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขเรื่องดังกล่าวแล้ว
นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน ผู้ค้าทุเรียนพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนแล้ว หลังจากที่จีนเพิ่มมาตรการการตรวจสอบสินค้านำเข้า จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
“ปีที่แล้ว โควิดระบาด ส่งออกไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่ปีนี้หลายตลาดในจีนปิด ขายได้แต่กว่างโจว กับเซี่ยงไฮ้ และด่านศุลกากรจีนมีมาตรการใหม่ ทำให้ทุเรียนเราค้างอยู่ที่ด่าน เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องมาตรการของเขา จึงได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ช่วยเจรจากับทางการจีนเพื่อความชัดเจนว่า เราจะต้องมีมาตรการอย่างไร เพราะทุเรียนที่กำลังจะเริ่มออกในช่วง กุมภาพันธ์-มีนาคม ปีนี้ นี้คาดว่าจะมี 1 ล้านตัน และทุเรียนจากภาคใต้คาดว่าจะออกในปีนี้อีก 7 แสนตัน เราจะได้เตรียมวางแผนว่า จะทำยังไง ฉีดยาไปจากทางนี้ไหม หรือใช้เอกสารอะไร” นายภานุวัชร์ กล่าว
“ปีที่ 63 ภาคตะวันออกมีทุเรียน 5 แสนตัน ขายดีเลยปลูกเพิ่มขึ้น ปีนี้คาดว่าจะ 1 ล้านตัน ภาคใต้ปีที่แล้ว 4 แสนตัน ปีนี้น่าจะ 7-8 แปดแสนตัน จากปีที่แล้วที่รับซื้อเกษตรกรกิโลกรัมละ 170-180 บาท ปัจจุบัน ต้องลดเหลือ 120-130 บาท เพราะสถานการณ์โควิด มันทำให้ขายได้ยาก ยิ่งจันทบุรี ระยอง เป็นพื้นที่สีแดง ยิ่งต้องเตรียมพร้อมสำหรับแก้ไขปัญหา เราจึงอยากให้รัฐบอกว่า ต้องฉีดยายังไง ใช้ตัวไหน ถ้าเอาทุเรียนไปกักไว้ที่ด่านต้องกักกี่วัน เพื่อเราจะได้เตรียมพร้อม เพราะเราเป็นนักธุรกิจ ถ้าส่งออกมีปัญหาเราขาดทุน” นายภานุวัชร์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้น นายภานุวัชร์ ระบุว่า ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ค้าทุเรียนได้เข้าประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ โดยเรียกร้องให้จังหวัด ช่วยประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งเชื่อว่า หน่วยงานรัฐจะมีมาตรการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทัน ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ที่จะถึงนี้
ด้าน นายกอเซ็ง สาและ ชาวสวนทุเรียนจากปัตตานี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า นอกจากโควิด-19 แล้ว ชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันด้วย
“ต้นทุเรียนปลูกมา 20 ปี 20 ต้น 3 ไร่ ตายหมด ตอนนี้ไม่มีทุเรียนให้ขาย อีก 3-4 เดือนทุเรียนจะออกแล้ว แต่ต้นล้มไปเยอะ ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าเป็นผลกระทบมาจากเขื่อนบางลาง เพราะฝนไม่ได้ตกหนัก แต่เขื่อนปล่อยน้ำออกมา น้ำเข้าบ้าน เข้าพื้นที่ทำกิน ท่วมรถยนต์ อะไรไม่สามารถยกขึ้นสูงได้ ก็เสียหายหมด ถ้าเป็นไปได้รัฐก็ควรที่จะช่วยเหลือเยียวยาให้มีมาตรการที่ดีกว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่ไปกองอยู่ที่อำเภอ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรมีวิธีในการช่วยเหลือให้ถึงมือเกษตรกรผู้เดือดร้อนจริง” นายกอเซ็ง กล่าว
ขณะที่ นายภานุศักดิ์ สายพานิชน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผยแก่สื่อมวลชนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ชาวสวนทุเรียนในประเทศไทยกำลังกังวลว่า การระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปยังต่างประเทศเนื่องจาก การระบาดในต้นปี 2564 นี้พื้นที่ที่ระบาดหนักที่สุดเป็นภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานการผลิตทุเรียนที่สำคัญของไทย ซึ่งถ้าหากมีการชะลอการส่งออกไปยังประเทศจีน เชื่อว่า ชาวสวนทุเรียนจะได้รับผลกระทบรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน สมาคมทุเรียนไทยจึงดำเนินการส่งหนังสือไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้หามาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในวันจันทร์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน สมาคมทุเรียนไทย ชาวสวนทุเรียน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยพร้อมที่จะนำปัญหาดังกล่าวมาแก้ไข
“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทุเรียนเมื่อถูกส่งไปถึงยังด่านประเทศจีนแล้ว มีการนำทุเรียนออกจากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อฉีดพ่นยา ทำให้เกิดความล่าช้า เบื้องต้นเราเลยมีมาตรการให้ ทุเรียนของเราพ่นยาฆ่าเชื้อตั้งแต่ต้นทาง ก่อนส่งเข้าบรรจุ รวมทั้งมีการทำความสะอาดกล่อง และตู้คอนเทนเนอร์ มีการสุ่มตรวจโควิด-19 กับคนสวน และคนงานบรรจุ เพื่อให้ลูกค้าในประเทศจีนมีความมั่นใจกับสินค้าจากประเทศไทย ขณะที่เรื่องมาตรการอื่น ๆ จะได้มีการประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ต่อไป” นายสุธี กล่าว
“เรื่องข่าวที่ว่า ทุเรียนไทยติดโควิดทำให้จีนระงับการนำเข้า อันนี้ไม่เป็นความจริง เราได้ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นข่าวปลอม โดยเราเชื่อมั่นว่า ผลผลิตทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ จากประเทศไทยต้องปลอดเชื้อ และในเดือนกุมภา-มีนา ที่จะถึงซึ่งมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต เราจะมีมาตรการรองรับการส่งออกทุเรียน เชื่อว่าส่งออกได้ไม่มีปัญหาแน่นอน” นายสุธี กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2562 จังหวัดที่มีผลผลิตทุเรียนมากที่สุด คือ จันทบุรี 339,292 ตัน รองลงมา ชุมพร 277,729 ตัน ระยอง 108,093 ตัน ตราด 48,158 ตัน นครศรีธรรมราช 47,855 ตัน สุราษฎร์ธานี 45,825 ตัน ยะลา 42,053 ตัน ระนอง 28,854 ตัน อุตรดิตถ์ 22,837 ตัน และนราธิวาส 14,023 ตัน
ขณะเดียวกัน เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ ไทยกำลังพยายามทำมาตรการเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนที่จะส่งออกอยู่ อย่างไรก็ตาม นอกจากทุเรียนไทยที่จะส่งไปขายในประเทศจีนจะถูกชะลอแล้ว ปัญหาการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน
“ปัจจุบัน มีการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่า ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยเป็นทุเรียนที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของทุเรียนไทยในตลาดโลกด้วย” นายกีรติ กล่าว
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลว่า การส่งออกทุเรียนสด และทุเรียนแช่แข็งของไทย ช่วงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2563 มีปริมาณรวม 631,394.7 ตัน มูลค่า 69,153.8 ล้านบาท ซึ่งถือว่า ได้ปริมาณลดลง 7.2 เปอร์เซ็นต์ แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 35.5 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณรวม 680,904.5 ตัน มูลค่า 51,029.5 ล้านบาท โดยประเทศที่ไทยส่งทุเรียนไปขายมากที่สุด 3 อันดับแรก ในปี 2563 คือ จีน 357,492 ตัน หรือประมาณ 71.3 เปอร์เซ็นต์, ฮ่องกง 72,951 ตัน หรือประมาณ 14.5 เปอร์เซ็นต์ และเวียดนาม 60,650 ตัน หรือประมาณ 12.1 เปอร์เซ็นต์