ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำไม่ฟื้น ตลอดสองฝั่งไทย-ลาว
2021.02.05
ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว ยังคงมีระดับต่ำ หลังจากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน ทำการลดระดับการปล่อยน้ำเพื่อทดสอบระบบ ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเริ่มรู้สึกกังวล โดยนักอนุรักษ์ชี้ว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) รวมถึงรัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้เปิดเผยเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ว่า จีนจะลดระดับการปล่อยน้ำของเขื่อนจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลยูนาน เพื่อทดสอบระบบของเขื่อน โดยจากเดิมที่ระบายน้ำวันละ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะลดการระบายเหลือเพียงวันละ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแผนดังกล่าว จะเริ่มในวันที่ 5 มกราคม 2564
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดการทดสอบระบบของเขื่อนจิ่งหงในวันที่ 24 มกราคม 2564 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว
“ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำอยู่ สันดอนทรายในแม่น้ำโขงโผล่ขึ้นพ้นน้ำมากกว่าเดิม เพราะว่าจีนยังไม่ยอมปล่อยน้ำออกมา” เจ้าของร้านอาหารบนแพแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
“เหมือนว่าจีนไม่ได้สนใจชีวิตประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเลย” นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าว
“ระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำเหมือนทุก ๆ ปี และมันก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับทุกชีวิตในแม่น้ำโขงตอนล่าง” นายนิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรที่จะส่งหนังสือเตือนรัฐบาลจีน ถึงกรณีที่จีนผิดสัญญาการปล่อยน้ำกลับสู่ระดับปกติ
"จีนเคยสัญญาว่าจะปล่อยน้ำกลับสู่ระดับเดิมในวันที่ 25 มกราคม จีนควรจะปฏิบัติตามสิ่งที่เคยให้สัญญากับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างตรงไปตรงมา” นายสุวิทย์กล่าว “ผมเข้าใจว่า จีนกักน้ำไว้เพื่อเป็นการชดเชยระดับน้ำ แต่จีนไม่ควรกักน้ำตลอดไปเช่นนี้”
“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเอ็มอาร์ซี และประเทศสมาชิกถึงไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้” สุวิทย์ กล่าวถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) องค์กรซึ่งมีหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากร และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแม่น้ำโขง
“นอกจากเขื่อนจีนแล้ว เขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ก็ยังกักน้ำ ตั้งแต่ลาวไปถึงกัมพูชา และเวียดนามด้วย” นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติม
แม่น้ำโขงยังคงแห้ง
เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ของแขวงบ่อแก้ว ในภาคเหนือของประเทศลาว ยืนยันเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ว่า สามวันหลังจากการกำหนดที่เขื่อนจิ่งหงจะปล่อยน้ำสู่ระดับปกติ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำไม่เปลี่ยนแปลง
“ใช่ แม่น้ำโขงยังคงแห้ง” เจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประจำแขวงบ่อแก้วรายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล) กล่าวแก่เรดิโอฟรีเอเชีย
“ปัจจุบัน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังอยู่ที่ระดับ 2 เมตร แต่บางช่วงเวลาก็มีการขยับขึ้นและลง” เจ้าหน้าที่รายเดิมกล่าว
“แม่น้ำโขงเริ่มแห้งตั้งแต่เดือนที่แล้ว” ชาวแขวงบ่อแก้วรายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผย “เรือทุกลำถูกสั่งให้เทียบท่า เพราะแม่น้ำโขงแห้ง รวมถึงเป็นมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19
ระดับน้ำโขงอาจจะสูงขึ้นอีกครั้ง
นายไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน เปิดเผยแก่เรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันอังคาร โดยระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ณ อำเภอเชียงแสน ซึ่งแห้งอย่างรุนแรง น่าจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ในเร็ว ๆ นี้
“ระดับน้ำแห้งขอดของแม่น้ำโขง จะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวในช่วงฤดูแล้งของจีน ระดับน้ำน่าจะเริ่มกลับมาสู่สภาพปกติอีกครั้งเร็ว ๆ นี้” นายไบรอัน กล่าว
“ความชุ่มชื้นที่มากกว่าระดับปกติของพื้นที่ต้นน้ำ ตอนเหนือในจีน จะช่วยเพิ่มระดับน้ำ” นายไบรอัน กล่าว “และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การปล่อยน้ำของเขื่อนเสี่ยววาน และเขื่อนนูจาตู้ ในช่วงนี้ของปีจะเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และระดับน้ำจะสูงยิ่งกว่าระดับน้ำปกติในช่วงฤดูแล้ง” นายไบรอัน ระบุ
ประเทศจีนตกเป็นเป้าในการวิพากษ์-วิจารณ์ จากองค์กรสากลต่าง ๆ เพราะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งประเทศจีนเอง เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำล้านช้าง การสร้างเขื่อนดังกล่าว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างแห้งกว่าปกติ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และดูเหมือนว่า ความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2563 รัฐบาลจีนได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลการปล่อยน้ำกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งรวมกันแล้ว มีประชากรลุ่มแม่น้ำโขงมากกว่า 60 ล้านคน ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงแม่น้ำสายนี้ เพื่อทำการเกษตร และการประมง