ไทย-จีน ลงนามความร่วมมือสำรวจอวกาศ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.09
กรุงเทพฯ
ไทย-จีน ลงนามความร่วมมือสำรวจอวกาศ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการและวิดีทัศน์เกี่ยวกับสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ณ Cohesion Design Facility ในวันที่ 5 เมษายน 2567 (CDF), LESEC กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ไทย-จีน ได้ลงนามความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศและสถานีวิจัยดวงจันทร์ โดยหวังแลกเปลี่ยนข้อมูล และจัดประชุมร่วมกันในอนาคต 

น.ส. ศุภมาส เปิดเผยว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ” ระหว่าง อว. และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration - CNSA) ในวันที่ 5 เมษายน 2567 มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเป็นประธาน

“ไทยและจีนจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและคณะทำงานร่วมในด้านการสำรวจอวกาศ การประยุกต์ใช้อวกาศ การพัฒนากำลังคนด้านอวกาศ และสาขาอื่น ๆ เพื่อวางแผนและดำเนินโครงการร่วมด้านอวกาศ โครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการร่วมจัดประชุมทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ และการเสริมสร้างความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ” น.ส. ศุภมาส กล่าว

“ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นไปที่การสาธิต การดำเนินโครงการ การดำเนินงานและการประยุกต์ใช้สถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ จัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการวิจัยและจัดทำแผนความร่วมมือ” น.ส. ศุภมาส กล่าวเพิ่มเติม

น.ส. ศุภมาส เปิดเผยว่า ไทยและจีนจะต้อนรับประเทศอื่น ๆ องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย หน่วยงานอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และรับประโยชน์จากกิจกรรมการสำรวจอวกาศร่วมกัน

ด้าน นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวในวันที่ 2 เมษายน 2567 

“ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทคโนโลยีอวกาศแม้จะดูเหมือนไกลตัว แต่แท้จริงแล้วอยู่ในรอบตัวชีวิตประจำวัน อาทิ ด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่ายนำองค์ความรู้ ความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ มาร่วมทำงานให้เกิด ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม” นางรัดเกล้า กล่าว

ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 ไทยและจีนเคยลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศ เพื่อร่วมกันสร้างโครงการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือเชิงพื้นที่แม่โขง-ล้านช้าง และโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลการสำรวจระยะไกลแม่โขง-ล้านช้าง 

ในปี 2566 ดร. จาง กว่างจวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับ อว. ที่กรุงเทพฯ  และตกลงความร่วมมือ 5 ข้อประกอบด้วย 1. การแลกเปลี่ยนและพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน 3. การขจัดความยากจนแบบบูรณาการโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4. ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และ 5. การขยายผลความร่วมมือทางด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทคาแมค 

ในปีเดียวกัน อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ (Space Weather) ที่พัฒนาโดยประเทศไทยถูกเลือกให้บรรทุกไปกับยานฉางเอ๋อ-7 (Chang’e 7) ของจีนในภารกิจสำรวจอวกาศด้วย 

ด้าน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยยกระดับวงการวิทยาศาสตร์และการศึกษาของไทยได้หลายทาง ทั้งการพัฒนาบุคลากรผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ การเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของจีน รวมถึงการได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากจีนในการบริหารจัดการด้านนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในระยะยาว

"แม้การร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ แต่ฝ่ายไทยต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้เป็นสำคัญ โดยระมัดระวังประเด็นที่อาจกระทบต่อความมั่นคง และสร้างความสมดุลกับการแสวงหาความร่วมมือจากหุ้นส่วนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้พึ่งพาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป" ดร. เอียชา ระบุ

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง