สงครามสารสนเทศและอิทธิพลด้านสื่อของจีน ก่อให้เกิดความแตกแยกในไทย
2021.05.13

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 5:00 PM ET 2021-05-20
เมื่อวิดีโอเหตุจลาจลอันโหดร้ายทารุณในคุกของประเทศเอกวาดอร์เมื่อต้นปีนี้ถึงเอเชีย คำบรรยายใต้ภาพในวิดีโอนั้นได้ถูกเปลี่ยนไปเป็น “คนอเมริกันทั้งผิวดำและขาวในแคลิฟอร์เนียฆ่าชาวจีน” และคลิปดังกล่าวก็แพร่ทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว
การบิดเบือนข้อมูลเช่นในวิดีโอนั้น ซึ่งทำขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสการต่อต้านและเกลียดชังสหรัฐฯ กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นในไทย นักวิจัยด้านสื่อกล่าว
การสร้างกระแสของจีน ไม่ว่าจะโดยใช้ข่าวปลอมหรือโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลให้การสนับสนุน กำลังค่อย ๆ แทรกซึมเข้าสู่สื่อ วงการการศึกษา การเมือง และธุรกิจของไทย และผู้คนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยต่างกำลังแสดงความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว
ในวิดีโอที่แสดงการใช้ความรุนแรงดังกล่าว มีภาพชายชาวเอเชียคนหนึ่งกำลังนอนเลือดอาบอยู่บนพื้น ใบหน้าของเขาบิดเบี้ยวแสดงถึงความเจ็บปวด ชายสิบกว่าคนที่พูดภาษาสเปนใช้กระบอง และไม้รุมตีเขาตอนกลางวันแสก ๆ
ในวิดีโอนั้นไม่มีการระบุแหล่งที่มา แต่มีคำอธิบายว่าเป็นอาชญากรรม อันเนื่องมาจากความเกลียดชังคนเอเชียในอเมริกา วิดีโอนี้แพร่ไปอย่างรวดเร็วในแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีการแชร์วิดีโอนี้อย่างแพร่หลายในวงสนทนาออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนในสื่อสังคมออนไลน์และแอปสำหรับส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีในไต้หวันและจีน
ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ต่อวิดีโอนั้นคือ “อเมริกาเป็นได้ถึงขนาดนี้เลยหรือนี่?”
หลังจากที่อ่านข้อความต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มสนทนาออนไลน์ของแอป WeChat ของจีน กลุ่มสนทนาออนไลน์ในแอป Line ซึ่งเป็นแอปสำหรับส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีที่ได้รับความนิยมในเอเชีย และกลุ่มต่าง ๆ ในเฟซบุ๊กแล้ว ผู้สื่อข่าวของเรดิโอฟรีเอเชีย บริษัทในเครือเดียวกันกับเบนาร์นิวส์ พบว่า วิดีโอนี้มีเป้าหมายที่คนในจีน ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยคำบรรยายภาพที่สร้างกระแสความขุ่นเคืองและการต่อต้านสหรัฐฯ
ความคิดเห็นหนึ่งเขียนว่า “อเมริกาไร้กฎระเบียบ! ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา คนผิวดำและผิวขาวกำลังฆ่าชาวจีน ส่งวิดีโอนี้ต่อไปให้ทั่วประเทศจีน!”
“คนจีนเสียชีวิตอย่างไร้เหตุผล แต่ประเทศของเรายังคงพยายามทำให้อเมริกาพอใจ เพื่อแลกกับผลประโยชน์” อีกคนหนึ่งเขียน
“ถึงเวลาที่คนจีนในอเมริกาจะตาสว่างได้แล้ว และหนีออกจากอเมริกาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลับไปที่จีนหรือย้ายไปประเทศใดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งเร็ว ยิ่งดี” อีกคนหนึ่งเขียน
ลิลลี่ ลี นักวิจัยอิสระที่ติดตามสงครามสารสนเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตลอดกล่าวว่า วิดีโอที่บิดเบือนดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกทีเดียว
"เช่นเดียวกับภาพยนตร์หลายเรื่องที่เราได้ดู ซึ่งมีส่วนของสงครามข้อมูลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่พยายามผลักดันแนวคิดที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่วิถีทางที่ดี ในการปกครองประเทศ หรือสำหรับประชาชนในประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงสรรเสริญประเทศจีน หรือการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่วุ่นวายในสหรัฐอเมริกา" ลี กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
"เราเจอสองหัวข้อหลักของสงครามข้อมูล ในระหว่างการวิจัย เรื่องหนึ่งพยายามใช้การจัดการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาของจีน มาแสดงให้เห็นว่า ระบบการปกครองของจีนเหนือกว่าประเทศตะวันตก อีกเรื่องหนึ่งคือ ใช้เหตุการณ์ความเกลียดชังชาวเอเชียในอเมริกา มาเป็นเป้าหมายในโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขา” ลี กล่าว
"รายงานเหล่านี้เป็นข่าวจริงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์และข่าวปลอม 70 เปอร์เซ็นต์" ลี กล่าวเสริม
ข้อความและวิดีโอที่ถูกแก้ไขบิดเบือนเหล่านี้ กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอย่างมากในหมู่ชาวจีนในประเทศไทย และยังได้รับการแปลเป็นภาษาไทยด้วย
“กลุ่มต่าง ๆ ในเฟซบุ๊กและไลน์ เป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นเก่า ๆ” ธีรนัย จารุวัสตร์ นักข่าวในกรุงเทพฯ และคณะกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าว
จากรัสเซียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทางจีน
หลังจากตรวจสอบแหล่งที่มาและเส้นทางการส่งของวิดีโอนี้แล้ว เรดิโอฟรีเอเชีย พบว่า ภาพในวิดีโอนั้นเป็นเหตุจลาจลในคุก ที่ประเทศเอกวาดอร์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมเอกวาดอร์ ได้อัปโหลดวิดีโอนั้นเข้าไปในทวิตเตอร์
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ได้มีการแชร์วิดีโอดังกล่าวในแอปสำหรับส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีของรัสเซีย และทางแอป Telegram เมื่อปลายเดือนเมษายน วิดีโอดังกล่าวได้ปรากฏในแอปการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที และสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศจีน ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วิดีโอนี้ยังปรากฏขึ้นใน Reddit ซึ่งเป็นกระดานสนทนาออนไลน์ ในสหรัฐฯ โดยมีคำอธิบายผิด ๆ ว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงในนครลอสแอนเจลิส อย่างไรก็ตาม บัญชีที่อัปโหลดวิดีโอดังกล่าวได้ถูกลบไปแล้วนับตั้งแต่นั้นมา
ในการทำสงครามสารสนเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ว่าจะเป็นการใส่ร้ายว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่วุ่นวาย หรือเพื่อยกย่องจีนก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการสื่อให้เห็นภาพโดยรวม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสิ้น นั่นคือ “ประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีที่ดีในการปกครองประชาชนในประเทศ” เธอกล่าว
ภาพเหตุจลาจลในคุกของเอกวาดอร์ ที่มีคำบรรยายบิดเบือนความจริงว่า การทำร้ายร่างกายนี้เกิดขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ของไทย
ทางการจีนไม่ได้ตอบคำขอความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวปลอมที่แพร่ในไทยดังกล่าว
ในการตอบโต้คำกล่าวหาก่อนหน้านี้ที่ว่า จีนเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า จีนเป็นเหยื่อของข่าวปลอมต่างหาก ไม่ใช่ผู้สร้างข่าวปลอม และกล่าวหาบรรดาแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีสองมาตรฐานโดยไม่ยอมปิดกั้นข่าวที่ไม่เป็นผลดีต่อจีน จีนไม่ยอมให้มีการใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กในประเทศ แต่สื่อของทางการและนักการทูตจีนใช้สองแพลตฟอร์มนี้ เพื่อเผยแพร่ทัศนะต่าง ๆ ของจีน และตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจีน
วิดีโอเหตุจลาจลในคุกเอกวาดอร์ที่แทบจะไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ เลยในไต้หวัน ได้กระตุ้นให้เกิดอารมณ์รุนแรงในประเทศไทย ที่ที่วิดีโอนั้นแพร่อย่างรวดเร็วทางออนไลน์
ไทยเป็นที่ที่วิดีโอที่บิดเบือนข้อมูลนั้นแพร่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับสหรัฐฯ ได้แพร่อย่างกว้างขวางอยู่แล้วในไทย นับตั้งแต่ที่เกิดการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาไทย หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การยุบพรรคการเมืองดังกล่าวที่เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในไทย นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า นักศึกษาไทยถูกยุยงปลุกปั่นโดยสหรัฐฯ ในขณะที่เรื่องที่ประหลาดมากกว่านั้นกล่าวหาว่า การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาไทยและการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปี 2562-2563 นั้น เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันอย่างลับ ๆ ภายใต้การนำของชาติตะวันตก ผู้นำความเคลื่อนไหวถูกตราหน้าจากกลุ่มโพสต์ข้อความบิดเบือนทางออนไลน์ของจีนว่า เป็นหุ่นเชิดของชาติตะวันตก
เมื่อเดือนสิงหาคม 2019 ทวิตเตอร์ได้สั่งปิดบัญชี 936 บัญชี ที่มีต้นกำเนิดจากภายในจีน ซึ่ง “จงใจและพยายามสร้างความบาดหมางทางการเมืองในฮ่องกง รวมทั้งเป็นบ่อนทำลายความชอบธรรมและจุดยืนทางการเมืองของการเคลื่อนไหวประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย”
นอกเหนือจากข่าวปลอมต่าง ๆ แล้ว นักวิเคราะห์ในไทยยังกังวลเกี่ยวกับเกมระยะยาวที่จีนกำลังเล่นอยู่ เพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของสาธารณชน นั่นคือ การขยายตัวของสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศไทย
สื่อของทางการจีนต้องแสดงความภักดีอย่างยิ่งยวดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน และต่อนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2564 ที่เผยแพร่โดย Reporters Without Borders ซึ่งเป็นองค์กรสำรวจเสรีภาพสื่อ จีนอยู่ในอันดับเกือบท้ายสุดในโลก สูงกว่าก็แต่เติร์กเมนิสถาน เกาหลีเหนือ และเอริเทรียเท่านั้น ในขณะที่จีนมีจำนวนนักข่าวที่ถูกกักขังมากที่สุดในโลก
ในปี 2558 รัฐบาลจีนได้ทำให้ “ความร่วมมือด้านสื่อและสารสนเทศ” กับ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของโครงการเส้นทางสายไหม (One Belt, One Road) ซึ่งเป็นโครงการเด่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก เพื่อสนับสนุนการค้ากับจีน
ในปีต่อ ๆ มา ผ่านทางการควบรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการสื่อไทย หรือการลงนามบันทึกความเข้าใจ จีนเริ่มจัดหาคอนเทนต์ฟรีให้แก่สถานีโทรทัศน์ในไทย จากสำนักข่าวซินหัว และไชน่า เซ็นทรัล เทเลวิชัน (CCTV) สำนักข่าวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นายเจา ลีเจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระหว่างการแถลงข่าวแก่ผู้สื่อข่าว ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันที่ 8 เมษายน 2563 (เอเอฟพี)
เสนอทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็นข่าวที่มีแต่ข้อเท็จจริง
ในปี 2563 สื่อไทยได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน เมื่อทำการรายงานข่าวเกี่ยวกับต้นตอของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยมีอย่างน้อยหนึ่งข่าวพูดถึงทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งหนุนโดยสำนักข่าว CGTN หน่วยหนึ่งของ CCTV ที่รายงานข่าวรอบโลก
“สื่อไทยบางสำนักนำเสนอทฤษฎีสมคบคิดที่สื่อของจีนสร้างขึ้นว่าเป็นรายงานข่าว ตัวอย่างเช่น "ข่าวน่าตะลึง: ไวรัสโคโรนาอาจมาจากทหารอเมริกัน’ ข่าวปลอมชิ้นนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบแหล่งข่าวเลย สื่อไทยยังไม่สนใจด้วยซ้ำว่า แหล่งที่มาของข้อมูลมาจากสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน" ธีรนัย จารุวัสตร์ กล่าว
เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการของเอเชียเซ็นเตอร์ สถาบันวิจัยนโยบายในไทย กล่าวว่า เมื่อเทียบกับไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนระมัดระวังตัวเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลและข้อมูลที่ผิด ๆ จากมหาอำนาจต่างประเทศ ในประเทศไทย ประชาชนขาดความสามารถที่จะรู้ว่าข้อมูลใดมาจากจีน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อตอบโต้ความพยายามของจีนในการมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของคนในประเทศ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การสำรวจโดยนิกเกอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น พบว่า เมื่อถูกถามว่าจะเลือกใครระหว่างสหรัฐฯ และจีน คนไทยครึ่งหนึ่งตอบว่าจีน และอีกครึ่งหนึ่งตอบว่าสหรัฐฯ
รายงานนี้ได้รับการปรับปรุง โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์