รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดศูนย์ควบคุมโรคประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2021.08.25
มะนิลา, จาการ์ตา, กรุงเทพฯ, และกัวลาลัมเปอร์

เมื่อวันพุธ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ทำการเปิดสำนักงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงฮานอย โดยกล่าวว่า ความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมกันส่งเสริมสุขภาพของประชาชนและความมั่นคงในภูมิภาค
CDC แห่งใหม่ประจำภูมิภาคนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพกับบรรดาประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ติดเชื้อกันได้ง่ายขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ในแต่ละวัน ในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้
“การเป็นหุ้นส่วนของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนของเรา ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และความมั่นคงโดยรวมของเรา” นางกมลา แฮร์ริส เขียนในทวิตเตอร์ ในระหว่างการเยือนเวียดนาม การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรกของเธอ โดยเธอได้เดินทางไปเยือนสิงคโปร์ก่อนที่จะไปเวียดนาม
คาดว่า CDC ประจำภูมิภาคในกรุงฮานอย ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จะให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วในการต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอยกล่าว
นางกมลา แฮร์ริส ยังประกาศที่จะบริจาควัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดสให้แก่เวียดนาม ทำให้ยอดบริจาควัคซีนให้แก่เวียดนามรวมทั้งสิ้นเป็น 6 ล้านโดส สหรัฐฯ ยังจะมอบเงินช่วยเหลืออีก 23 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเวียดนามในการขยายการเข้าถึงวัคซีน
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวกล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียนและปาปัวนิวกินี เข้าร่วมในการเปิดสำนักงาน CDC ประจำภูมิภาคในกรุงฮานอยด้วย
ขณะเดียวกัน หนึ่งวันก่อนหน้าการเยือนเวียดนามของนางกมลา แฮร์ริส จีนกล่าวว่าจะจัดหาวัคซีนอีก 2 ล้านโดสให้แก่เวียดนาม ทำให้ยอดบริจาควัคซีนของจีนแก่เวียดนาม รวมทั้งสิ้นเป็น 2.5 ล้านโดส ซึ่งน้อยกว่ายอดบริจาคของสหรัฐฯ มาก
การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ การทูต และเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ทั้งในเรื่องการจัดหาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา และข้อพิพาททะเลจีนใต้
ก่อนหน้าการบริจาควัคซีนให้แก่เวียดนาม ซึ่งประกาศออกมาวันนี้ สหรัฐฯ กล่าวว่าได้บริจาควัคซีนไปแล้วกว่า 23 ล้านโดส และได้ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพและมนุษยธรรมเป็นจำนวนเงินกว่า 158 ล้านดอลลาร์แล้วแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จีนบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นจำนวนน้อยกว่าสหรัฐฯ มาก
ตามยอดบริจาครวมที่อยู่ในเว็บไซต์ของ Bridge Consulting บริษัทวิจัยแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง จีนได้บริจาควัคซีนให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนราว 17 ล้านโดส รวมทั้ง 2 ล้านโดสล่าสุดที่ให้แก่เวียดนาม
ไม่กี่วันหลังจากที่สหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนว่า การบริจาควัคซีนและความช่วยเหลือของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาที่ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นั้น “ปราศจากข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น” จีนก็ออกมาประกาศเช่นเดียวกัน
แต่ตามที่นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ สมาชิกอาเซียนประเทศหนึ่ง กล่าวเมื่อวันอังคารที่แล้ว “การบริจาควัคซีนโควิด-19 ของจีน” ให้แก่ฟิลิปปินส์เป็นไปโดยปราศจากข้อผูกมัดใด ๆ “ยกเว้นว่าเรือของจีนจะอยู่ที่นั่น”
ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หมายถึง การที่เรือของจีนปรากฏอยู่ในน่านน้ำฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ที่กำลังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ โดยจีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งขัดกับคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ
ในทางกลับกัน สหรัฐฯ อาจ “ตกลงที่จะโอนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เวียดนามสามารถผลิตวัคซีนเองได้” คาร์ไลล์ เทเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย และสถาบันกองกำลังป้องกันประเทศของออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย หน่วยงานร่วมเครือเบนาร์นิวส์
ในขณะเดียวกัน CDC ของสหรัฐฯ ได้มีมานานแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นางโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการของ CDC สหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง เธอและนายเซเวียร์ เบเซอร์รา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ ได้ปรากฏตัวในเวียดนาม พร้อมนางกมลา แฮร์ริส
“การเป็นหุ้นส่วนที่ยาวนานของเรากับประเทศในอาเซียน [ภูมิภาคได้พัฒนาห้องปฏิบัติการด้านสาธารณสุข ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ระบบเฝ้าระวังให้ดีขึ้น] โดยเครื่องมือทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน” นางโรเชลล์กล่าว
ใกล้ 'เส้นแดง' แล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เผชิญกับการแพร่ระบาดติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์เดลตาสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในประเทศกลุ่มอาเซียนกล่าว
จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศแถบแปซิฟิกตะวันตกคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลก ดร.ทาเคชิ คาซาอิ ผู้อำนวยการองค์กรอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ในกรุงมะนิลา กล่าวเมื่อวันพุธ
“ในบางพื้นที่ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงมากกำลังทำให้ระบบการรักษาพยาบาลจวนเจียนที่จะถึงจุดที่เราเรียกว่า ‘เส้นสีแดง’ นั่นคือ จำนวนผู้ป่วยวิกฤตเกินจำนวนเตียงในห้องไอซียู และโรงพยาบาลไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลตามที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ” ดร.ทาเคชิ คาซาอิ กล่าวในการแถลงข่าวทางออนไลน์
“[ข]ณะนี้ สายพันธุ์เดลตาเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง และกำลังทดสอบขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข แม้กระทั่งในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในภูมิภาคของเรา”
ลาวและกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านของเวียดนาม ก็กำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในไทยทะลุหนึ่งล้านคนแล้ว ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มาเลเซียรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นประวัติการณ์เป็นเวลาหลายวัน โดยในวันที่ 20 สิงหาคม มีผู้ติดเชื้อจำนวน 23,564 ราย นับเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่ที่เกิดการระบาดใหญ่
เจสัน กูเตอเรซ, มาเรียล ลูเซนิโอ, โจโจ ริโนซา และ ดานเต ดิโอซินา จูเนียร์ ในกรุงมะนิลา; รอนนา เนอร์มาลา ในจาการ์ตา; นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ และ เอส.อาดี ซุล ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน