ครม. ถอนร่างกฎหมายขายที่ดินชาวต่างชาติ หลังกระแสค้าน
2022.11.08
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

คณะรัฐมนตรีมีมติในวันอังคารนี้ ถอนร่างกฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน หลังจากมีกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การถอนร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อนำมาศึกษาเพิ่มเติมก่อนกลับมาตัดสินใจอีกครั้ง
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ครม. มีมติอนุมัติหลักการของร่างกฎกระทรวงให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดิน แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา แต่เกิดเสียงวิจารณ์ ในวันอังคารนี้ ครม. จึงมีมติให้ถอนร่างดังกล่าวออกจากการพิจารณาก่อน
“กระทรวงมหาดไทยได้ขอถอนร่างกฎกระทรวง เพื่อนำไปรับฟังความคิดและวิเคราะห์ผลกระทบ และนำไปศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบ ถี่ถ้วน และครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ” นายอนุชา กล่าว
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวว่า “ยกเลิก (การใช้กฎกระทรวงฯ) ไว้ก่อนเพื่อจะเอาทุกปัญหาความไม่เข้าใจมาคุยกัน.. เพราะจริง ๆ มันอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นทั้งนั้นแหละ มันยังไม่มีประกาศใช้หรอก มันเป็นเรื่องของอนุมัติหลักการ”
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะสามารถกลับเข้ามาพิจารณาโดย ครม. อีกครั้งได้ ต้องเว้นระยะเวลา 15 วันตามกฎหมาย
“เอากลับไปทำให้ดี รับฟังความเห็น ปรับปรุงให้มันเข้มงวดกวดขันแล้วก็รับฟังที่เขาวิจารณ์กันอยู่วันเนี้ย หลายข้อก็ถูกที่ชาวบ้านวิจารณ์ เอาไปทำเสียให้มันดี แล้วถ้าคิดว่าจะกลับมาก็ให้กลับมาดีที่สุด ให้เช่าแต่มันไม่ดึงดูดความสนใจคนได้เท่าที่ควร” นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดย ครม. มุ่งหวังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่งกังวลว่ากฎหมายฉบับนี้จะเปิดช่องให้ไทยเสียดินแดนบางส่วนให้กับชาวต่างชาติ จนเกิดวาทกรรม “ขายชาติ” แม้กฎหมายในลักษณะเดียวกันเคยถูกบังคับใช้มาแล้ว
โดยในปี 2545 ไทยเคยมีกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่ดินในประเทศไทยได้อยู่แล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนในประเทศไทย 40 ล้านบาท และจะต้องไม่ถอนการลงทุนภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตามร่างกฎกระทรวงใหม่นี้ ยังกำหนดให้ลงทุน 40 ล้านบาทเท่าเดิม แต่มีการปรับระยะเวลาถอนการลงทุนเหลือ 3 ปี และกำหนดเงื่อนไขของชาวต่างชาติที่จะซื้อที่ดินได้ คือ กลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
มีเงื่อนไขสามารถซื้อที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ อยู่ในเขตที่กฎหมายกำหนดเป็นที่ดินอยู่อาศัย ไม่อยู่ในเขตปลอดภัยในราชการทหาร และต้องใช้สำหรับอยู่อาศัยเองเท่านั้น ขณะที่การลงทุนในประเทศไทย จะต้องเป็นการลงทุนในกองทุนที่ได้รับการรับรอง เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุเปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีกฎกระทรวงที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545 มีชาวต่างชาติเพียง 10 รายเท่านั้นที่ซื้อที่ดินตามกฎหมายดังกล่าว เพราะ “เขาเห็นว่ากฎกระทรวงนี้เป็นภาระยุ่งยาก สู้ซื้อผ่านนอมินีไม่ได้ ตรงนั้นซื้อ 100 ไร่ก็ได้ สุดท้ายก็เลยเลี่ยงไปซื้อผ่านนอมินี อันนี้คือเหตุที่กระทรวงมหาดไทยได้ดูแล้วคิดว่าปรับเสียเพื่อความคล่องตัว”
ต่อประเด็นนี้ นางสุณี รอสส์ เจ้าของบริษัทซื้อ-ขายบ้านและที่ดิน เชียงใหม่เลิฟโฮม เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า คนที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎกระทรวงใหม่คือ เจ้าของที่ดินชาวไทย
“ถามว่าใครจะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ ก็ต้องบอกว่าเจ้าของที่ดินนั่นแหละ แต่รัฐก็ต้องทำให้คนไทยที่ไม่ใช่เจ้าของที่ได้ประโยชน์ด้วย ส่วนตัวมองว่าการต่างชาติลงทุนในไทยแค่อย่างน้อย 3 ปี ถือว่าน้อยมากเลย เพราะแต่ก่อนการจะให้เขาเช่าลงทุนต้อง 5 ปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ไม่แปลกใจที่กฎหมายยังต้องแก้ไข เพราะเชื่อว่าต้องทำรายละเอียดให้คนไทยได้ประโยชน์มากที่สุด” นางสุณี กล่าว
ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อว่า สิ่งที่รัฐควรดำเนินการก่อนใช้ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่คือ การจัดการกับปัญหาการครอบครองที่ดินของต่างชาติแบบเลี่ยงกฎหมาย
“ที่ผ่านมา เราพบปัญหาที่ดินของไทยถูกซื้อโดยต่างชาติผ่านนายหน้าไทย หรือใช้การจ้างแต่งงานกับคนไทยเพื่อครอบครองที่ดิน ปัญหานี้มันไม่เคยถูกจัดการอย่างจริงจังมาก่อน แต่รัฐกลับออกร่างกฎกระทรวงเพื่อมารองรับปัญหาไปแทน ซึ่งมันไปตอบรับกับแค่กลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงเท่านั้น แม้รัฐจะยอมถอยเรื่องนี้ในตอนนี้ แต่ในอนาคตรัฐก็ควรดำเนินการให้ชัดเจนว่า กฎหมายจะไม่สร้างผลกระทบต่อคนไทยที่มีกำลังซื้อจำกัด โดยมีการกำหนดภาษีที่ดินสำหรับต่างชาติในอัตราที่แตกต่างจากคนไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” น.ส. นวพร กล่าว
ข้อมูลของอ็อกซ์แฟม ระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐีไทยที่มีทรัพย์สินมากกว่า 32.5 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านเหรียญ คิดเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งหมด ผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าระหว่าง 3.25 – 32.5 ล้านบาท คิดเป็น 0.7 เปอร์เซ็นต์ และคนที่มี 3.25 แสน – 3.25 ล้านบาท คิดเป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 91.1 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สิน 3.25 แสนบาท
ขณะที่งานวิจัยของ น.ส. ดวงมณี เลาวกุล เรื่องการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย เมื่อปี 2556 ระบุว่า โฉนดที่ดินไทย 80 เปอร์เซ็นต์ ถือครองโดยกลุ่มคนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ส่วนที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือต้องกระจายให้กับคนอีก 95 เปอร์เซ็นต์
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ร่วมรายงาน