จนท.อาเซียนหารือมิน ออง ลาย เสนอรายชื่อผู้แทนพิเศษแก้ปัญหาเมียนมา
2021.06.06
วอชิงตัน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียนได้เข้าหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ในเมียนมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และได้แถลงหลังการเข้าหารือว่า ได้เสนอรายชื่อคนที่อาเซียนสามารถแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของประเทศ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด
นับเป็นครั้งแรกที่นายเอรีวัน เปฮิน ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง หลังจากที่ประชาคมอาเซียนไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา นับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ประเด็นที่เราหารือกัน ได้แก่ การแต่งตั้งและบทบาทของผู้แทนพิเศษประธานอาเซียน” แถลงการณ์ที่ออกเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา ระบุหลังการประชุมระหว่าง พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย แบะสมาชิกคนอื่น ๆ ของสภาบริหารแห่งรัฐ นายเอรีวัน เปฮิน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และนายลิม จก โฮย เลขาธิการอาเซียน
“ในเรื่องนี้ ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้เสนอรายชื่อผู้แทนพิเศษของอาเซียนต่อเมียนมา และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้งผู้หญิง เด็ก และชาวต่างชาติ”
นายเอรีวัน เปฮิน ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน ซึ่งบรูไนเป็นประธานอาเซียนในปีนี้
โดยแถลงดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีท่าทีอย่างไร ต่อประเด็นการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงดังกล่าวระบุว่า ประธานอาเซียนมีความยินดีกับความมุ่งมั่นของเมียนมา ที่จะกลับมาใช้ความพยายามด้านมนุษยธรรมร่วมกับอาเซียนอีกครั้ง แม้ไม่ได้ระบุว่า จะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังกล่าวอีกว่า มีความยินดีที่ได้เห็นสัญญาณที่ดีของเมียนมาจากช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่าจะไม่ยินยอมให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเดินทางเยือนเมียนมารจนกว่ารัฐบาลจะสามารถสร้าง “เสถียรภาพ” ในประเทศได้ และยังกล่าวอีกว่า จะไม่ดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน จนกว่าเมียนมาจะมี “เสถียรภาพ” ในประเทศ
แม้ว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย จะเป็นภาคีของมติดังกล่าว และเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ที่ฉันทามติดังกล่าวได้มีบทสรุปออกมาในที่ประชุม และเมียนมาจะเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ตาม
ฉันทามติดังกล่าวเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่ปฏิบัติตาม
หลังจากการประชุมของผู้นำอาเซียนที่ผ่านมาห้าสัปดาห์แล้ว แต่รายชื่อผู้แทนพิเศษก็ยังไม่ถูกเปิดเผย ขณะที่เริ่มมีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า อาเซียนไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนพิเศษ เนื่องจากเกิดการไม่ลงรอยกันในกลุ่ม
ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและนักวิเคราะห์การเมืองได้วิพากษ์วิจารณ์อาเซียนอย่างรอบด้าน ในการพยายามลดทอนมติของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงประเด็นการเรียกร้องให้ยุติการขายอาวุธทางทหารให้กับเมียนมา ซึ่งรายงานครั้งแรกโดยเบนาร์นิวส์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า รัฐบาลเงาของเมียนมากล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ไม่ได้คาดหวังว่าอาเซียนจะช่วยเมียนมาได้ เพราะที่ผ่านมาอาเซียนมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่ละเลยที่จะเจรจากับรัฐบาลพลเรือนคู่ขนาน
“บอกตามตรงว่า เราไม่มีศรัทธาในความพยายามของอาเซียนอีกต่อไป และเราก็ไม่คาดหวัง” นายโม ซอ อู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กล่าว
“อาเซียนไม่มีแผนชัดเจน ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือของพวกเขา” โม ซอ อู กล่าวเพิ่มเติม
การประชุมผู้นำอาเซียนในวันที่ 24 เมษายน ไม่ได้เชิญใครสักคนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน เมื่อวันอาทิตย์ว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนมีความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงในเมียนมา
“เราติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ” นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าว
นายธานียังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทุกคน และ “ดำเนินการตามฉันทามติทั้ง 5 ข้อ อย่างเป็นรูปธรรม” โดยเร็วที่สุด
การดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ เป็นวัตถุประสงค์ของการประชุมเจ้าหน้าที่อาเซียนในเมียนมากับหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารในวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา
“วัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้ เพื่อหารือถึงวิธีที่อาเซียนสามารถช่วยเมียนมาในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผ่านการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งและบทบาทของผู้แทนพิเศษของอาเซียน” แถลงการณ์ระบุ
นอกจากนี้การประชุมยังจัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีที่อาเซียนจะสามารถ “ช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายในเมียนมา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนแก่เมียนมา”
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศกลุ่มอาเซียนและจีน เตรียมเข้าหารือด้วยตนเอง ในวันจันทร์และวันอังคารนี้ เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองในเมียนมา
ผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าวว่า นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนจะสามารถ “ช่วยเหลือ” รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในการบรรลุข้อตกลง เพื่อส่งผู้แทนพิเศษไปยังเมียนมาในการประชุมครั้งนี้ ที่จะจัดขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน
รัฐบาลจีนมีอิทธิพลอย่างมากในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากความใกล้ชิดและการลงทุนของจีนจำนวนมากในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับการลงทุนจำนวนมากของจีนในเมียนมา
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาได้พบกับผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา ซึ่งมีรายงานว่าเขาเปิดรับการเจรจาเพื่อทำงานร่วมกับอาเซียน ตามคำแถลงของสถานทูตที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก
“ฝ่ายเมียนมายินดีร่วมมือกับอาเซียนเพื่อปกป้องเสถียรภาพภายในประเทศของเมียนมา และดำเนินการตามฉันทามติที่เกี่ยวข้อง” คำแถลงของสถานทูตจีนในเมียนมา ระบุ
“จีนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะ … ฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา และสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติของอาเซียนและเมียนมา จีนจะยังคงมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในเรื่องนี้ต่อไป”