สาวไทยเล่าถูกล่อลวง โดนบังคับค้าประเวณีในเมียนมา
2023.01.06
ปทุมธานี

หญิงไทยสามรายถูกล่อลวงให้ไปทำงานเอ็นเตอร์เทนที่ระบุว่ามีรายได้สูง ในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ในประเทศเมียนมา แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ค้าประเวณี พวกเธอให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ หลังหนีรอดออกมาได้ไม่กี่สัปดาห์
สองพี่น้อง นางสาวเอ และนางสาวอ้อย รวมทั้งพลอย เพื่อนสนิท วัย 20 ตอนปลาย ได้สมัครงานผ่านนายหน้าชาวไทย ชื่อ แนน ที่รู้จักกันทางเฟซบุ๊ก หลังถูกชักชวนให้ไปทำงานเป็นพนักงานเสริฟ รายได้สูงถึงเดือนละ 50,000 บาท ในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ในประเทศเมียนมา แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศกับลูกค้าชาวจีนเพื่อจ่ายหนี้ค่าตัวที่ตนเองไม่ได้ก่อที่เมืองเล้าก์ก่าย เขตปกครองตนเองโกก้าง ในรัฐฉาน ติดชายแดนประเทศจีน
“เขาบอกว่าได้เงินเป็นเงินหยวนของจีนนะ ไม่ใช่เงินพม่า เราคิดว่ารายได้ดี ก็ตกลงใจจะไปกัน” อ้อย สาววัย 27 เริ่มเล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง
หญิงสาวทั้งสามคน (ใช้นามสมมติ เพื่อความเป็นส่วนตัว) ถูกนายหน้าชาวเมียนมา หนึ่งในสมาชิกของขบวนการค้ามนุษย์ นำพาออกจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปยังเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา โดยอาศัยเส้นทางธรรมชาติ
เมื่อถึงเมืองเล้าก์ก่าย ทั้งหมดถูกนำตัวไปส่งยังโรงแรมที่มีหญิงวัยกลางคน พูดภาษาไทยได้และเรียกตัวเองว่า หม่าม้า รอรับพวกเธออยู่ หญิงรายนี้บอกกับพวกเธอว่า พวกเธอต้องทำงานขายบริการทางเพศ เพื่อใช้หนี้ค่าเดินทางอีกคนละ 90,000 บาท ซึ่งรวมกับค่านายหน้าแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 140,000 บาท ที่ต้องจ่ายให้แนน พร้อมพูดด้วยว่า รูปร่างหน้าตาของหญิงสาวไม่ตรงกับที่นายหน้าที่ประเทศไทยส่งให้เธอดูก่อนหน้านี้
“หนูตกใจมากค่ะ” เอ พี่สาวของอ้อย วัย 29 บอกอีกว่า พวกเธอถูกขายต่อเป็นทอด ๆ ในเมืองที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของคนจีนแห่งนี้ ในเวลาต่อมา
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี องค์กรที่ช่วยเหลือหญิงสาวเคราะห์ร้ายทั้งสาม กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลหลายประเทศประกาศคลายล็อกดาวน์ ทำให้สถานบันเทิงยามค่ำคืน รวมถึงการค้าประเวณีกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง
ประธานมูลนิธิปวีณา ระบุว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้รับเรื่องราวร้องเรียนที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เปรียบเทียบกับในปี 2564 ที่มีเพียง 102 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 255 เรื่องในปี 2565 และ 216 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยประเทศปลายทางอันดับหนึ่งคือ ประเทศดูไบ ตามด้วยบาห์เรน และเมียนมา ตามลำดับ
“พม่าขึ้นมาเป็นอันดับสาม จากปกติเราไม่มีพม่ามาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราห่วงใย เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกัน” นางปวีณา กล่าวพร้อมระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลือหญิงสาวอายุ 16 ปี ถูกหลอกบังคับไปค้าประเวณีที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา มาแล้ว
สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Institute of Peace - USIP) เผยแพร่รายงานหลายฉบับ ระบุตรงกันว่า ปัจจุบันเมียนมาเป็นศูนย์กลางที่ตั้งหลักของกลุ่มอาชญากรชาวจีน ที่มีความเคลื่อนไหวในการขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ทั้งพร้อมขยายอิทธิพลไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ในโกก้าง ผู้นำการเมืองและเศรษฐกิจเรียกตัวเองว่าเป็น เขตปกครองพิเศษ สร้างอาณาจักรที่มีอิทธิพลจากโครงสร้างธุรกิจการพนันและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง” รายงานในปี 2564 ระบุ
“โกก้างกับเครือข่ายอาชญากรรมชาวจีน มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง อ้างอิงจากศาลอาญาประเทศจีน มีบันทึกคำตัดสินลงโทษคดีอาชญากรรมในเขตปกครองพิเศษโกก้างหลายร้อยคดี ที่เกี่ยวกับคาสิโนผิดกฎหมาย การฉ้อโกง การลักพาตัว ยาเสพติด และอาวุธ”
รายงาน USIP ระบุด้วยว่า เครือข่ายโกก้างได้ขยายธุรกิจคาสิโนและอสังหาริมทรัพย์ ไปยังเมืองคาสิโนในรัฐกะเหรี่ยง ติดชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา
จากชีวิตสาวโรงงานทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่ฝันว่าอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งหมดจึงตกลงใจตอบรับคำชักชวนให้ไปทำงานในเดือนกันยายน และนั่นได้นำพาชีวิตของพวกเธอไปสู่การเดินทางที่น่ารันทดใจในประเทศเมียนมา
ในวันที่ 21 กันยายน นายหน้าชาวไทยรับตัวหญิงสาวทั้งสามคนไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และเช้าวันต่อมา มีนายหน้าเป็นชายชาวเมียนมา มารับพวกเธอและนำพาทั้งหมดเดินขึ้นภูเขาไปโดยมีปลายทางคือ รัฐฉาน
“เขาทิ้งเราไว้กลางดอยแล้วบอกให้พวกเราเดินลงดอยไปทางด้านหลังค่ะ” พลอย วัย 28 บอกเบนาร์นิวส์ “เราเริ่มเอะใจ แต่กลับไปไม่ได้แล้ว เราไม่รู้จะไปทางไหน มือถือก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์แล้ว”
“แต่ละจุด จะมีคนของเขามาคอยรับเพื่อพาเราเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เปลี่ยนรถหลายรอบมาก ให้พวกหนูพรางตัวไม่ให้ทหารพม่าที่จุดตรวจจับได้” พลอย เล่าเพิ่มเติมและบอกอีกว่า พวกเธอใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 6 วัน 5 คืน จึงไปถึงเมืองเล้าก์ก่าย
บังคับให้ค้าประเวณี
ที่เมืองเล้าก์ก่าย มีชายชาวจีนมาดูตัวหญิงสาวทั้งสามคน และสนทนากับหม่าม้าด้วยภาษาจีน จากนั้น หม่าม้าได้กล่าวกับสองพี่น้องว่า เธอขาดจากการเป็นของหม่าม้าแล้ว และต้องย้ายออกไปอยู่กับชายชาวจีนคนนั้น
“เขาบอกเราว่า เขาขายเราให้คนจีนไปแล้วราคาคนละ 250,000 บาท แต่เขาไม่ซื้อเพื่อนหนู เขาบอกว่าเพื่อนหนูอ้วนเกินไป” เอ เล่า
“เขาบอกเราว่าเราต้องเซ็นสัญญาหกเดือนกับคนจีน และก็ขอยึดพาสปอร์ต กับบัตรประชาชนเรา” อ้อย เล่าเพิ่มเติม
พลอยต้องอยู่ลำพังคนเดียว หลังจากเพื่อนสนิททั้งสองโดนซื้อตัวออกไป ค่ำวันหนึ่งเธอถูกพาขึ้นไปชั้นบนและบังคับให้เสพยาเสพติด ทั้งยาเค และแฮปปี้วอเตอร์ ในที่สุดเธอโดนขายต่อให้กับเจ้าของโรงแรมอีกแห่งหนึ่งที่มีหัวหน้าเป็นชายชาวจีนเรียกตัวเองว่า “เหลาป่าน” หรือคนคุมซ่องเล้าก์ก่าย
“ที่นี่เขาบังคับให้หนูขายบริการ หนูไม่มีทางเลือก ก็ต้องยอม” พลอย บอกเบนาร์นิวส์ “แต่หนูยังไม่มีแขกมาเลือก”
ที่เล้าก์ก่าย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนใช้ที่เวลาเดินทางเพียงครึ่งชั่วโมงจากชายแดนประเทศจีน เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสูง 10 ชั้น 20 ชั้น ทำเป็นโรงแรม คาราโอเกะ และสถานบันเทิง พลอยเล่าว่า เธออาศัยอยู่ในโรงแรมสูง 10 ชั้น ที่แต่ละชั้นมีทหารคุมเต็มทุกชั้น
“เมืองนี้เป็นเมืองคนจีน ใช้เงินหยวน ไม่ใช้เงินพม่า เจ้าของธุรกิจเป็นคนจีนทั้งหมด และคนจีนพวกนี้จ้างคนแต่งชุดทหาร พร้อมอาวุธครบมือ มีปืน มีกระสุน มีระเบิด คอยคุมพื้นที่ พร้อมยิง หนูไม่รู้ว่าคนไหนเป็นทหารจริง หรือทหารรับจ้างเลย” พลอย เล่ารายละเอียด
สองพี่น้องโผเข้ากอดพ่อร่ำไห้ หลังจากได้รับความช่วยเหลือให้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง ที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 (มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี)
‘นอนไม่ได้ หลับตาไม่ลง’
วันหนึ่งพลอยได้รับอนุญาตจากเหลาป่านให้ออกจากโรงแรม หลังจากเธอบอกเขาว่าเธอได้ที่ทำงานใหม่และอยากไปดูร้านก่อน จากนั้นเธอจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้พาไปหาสองพี่น้องที่รออยู่อีกโรงแรมหนึ่งแล้วหนีไปด้วยกัน
“มีคนใจดีเขาสงสารพวกหนู เขาช่วยเหลือพาเราไปซ่อนตัว ตอนนั้นเราเริ่มติดต่อพ่อแล้วก็มูลนิธิปวีณาฯ แล้วค่ะ” อ้อย บอก
วันที่ 1 พฤศจิกายน นางปวีณา หงสกุล พร้อมด้วยครอบครัวของหญิงสาวทั้งสามรายเดินทางไปประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา ที่ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายไทย ฝ่ายเมียนมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีหญิงสาวทั้งสามรายนี้
“ตอนนั้นคิดกันว่าถ้าไปช่วยไม่ทันพวกหนูก็จะฆ่าตัวตายกันแล้วค่ะ” พลอยพูดด้วยความขมขื่น “ตอนนั้นพวกหนูยังอยู่ในพื้นที่เขา เราหวาดระแวงกันมากค่ะ เพราะเขาส่งข้อความหานายหน้าคนไทยบอกว่า ถ้าตามเจอที่ไหนก็จะกระทืบให้ตาย ไม่ว่าจะที่จีนหรือประเทศไทย”
ความรู้สึกของอ้อย ก็ไม่ต่างกัน
“พวกหนูนอนกันไม่ได้เลยค่ะ หลับตาไม่ลง พวกเราพยายามอยู่กันเงียบ ๆ ปิดโทรศัพท์ ปิดไฟ ปิดประตู ปิดหน้าต่างทุกอย่าง และคอยพยายามฟังเวลามีอะไรเข้ามาใกล้ ๆ ค่ะ” อ้อย บอก
ในที่สุดทางการเมียนมาก็ประสานเข้าไปช่วยเหลือหญิงสาวทั้งหมดได้เป็นผลสำเร็จ แต่พวกเธอต้องรับโทษจำคุกข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก่อน เป็นเวลา 3 สัปดาห์
พวกเธอเปรียบสภาพคุกเหมือนกับเล้าไก่ ที่ตีด้วยไม้หนา ๆ มีช่องว่าง มองเห็นกันได้ มีลวดหนามล้อมรอบคุกอีกชั้นหนึ่ง สกปรก เต็มไปด้วยขี้ฝุ่น แฉะ มีหนูตกลงไปตายในน้ำเน่า ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำสะอาด พวกเธอต้องขอแบ่งข้าวจากนักโทษชายที่ถูกขังอยู่ฝั่งตรงข้ามมากินประทังชีวิต
อาหารถูกใส่มาในถังพลาสติกสีดำ เป็นข้าวกับไข่เจียวจืด ๆ ครึ่งใบ ที่พวกเธอต้องใช้มือล้วงลงไปตักอาหารใส่ปาก
ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา ขับรถนำตัวหญิงสาวทั้งสามคนข้ามสะพานมิตรภาพที่เชื่อมระหว่างจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มาส่งที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เฟซบุ๊กของมูลนิธิปวีณาฯ ถ่ายทอดสดช่วงเวลาที่พี่น้องทั้งสองคนลงจากรถและโผเข้าสู่อ้อมกอดของพ่อที่รอคอยพวกเธออยู่ ทั้งหมดร่ำไห้ ขณะที่พ่อพูดกับลูกสาวทั้งสองคนว่า “ให้เป็นบทเรียนนะลูก กลับบ้านเรา ไม่ต้องไปไหนอีก”
หญิงสาวทั้งสามได้เรียนรู้บทเรียนอันแสนเจ็บปวดครั้งนี้
“หนูไม่เคยคิดว่าหนูจะโดนหลอกกับตัวเองแบบนี้ ชีวิตมันไม่ได้ดีอย่างที่เขาบอก” อ้อย ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ในช่วงเดือนธันวาคม “ไปอดข้าว อดน้ำ โดนทุบตี”
“หนูก็ไม่คิดว่าหนูต้องมาเจออะไรแบบนี้ ทั้งโดนบังคับให้เสพยา บังคับให้ขายบริการแบบนี้” พลอย เล่าความรู้สึก
“อยู่ประเทศไทยดีที่สุดค่ะ” เอ พูดเสริม
นางปวีณา หงสกุล โชว์ภาพให้เห็นสภาพอาคาร ที่เมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ที่หญิงสาวโดนบังคับให้ค้าประเวณี ระหว่างแถลงข่าวที่สโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 (วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์)
ตกเป็นเหยื่อโดยง่าย
ในปี 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ บก.ปคม. สามารถจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ได้ 248 คดี เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนทางช่องทางออนไลน์จำนวน 179 คดี ขณะที่ปี 2464 จับกุมได้ 188 คดี เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนทางช่องทางออนไลน์ 107 คดี ผลจากการสืบสวน พบว่าคดีที่เกิดขึ้นมากกว่าครึ่ง มาจากโฆษณาจัดหางานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย
โดยในปี 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน ตามมาตรา 66 การโฆษณาจัดหางานได้ 57 คดี เป็นแอดมินที่โพสต์ข้อความโฆษณาชักชวนคนให้ไปทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูงบนโซเชียลมีเดีย
“ปัจจุบันคนร้ายเข้าถึงตัวเหยื่อได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และล่อลวงเหยื่อให้เข้าไปสู่การทำงานผิดกฎหมาย ทั้งการค้าแรงงาน การค้าประเวณี” พล.ต.ต. ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการกองบังคับการปรามปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“เรามีทีมติดตามขบวนการชักชวนคนไปทำงานต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ”
“คนอาจจะมองว่าแค่ประเทศเพื่อนบ้าน การเดินทางไม่ได้ไกลมากจะกลับบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกหลอก มันทำให้เป็นแรงจูงใจของคนที่จะไป แต่พอไปถึงแล้วไม่เป็นไปอย่างที่คิด” พล.ต.ต.ศารุติ กล่าว
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม ปี 2565 ตำรวจจากกองบังคับการปรามปรามการค้ามนุษย์ ร่วมกับตำรวจมาเลเซีย เข้าช่วยเหลือเด็กหญิงชาวไทย อายุ 13 ปี ที่ถูกหลอกพาข้ามพรมแดนธรรมชาติไปบังคับค้าประเวณี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
“เราเข้าใจเรื่องที่ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อช่วยครอบครัว แต่ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย” พล.ต.ต. ศารุติ กล่าวทิ้งท้าย