คนไทยในเล้าก์ก่ายร้องรัฐเร่งอพยพด่วน ก่อนเกิดการปะทะใหญ่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
กรุงเทพฯ
คนไทยในเล้าก์ก่ายร้องรัฐเร่งอพยพด่วน ก่อนเกิดการปะทะใหญ่ ญาติของคนไทยที่ติดอยู่ในเล้าก์ก่ายรายหนึ่งยื่นหนังสือถึงสถานทูตจีน ผ่านทาง พ.ต.ท. เอกราช มาละวรรณโณ รองผู้กำกับ สน.ห้วยขวาง เพื่อขอช่วยเร่งอพยพคนไทยออกจากพื้นที่สู้รบโดยเร็ว วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

คนไทยที่ยังคงติดอยู่ในเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเร่งอพยพพวกตนออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีรายงานว่าทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยจะมีการปะทะครั้งใหญ่ในวันเสาร์นี้ ขณะที่ญาติของคนไทยในเล้าก์ก่ายเข้ายื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ให้รัฐบาลจีนยื่นมือเข้าช่วยเหลืออพยพคนไทยให้พ้นอันตราย

คนไทยในเมืองเล้าก์ก่ายหลายคน ได้เปิดเผยผ่านไลฟ์เฟซบุ๊กของนายเอกราช สุคนธมาศ ในช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่า กลุ่มของตนเองอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลสนามในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตเล้าก์ก่าย แม้จะถูกช่วยเหลือออกมาจากขบวนการคอลเซ็นเตอร์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ตามต้องการ

“เราคนไทยทุกคนได้รับข่าวสารมาว่า วันที่ 18 (พฤศจิกายน 2566) จะมีสงครามครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งเราอยากกลับก่อนวันที่ 18 หรืออพยพออกจากที่นี่ก่อนวันพรุ่งนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยวอนไปถึงรัฐบาลจีนด้วย” ผู้หญิงไทยรายหนึ่ง (ไม่ได้เปิดเผยชื่อและนามสกุล) กล่าว

“อยู่ท่ามกลางเสียงระเบิด แล้วก็เสียงปืนทั้งกลางวันและกลางคืน มันย่ำแย่มากจริง ๆ บางคนมีสภาวะเครียด กดดัน ถึงขั้นนอนไม่ได้ มีทั้งคนที่คิดที่จะฆ่าตัวตาย โดนตัดน้ำ ตัดไฟ ตอนนี้น้ำกิน น้ำดื่มเราต้องซื้อกันเอง ข้าวที่ส่งมามันไม่เพียงพอต่อจำนวนคน ข้าวเสีย กินไม่ได้ก็มี” คนไทยที่ติดอยู่ที่เล้าก์ก่ายอีกราย ระบุ

“เราต้องช่วยเหลือกันเอง สุขอนามัยไม่ดีเลย สุขภาพก็ไม่ดี อยากกลับบ้าน ไม่ว่าหน่วยงานหรือทางการไหนก็ตาม ก็จะบอกว่า ใกล้แล้ว อีกสองวัน แต่ความหวังคือเท่ากับศูนย์ มีแค่วันแล้ว กับวันเล่า อีก 4 วันจะครบเดือนเต็ม ๆ ที่เราอยู่ที่นี่”

ในวันนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และกองกำลังผาเมือง ระบุว่า มีคนไทยร่วม 300 คน ที่ติดอยู่ในเมืองเล้าก์ก่าย ในจำนวนนี้ มีอยู่ 254 คน ที่อยู่ในความดูแลของทหารเมียนมา ส่วน 40 ถึง 50 คน ที่นายจ้างไม่ยอมปล่อยตัว ขณะที่มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 41 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว แต่อยู่ระหว่างกระบวนการสอบประวัติในจังหวัดเชียงตุงของเมียนมา ติดกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ญาติขอความช่วยเหลือจากสถานทูตจีน

ขณะเดียวกัน ในวันศุกร์นี้ กลุ่มญาติและครอบครัวของคนไทยที่ติดอยู่ในเมืองเล้าก์ก่าย รวม 8 คน ได้เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ย่านถนนรัชดาภิเษก เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยื่นมือเข้ามาช่วยคนไทยที่ยังคงติดอยู่ในเมียนมา

“หลานสาวติดอยู่ที่นั่น เขาไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ พอไปถึงเดือนแรก เขาก็แจ้งเรากลับมาเลยว่าโดนพาไปเล้าก์ก่าย ถูกขังและอยากให้ช่วยเหลือ เขาติดต่อกลับมาหาพี่สาวเขา แล้วพี่สาวไปแจ้งมูลนิธิต่าง ๆ แต่เรื่องก็เงียบ มีญาติของคนที่ติดอยู่ที่นั่นไปแจ้งกงสุลไทยในเมียนมาให้ช่วยเหลือ พอทางแก๊งรู้ ก็มีคนถูกซ้อม ถูกทำร้าย เพราะเชื่อว่าพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใหญ่มาก” น.ส. คณิศร พยอมหอม อาของหนึ่งในคนไทยที่ติดอยู่ที่เล้าก์ก่าย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“หลานถูกปล่อยออกมาประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ตอนนี้อยู่ในการดูแลของพม่า แต่พม่าดึงเรื่องไว้เลยยังไม่ได้กลับ พม่าไม่อนุมัติ เราคิดว่า รัฐบาลจีนน่าจะช่วยได้ เพราะเขาเป็นพันธมิตรกัน พวกที่ติดอยู่ก็เชื่อว่าถ้าจีนขอน่าจะง่าย เราก็เลยมาขอผ่านจีน ตอนนี้เรากังวลกันว่า อีกสองวันเขาจะถล่ม ทำสงครามหนัก เราเห็นข่าวเขาทิ้งระเบิดแล้วมีคนตาย เราเป็นห่วงเขา” น.ส. คณิศร ระบุ

ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ไม่ได้ส่งตัวแทนมารับหนังสือ แต่ พ.ต.ท. เอกราช มาละวรรณโณ รองผู้กำกับ สน.ห้วยขวาง ได้เป็นผู้รับหนังสือแทน และหลังจากนั้น กลุ่มญาติจะเดินทางไปยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือที่ทำเนียบรัฐบาล

ในวันเดียวกัน นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวระบุแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า รัฐบาลไทยพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือคนไทยที่ติดในเมียนมา

“ย้ำว่า เราพยายามอยู่ แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ง่าย ขอให้วางใจว่ากำลังทำอยู่อย่างเต็มที่ กระบวนการทางกฎหมายเรื่องเล้าก์ก่าย ก็มีการหารือกัน พยายามหาตัวหลักให้ได้ แทนที่จะจัดการกับคนที่ไปรับจ้างโดยไม่รู้ หรือว่ารับจ้างเพราะความจำเป็นในชีวิต” นางกาญจนา กล่าว

นางกาญจนา ระบุว่า คนไทยที่ติดอยู่ในเมืองเล้าก์ก่ายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือ ปัจจุบัน อยู่ที่สถานพักพิงซึ่งเป็นโรงพยาบาล 165 คน กลุ่มที่ถูกปล่อยออกมา และพำนักอยู่ในที่ปลอดภัยรอการส่งไปรวมกับกลุ่มใหญ่ 89 คน ซึ่งสองกลุ่มแรกนี้ ได้ตรวจสัญชาติและทำเอกสารพร้อมเดินทางกลับแล้ว ขณะที่กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ยังติดอยู่ในการควบคุมตัวของขบวนการ คาดว่ามีประมาณ 40-50 คน

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายน และตุลาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมา ได้ประกาศแจ้งเตือนให้คนไทยระมัดระวังจะถูกหลอกไปทำงานในประเทศเมียนมา ผ่านการประกาศหางานออนไลน์ ผ่านชายแดนฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยระบุว่า จะมีลักษณะการล่อลวงว่า จะมีรายได้ 3-4 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งหากหลงเชื่อจะถูกขายต่อไปทำงานในเขตปกครองตนเอง ถูกบังคับขายบริการ บังคับให้เสพยา ถูกยึดหนังสือเดินทาง และเป็นหนี้

กระทั่งในวันพุธ รัฐบาลไทย ระบุว่า จะมีคนไทย 41 คน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือโดยกลุ่มว้าจากขบวนการคอลเซนเตอร์ และจะถูกส่งตัวกลับประเทศผ่านด่านชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ตาม คนทั้ง 41 คนยังไม่ได้รับการส่งตัวกลับ

 231117-th-mn-trafficked-thais-2.jpg

พ.อ. ตู๋ล่า ส่อ วิน โซ ผู้บังคับกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก (ซ้าย) และ พ.. ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง พูดคุยถึงเรื่องสถานะของคนไทย 41 คน ที่ห้องรับรองด่านศุลกากร ในอำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงตุง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 (กองกำลังผาเมือง)

ในส่วนของคนไทย 41 ราย ที่รอผ่านแดนทางด่านท่าขี้เหล็ก-แม่สายนั้น ในวันศุกร์นี้ พ.อ. ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ในฐานะคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย ได้เข้าพบ พ.อ. ตู๋ล่า ส่อ วิน โซ ผู้บังคับกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก เพื่อขอรับทราบสถานการณ์การรับตัวคนไทยกลับประเทศ ซึ่งทางฝ่ายเมียนมากำลังดำเนินกระบวนการซักถามต่าง ๆ โดย พ.อ. ตู๋ล่า ส่อ วิน โซ กล่าวว่า ตนกำลังรอการอนุมัติปล่อยตัวจากหน่วยเหนืออยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะปล่อยได้ในหนึ่งถึงสองวันนี้

ก่อนหน้านี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เคยแถลงข่าวจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกลวงผู้หญิงไทย 3 ราย ไปค้าประเวณีที่เมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา และในเดือนพฤศจิกายน 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา ช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมายในประเทศกัมพูชา โดยมีแรงงานหลายร้อยคนได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง