ตำรวจจับนักข่าวดีวีบี-นักเคลื่อนไหวเมียนมา ฝากขังคุกเชียงใหม่

คุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.05.11
เชียงใหม่
ตำรวจจับนักข่าวดีวีบี-นักเคลื่อนไหวเมียนมา ฝากขังคุกเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ไทยตรวจอุณหภูมิของนักข่าวที่ทำงานให้กับ Democratic Voice of Burma ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ภาพเผยแพร่โดย สำนักงานปกครองอำเภอสันทราย
RFA

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาของสำนักข่าวดีวีบีแห่งประเทศนอรเวย์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเมียนมา รวมห้าราย ที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายมายังจังหวัดเชียงใหม่ ถูกขังไว้ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ในระหว่างการรอทำสำนวนฟ้อง ขณะสมาคมผู้สื่อข่าวไทยและเทศ เรียกร้องให้ปล่อยตัวหากถูกส่งตัวกลับจะถูกจับดำเนินคดีแน่อน

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวว่า กำลังหาช่องทางด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือบุคคลทั้งห้ารายนั้นอยู่

ในวันอังคารนี้ พ.ต.อ. ฐาปนพงศ์ ชัยรังษี ผู้กำกับ สภ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ สามารถควบคุมตัวชาวเมียนมาทั้ง 5 ราย ได้ที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564

“นักข่าวชาวพม่าทั้ง 5 ราย ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ส่วนชาวไทยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านจะถูกดำเนินคดีจากการให้ที่พักพิงคนต่างด้าวในการกระทำความผิด ตอนนี้นักข่าวทั้ง 5 รายยังปฏิเสธ และไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล แต่คาดว่าเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติในภาคเหนือ เป็นเวลาหนึ่งปีกว่า และเพิ่งย้ายมาพำนักในเชียงใหม่ไม่นาน โดยชาวไทยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเป็นผู้ให้ที่พักพิงจะถูกดำเนินคดีเช่นกัน” พ.ต.อ. ฐาปนพงศ์ กล่าว

“ทั้งห้าคนถูกส่งไปยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ โดยอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งเขามีทนายเข้ามาดูแลคดีแล้ว แต่ผมไม่ทราบว่าเป็นใคร รายชื่อทั้งห้าคน ผมไม่สามารถเปิดเผยอย่างละเอียดได้ ขอให้รอข้อมูลจากตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง” พ.ต.อ. ฐาปนพงศ์ ระบุ

ในกรุงเทพ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า พนักงานสอบสวนได้นำตัวทั้งห้าคนไปขึ้นศาลในวันนี้

“พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่แล้วเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นศาล พนักงานสอบสวนจึงต้องรับตัวผู้ต้องหากลับมา เพื่อทำการผัดฟ้องต่อศาล และจะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ตามขั้นตอนของการสอบสวน” พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุ

“สำหรับการผลักดันผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรนั้น โดยปกติจะดำเนินการภายหลังจากเมื่อกระบวนการพิจารณาของศาลเสร็จสิ้นโดยเป็นขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องพิจารณาและประเมินจากหลาย ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาผลักดันออกนอกราชอาณาจักร ตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาในประเด็นเรื่องการผลักดันออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

เมื่อวานนี้ สำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวโดยมีเนื้อความว่า “DVB ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยไม่เนรเทศพวกเขากลับพม่า เนื่องจากชีวิตของพวกเขาจะตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรง… นอกจากนี้เราขอเรียกร้องให้สำนักงาน UNHCR กรุงเทพฯ เข้าแทรกแซง เพื่อรักษาความปลอดภัยของพวกเขา และเรายังเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันส่งเสียงไปยังรัฐบาลไทย เพื่อยับยั้งการเนรเทศ” แถลงการณ์ ระบุ

ส่วนในวันนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการจับกุมชาวเมียนมา 5 ราย ที่จังหวัดเชียงใหม่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา

“คณะกรรมการวิชาชีพแห่งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าว 3 คนจากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) พร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 2 คน ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่… สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้รับการปล่อยตัว และได้รับสิทธิ์ในการพักพิงชั่วคราวในประเทศไทยโดยปลอดภัย ทางการไทยต้องไม่ผลักดันผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รายกลับประเทศเมียนมาโดยเด็ดขาด เพราะบุคคลทั้ง 5 จะถูกทางการเมียนมาจับกุมตัวและดำเนินคดีอย่างแน่นอน” แถลงการณ์ ซึ่งลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ระบุ

FCCT ระบุว่า ตั้งแต่ มีรัฐประหารในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประชาชนเมียนมาถูกทางการจับกุมตัวแล้วประมาณ  5,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 70 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานที่บ่งชี้ถึงการทรมานและสังหารผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก

ขณะที่สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยระงับการส่งกลับผู้สื่อข่าวทั้งหมด ซึ่งถูกจับกุมตัวพร้อมอุปกรณ์ที่เชียงใหม่

“สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งตัวผู้สื่อข่าวทั้ง 3 คนกลับเมียนมา เนื่องจากจะทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงทั้งต่อสวัสดิภาพของตัวเองและต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนซึ่งควรให้ความเคารพและสนับสนุนอย่างเคร่งครัด” แถลงการณ์ ระบุ

ด้านนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ทวิตข้อความในช่วงเช้าของวันนี้ระบุว่า“ ผู้ที่เกี่ยวข้องของทางการไทยกำลังประสานงานเพื่อหาทางออกด้านมนุษยธรรมต่อกรณีล่าสุดของนักข่าวจากเมียนมาร์”

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง