ชายอุยกูร์เสียชีวิตรายที่ 2 ของปีนี้ ในห้องกักสำนักตรวจคนเข้าเมือง
2023.04.27
กรุงเทพฯ

คนอุยกูร์รายที่ 2 ที่เสียชีวิตในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในปี 2566 นักสิทธิมนุษยชนเผยว่า ก่อนหน้านี้มีคนอุยกูร์เสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัวในห้องกัก สตม. 1 คน ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2566 ทำให้นักสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้มีการส่งแพทย์เข้าตรวจดูแลสุขภาพของผู้ต้องกัก
อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคืนสิทธิการเยี่ยมให้กับผู้ต้องกัก เนื่องจากพบว่าตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้ต้องกักไม่ได้รับสิทธิให้มีคนเข้าไปเยี่ยมได้
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องกัก รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องกัก และการเสียชีวิตของผู้ต้องกักก็ถูกปิดเป็นความลับเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
“ปีนี้ มีคนอุยกูร์ตายไปแล้ว 2 คน ก่อนหน้านั้นมีตายไปหลายคน คนนี้เรารู้ว่าเขาป่วย และถูกพาออกจากห้องกักไป แล้วไม่กลับมาอีก คือ เสียชีวิต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สิ่งนี้มันสะท้อนว่า สุขภาพของคนในห้องกักมันย่ำแย่ เรารู้ข้อมูลว่า มีคนเป็นนิ่ว เป็นเนื้องอก แต่เขามีแค่ยาสามัญประจำบ้านดูแล ไม่ใช่เฉพาะคนอุยกูร์นะ คนอื่น ๆ ก็ตาย แต่มีการปิดเป็นความลับ"
"การเกิด การตาย มันเป็นเรื่องธรรมดา เราเข้าใจได้ แต่เขาป่วยเขาต้องได้รับการรักษา ถ้าเขาตายต้องให้ญาติทำพิธีตามความเชื่อของเขา นั่นคือสิทธิที่เขาควรได้รับ” นางชลิดา ระบุ
จากข้อมูล (สงวนแหล่งที่มาเพื่อความปลอดภัย) ชาวอุยกูร์ที่เสียชีวิตมีชื่อว่า เมททอทติ เมทเคอบัน (Mettohti Metqurban) อายุ 40 ปี เป็นหนึ่งในชาวอุยกูร์ 350 คนที่หลบหนีจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ประเทศจีน ในปี 2554 เนื่องจากกลัวว่าชาวจีนจะกดขี่ชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ไม่มีข้อมูลว่าเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อใด และถูกคุมตัวในห้องกัก สตม. ตั้งแต่เมื่อใด
โดย เมททอทติ มีอาการป่วยหนัก ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 และเชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แม้ว่าทางการไทยจะไม่ได้ยืนยันการเสียชีวิตของเขาอย่างเปิดเผย แต่องค์กรต่าง ๆ ระบุ
ข้อมูลของ สตม. ตั้งแต่ปี 2564 ระบุว่า มีผู้ต้องกักทุกสัญชาติในห้องกัก 896 คน แต่ไม่มีข้อมูลจำนวนสัญชาติ ขณะที่ นางชลิดา ระบุว่า ในนั้นเป็นชาวอุยกูร์ 45 คน ตั้งแต่ปี 2561 มีคนอุยกูร์เสียชีวิตขณะถูกกักตัวในห้องกัก สตม. อย่างน้อย 5 คน
“สิ่งที่เราเรียกร้อง ไม่ใช่อะไรยิ่งใหญ่ เราเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยัน รับปากในเรื่องนี้ไปแล้ว สิ่งที่เราเรียกร้องตอนนี้คือ ต้องมีแพทย์เข้าไปตรวจสุขภาพ และดูแลรักษาคนในห้องกัก ไม่ใช่เฉพาะคนอุยกูร์ แต่ทุกคน ซึ่งทีมแพทย์จากสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักจุฬาราชมนตรี ก็พร้อมเข้าไปตรวจอย่างเร่งด่วน" นางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม
"นี่เรายังไม่ได้พูดไปถึงการหาประเทศที่สามให้เขาลี้ภัยนะ เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเข้าเยี่ยมก็ควรอนุญาต เพราะที่ผ่านมาเขาพยายามอ้างโควิด”
เบนาร์นิวส์ พยายามติดต่อไปยัง พล.ต.ท. ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการ สตม. และ พ.ต.อ. เชิงรณ ริมผดี โฆษก สตม. เพื่อให้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
จากภาพเชื่อว่าเป็นชาวอุยกูร์นั่งอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว หลังจากทั้งหมดถูกควบคุมตัวใกล้กับชายแดนมาเลเซีย ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 (รอยเตอร์)
ก่อนหน้านี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นายอาซิซ อับดุลลาห์ ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ซึ่งถูกกักตัวอยู่ในประเทศไทย 9 ปี ได้เสียชีวิต หลังจากมีอาการป่วยหนัก อาเจียนเป็นเลือด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ข้อมูลการเสียชีวิตของนายอาซิซ ไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจาก สตม. แต่เมื่อมีการเรียกร้องจากนักสิทธิมนุษยชน ทำให้สามารถนำร่างของนายอาซิซมาฝังที่สุสานฮารูน ในกรุงเทพฯ ตามหลักศาสนาอิสลามได้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุถึงการเสียชีวิตของชาวอุยกูร์ในห้องกัก ว่า “การเสียชีวิตนี้เป็นผลที่คาดเดาได้อย่างสิ้นเชิง จากนโยบายของไทยที่กักกันชาวอุยกูร์เหล่านี้ไว้โดยไม่มีกำหนด เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครคิดถึงผลกระทบด้านสุขภาพของการถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด ในห้องที่คับแคบ ไม่ถูกสุขลักษณะ และขาดการรักษาพยาบาลหรือโภชนาการอย่างเพียงพอ”
ชาวอุยกูร์ที่อาศัยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xingjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ต้องทนกับการถูกกดขี่ขมเหงจากรัฐบาลจีน หลายกรณีดังกล่าวได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียดโดยกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งสรุปว่า การกดขี่ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยเตอร์กิกอื่น ๆ ใน XUAR “อาจถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
รายงานฉบับนั้นยังกล่าวด้วยว่า ทางการจีนกักขังชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จำนวน 1.8 ล้านคนในค่ายกักกัน พวกเขาเหล่านั้นถูกทรมาน บังคับทำหมัน และบังคับใช้แรงงาน ตลอดจนถูกกำจัดแบบแผนประเพณีทางภาษา วัฒนธรรม และศาสนา
เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคอุยกูร์ ร่วมรายงาน