'ไบเดน' กำหนดวันประชุมสุดยอดอาเซียน ไม่เชิญบางประเทศ
2022.04.20
วอชิงตัน และเมืองหลวงในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความต้องการชัดแจ้งถึงความสนใจที่สหรัฐอเมริกามีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกำหนดวันในการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน ขณะที่ผู้นำอาเซียนบางคนจะไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม เพราะการก่อรัฐประหารของเขาเมื่อปีที่แล้ว
เป็นที่คาดกันด้วยเช่นกันว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ผู้กำลังพ้นจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายนนี้ จะไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ตลอดหกปีที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีความสัมพันธ์อันคลอนแคลนกับสหรัฐอเมริกา เขาไม่ได้ไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เลย
การประชุมสุดยอดในวันที่ 12-13 พฤษภาคม ระหว่างสหรัฐฯ และผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโอกาสให้ ประธานาธิบดีไบเดน ได้กระชับความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นขึ้นกับอาเซียน และต้านทานอิทธิพลของจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ ต้องการอย่างยิ่งที่จะผลักดันวิสัยทัศน์ของอาเซียนในการเป็นอินโด-แปซิฟิกที่ “เสรีและเปิดกว้าง”
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นการฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน ซึ่งเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2520 โดยจะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่สองเท่านั้นกับผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา ให้การต้อนรับผู้นำอาเซียนที่ซันนีแลนด์ ในเมืองแรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย
แม้การประชุมที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้านี้จะขึ้นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า แต่จะเป็นการสร้างพันธมิตรทางการทูตที่ไม่ธรรมดาสำหรับประธานาธิบดีไบเดน
กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรรัฐบาลกัมพูชาจากการกดขี่เสรีประชาธิปไตย จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย และกัมพูชายังเป็นประธานหมุนเวียนปีนี้ของอาเซียน
“แน่นอนว่า สมเด็จ เดโช นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียน จะเป็นประธานการประชุมสุดยอดครั้งนี้ร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” ชุม สุนรี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ โดยใช้บรรดาศักดิ์หน้านาม ของผู้ที่ปกครองประเทศกัมพูชามาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว ซึ่งแปลคร่าว ๆ ว่า “นายกรัฐมนตรีสูงสุดผู้รุ่งโรจน์และผู้นำที่มีอำนาจ”
แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้มอบเกียรติสูงสุดสองครั้งให้แก่ตัวเองในฐานะที่ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้ง ๆ ที่ในเมียนมาขณะนี้มีแต่ความโกลาหลและความรุนแรง จะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในกรุงวอชิงตัน
“อาเซียนเห็นพ้องต้องกัน (ว่า) ผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองควรเป็นตัวแทนของเมียนมา” เตอกู ไฟซาสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนสำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน กล่าว เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันอังคารว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียมีแผนจะเข้าร่วมการประชุมนี้
ในกัวลาลัมเปอร์ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วย เขากล่าวต่อไปว่า “ผมคิดว่าไม่ควรให้ผู้แทนของเมียนมาเข้าร่วม ผมไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ จะเชิญเมียนมาหรือไม่”
แต่ในกรุงเทพฯ กระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำรัฐประหาร กำลัง คิดว่า “จะเดินทาง” ไปยังกรุงวอชิงตัน
เมื่อวันพุธ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ประธานาธิบดีไบเดน ตั้งตารอที่จะต้อนรับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดพิเศษ
“สหรัฐฯ สนับสนุนการตัดสินใจของอาเซียนในการเชิญผู้แทนเมียนมาที่ไม่ได้มาจากการเมืองเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งเราก็จะดำเนินการตามนั้นด้วย คือเชิญตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจากเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่าไม่ดำเนินการตามมติข้อตกลงห้าข้อของอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ จึงควรต้องรับผิดชอบ” โฆษกกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
อาเซียนได้พยายามจัดการกับวิกฤตในเมียนมามาตลอด 14 เดือน เมื่อกองกำลังของรัฐบาลทหารพม่าได้ระเบิดและเผาหลายพื้นที่ในประเทศ เพื่อปราบปรามการประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เมื่อปลายเดือนมีนาคม รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนคือ นายปรัก สุคน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา เข้าพบกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนของเมียนมาที่ถูกโค่นอำนาจ ทำให้ความพยายามหาทางออกทางการเมืองต้องหยุดชะงักลง และเป็นการผิดคำสัญญาที่หัวหน้ารัฐบาลทหารได้ให้ไว้แก่อาเซียนว่า จะยอมให้ผู้แทนพิเศษเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศ อาเซียนเองก็ไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยเช่นกัน
โฆษกสภาทหารของเมียนมากล่าวเมื่อวันอังคารว่า เมียนมายังไม่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในกรุงวอชิงตัน และเมียนมาจะเข้าร่วมก็ต่อเมื่อสามารถส่งผู้แทนในระดับเดียวกันเข้าร่วมได้
“เหมือนในอดีต ถ้าเราจะเข้าร่วมได้เฉพาะเมื่อส่งคนที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองไปเท่านั้น เราจะไม่เข้าร่วมการประชุมใด ๆ อย่างแน่นอน” จุดยืนของเราคือต้องการพูดคุยในระดับเดียวกันเท่านั้น” พล.ต. ซอ มิน ตุน บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย
นับแต่เกิดรัฐประหารขึ้น เมียนมาถูกสหรัฐฯ อายัดทรัพย์สินและคว่ำบาตร รวมทั้งข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีต่อ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เองด้วย
ไม่มีการกำหนดข้อจำกัดเช่นนั้นกับประธานาธิบดีดูเตอร์เต ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ตามสนธิสัญญา นี่หมายความว่าสองประเทศนี้สัญญาที่จะปกป้องกันและกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตี สหรัฐฯ และไทยก็ผูกพันกันด้วยสนธิสัญญาในทำนองเดียวกันนี้
แต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ผู้พยายามสานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับจีน แม้จะมีข้อพิพาทค้างคากันอยู่เกี่ยวกับกรณีทะเลจีนใต้ ได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่า “เขาจะไม่มีวันไปสหรัฐฯ” แล้วครั้งหนึ่งเขาถึงกับเคยบอกว่า อเมริกา “แย่มาก”
เบนาร์นิวส์ได้สอบถามที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานาธิบดีดูเตอร์เตว่า จุดยืนของผู้นำฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนไปหรือไม่เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดที่กำลังจะจัดขึ้น และได้รับคำตอบว่าไม่เปลี่ยน ที่ปรึกษารายนั้นพูดโดยขอไม่เปิดเผยนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ความเห็นต่อสื่อในเรื่องนี้
อีกเหตุผลหนึ่งที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในกรุงวอชิงตัน ก็คือ การประชุมระยะเวลาสองวันนี้จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ในวันที่ 9 พฤษภาคม เพียงสามวันเท่านั้น เป็นธรรมเนียมที่ผู้นำฟิลิปปินส์จะไม่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงฤดูการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งที่ตนจะพ้นวาระ
เจสัน กูเตอเรซ ในกรุงมะนิลา เตรีย ดิอานติ ในกรุงจาการ์ตา คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ นิชา เดวิด ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษากัมพูชา และเมียนมา ร่วมรายงาน