แม่สามแลบในวันที่เงียบเหงา เพราะโควิดและสงคราม
2022.08.11
จังหวัดแม่ฮ่องสอน

บ้านแม่สามแลบ ในตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา เป็นพื้นที่ท่องที่ยวและส่งออกสินค้าที่สำคัญโดยผ่านทางน้ำเมยไปยังเมียนมา แต่การระบาดของโควิดเมื่อตอนปี 2563 และการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อยในรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ติดกันเมื่อต้นปี 2565 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหมู่บ้านอย่างรุนแรง
“ความเงียบเริ่มเมื่อตอนโควิด นักท่องเที่ยวคือกลุ่มแรกที่หายไปก่อน ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พอนักท่องเที่ยวไม่มี กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบเลยคือ พวกเรือที่รับนักท่องเที่ยว ไกด์ท้องถิ่น ร้านของที่ระลึก" นายชัย พงษ์พิพัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง
"เหลือแต่พวกเรือสินค้าขนาดเล็กที่ทางการยังอนุโลมให้ขนของกันอยู่บ้าง คนทางฝั่งพม่าเขาอาศัยสินค้าทางฝั่งเรา ของกินของใช้เป็นของจากเราแทบจะทั้งนั้น แต่พวกนี้มาซื้อของอย่างเดียว ซื้อเสร็จก็กลับ”
“กว่าสองปีภายใต้สถานการณ์โควิดผู้คนในพื้นที่เริ่มปรับตัวได้ แต่ยังไม่ทันไรสถานการณ์ทรงตัวเริ่มเปลี่ยนเป็นเลวร้าย เมื่อมีการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ทำให้การค้าขายที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกินในพื้นที่ต้องสะดุด” นายชัยเล่าต่อ
หลังจากกองทัพเมียนมา ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ทั้งประชาชนและกองกำลังชนกลุ่มน้อยใช้อาวุธต่อต้านรัฐบาลไปทั่วทุกรัฐของประเทศ รวมทั้งรัฐกะเหรี่ยงติดพรมแดนตะวันตกของไทย
ในยามปกติ ที่นี่จะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติไปมาหาสู่กันตลอดวัน มีการขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคไปจนถึงปศุสัตว์ ด้วยเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางข้ามแม่น้ำสาละวินไปยังอีกฝั่ง เช่นเดียวกับเรือขนส่งนักท่องเที่ยวที่จอดเรียงรายตามชายตลิ่ง เพื่อรอให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน ใกล้ท่าเรือแม่สามแลบ เล่นตะกร้อเป็นกิจกรรมยามเย็น อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
ชาวบ้านในพื้นที่ขึ้นจากเรือโดยสาร ช่องทางหลักของการเดินทางตามริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ท่าเรือแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
เรือขนส่งสินค้าขนาดเล็ก ขณะรอขนสินค้าและผู้โดยสารที่จะเดินทางไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผู้ที่โดยสารที่นี่จะเดินทางไปกับเรือขนสินค้าที่ผ่านเส้นทางเดียวกับหมู่บ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
ชาวพม่าเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างรอเรือโดยสาร พวกเขาจำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์จากฝั่งไทยในการติดต่อสื่อสารและใช้งานอินเทอร์เน็ต บ้านแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
เด็กชายลูกของคนขับเรือโดยสาร เล่นน้ำบริเวณข้างท่าเทียบเรือแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
เรือโดยสารในพื้นที่ลดจำนวนและเที่ยวในการวิ่งรับผู้โดยสารเหลือเพียงไม่กี่เที่ยว ซึ่งบางครั้งผู้โดยสารต้องรอนานมากกว่าครึ่งวัน เพราะคนขับเรือต้องรอให้ได้ผู้โดยสารเต็มลำเรือ เพื่อให้คุ้มค่าน้ำมันในแต่ละเที่ยว ท่าเทียบเรือแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
ประมงพื้นบ้านในฤดูฝนไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีนัก แต่ทางเลือกในการหารายได้มีไม่มากนัก ชาวบ้านบางคนจึงยังเสี่ยงออกหาปลา บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
เรือจับปลาแล่นกลับเข้าฝั่งโดยไม่ได้ปลากลับมาแม้แต่ตัวเดียว บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
ชาวเมียนมารับว่าจ้างข้ามมาซื้อเสบียงกักตุนในช่วงเวลาที่สงครามยังไม่สงบ ในช่วงที่มีการขาดแคลนอาหารและเกิดการปล้นสะดมภ์จากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่ บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)